TNN สหรัฐฯ พัฒนาแท่นชาร์จไร้สายเร็วทำสถิติใหม่ กำลังไฟ 270 กิโลวัตต์

TNN

Tech

สหรัฐฯ พัฒนาแท่นชาร์จไร้สายเร็วทำสถิติใหม่ กำลังไฟ 270 กิโลวัตต์

สหรัฐฯ พัฒนาแท่นชาร์จไร้สายเร็วทำสถิติใหม่ กำลังไฟ 270 กิโลวัตต์

ห้องวิจัยแห่งชาติโอ๊คริดจ์ พัฒนาแท่นชาร์จไร้สายกำลังไฟ 270 กิโลวัตต์ ชาร์จเร็วเทียบเท่าเครื่องชาร์จแบบกระแสตรง (DC) แบตเพิ่มจากร้อยละ 0 - 50 ได้ภายในเวลา 10 นาที

การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แบบไร้สาย ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่มนุษย์พยายามพัฒนา แต่ที่ผ่านมายังมีข้อจำกัดในเรื่องอัตราการชาร์จที่ต่ำมาก เช่น แท่นชาร์จไร้สายของบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ อย่างวิทรีซิตี้ (WiTricity) สามารถชาร์จด้วยกำลังไฟประมาณ 3.6 - 11 กิโลวัตต์ แต่ล่าสุด ห้องวิจัยแห่งชาติโอ๊คริดจ์ (Oak Ridge National Laboratory หรือ ORNL) ของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ โดยทดลองชาร์จรถ ปอร์เช่ ไทคานน์ อีวี (Porsche Taycan EV) ทำกำลังไฟฟ้าได้ 270 กิโลวัตต์ ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ของโลก ทำลายสถิติเดิมของนวัตกรรมของ ORNL เองที่ประกาศทำแท่นชาร์จไร้สายกำลังไฟ 100 กิโลวัตต์สำเร็จเมื่อเดือนเมษายน 2024 ที่ผ่านมา

สหรัฐฯ พัฒนาแท่นชาร์จไร้สายเร็วทำสถิติใหม่ กำลังไฟ 270 กิโลวัตต์

สหรัฐฯ พัฒนาแท่นชาร์จไร้สายเร็วทำสถิติใหม่ กำลังไฟ 270 กิโลวัตต์


กำลังไฟ 270 กิโลวัตต์นี้ถือว่าเร็วมาก เทียบเท่ากับเครื่องชาร์จกระแสตรง (DC) สาธารณะ ที่มีช่วงการชาร์จอยู่ที่ประมาณ 50 - 350 กิโลวัตต์ และแม้เครื่องชาร์จ DC ที่มีกำลังไฟฟ้า 350 กิโลวัตต์ ก็จะสามารถชาร์จรถยนต์อย่าง ปอร์เช่ ไทคานน์ หรือ ฮุนได ไอโอนิก 5 (Hyundai Ioniq 5) ได้สูงสุดที่ประมาณ 230 - 250 กิโลวัตต์เท่านั้น ซึ่งทำให้การชาร์จรถ EV รุ่นที่รองรับได้ด้วยความเร็วจากแบตเตอรี่ร้อยละ 10 ถึงร้อยละ 80 ได้ในเวลา 20 นาที ในขณะที่แท่นชาร์จไร้สายรุ่นใหม่ของ ORNL สามารถชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้จากร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 50 ได้ภายในเวลาประมาณ 10 นาทีเท่านั้น ซึ่งเร็วกว่าระบบไร้สายรุ่นก่อน ๆ ตามข้อมูลของ ORNL


แท่นชาร์จไร้สายใหม่ของ ORNL ทำงานโดยใช้แผ่นส่งสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Transmitter Pad) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบถ่ายโอนพลังงานแบบไร้สาย ให้จับคู่กับตัวรับสัญญาณที่ติดตั้งอยู่ใต้ท้องรถ เทคนิคของระบบคือ ในตัวรับสัญญาจะใช้ขดลวดแบบโพลีเฟส (Polyphase Windings) หรือขดลวดแม่เหล็กไฟฟ้าน้ำหนักเบาที่จัดเรียงในรูปแบบเฉพาะที่ ORNL พัฒนาขึ้น เพื่อทำให้เกิดสนามแม่เหล็กหมุน ซึ่งการที่สนามแม่เหล็กหมุนแทนที่จะเป็นสนามแม่เหล็กคงที่แบบเดิม ทำให้มันแก้ปัญหาหลัก 2 อย่างได้ คือ 1. แก้การกระเพื่อมของกระแสไฟที่ทำให้ลดประสิทธิภาพและการสูญเสียพลังงาน กับ 2. แก้การหยุดทำงานของสนาม ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่สนามแม่เหล็กไฟฟ้าหลายสนามมีปฏิสัมพันธ์กันจนทำให้หักล้างกัน

สหรัฐฯ พัฒนาแท่นชาร์จไร้สายเร็วทำสถิติใหม่ กำลังไฟ 270 กิโลวัตต์

สหรัฐฯ พัฒนาแท่นชาร์จไร้สายเร็วทำสถิติใหม่ กำลังไฟ 270 กิโลวัตต์


โอเมอร์ โอนาร์ (Omer Onar) หัวหน้ากลุ่มวิจัยอิเล็กทรอนิกส์กำลังยานยนต์ของ ORNL กล่าวว่า ระบบแท่นชาร์จไร้สายใหม่ที่พัฒนาขึ้นนี้ สามารถส่งพลังงานที่มีความหนาแน่นมากกว่าแท่นชาร์จไร้สายแบบเดิมประมาณ 8 - 10 เท่า และมีประสิทธิภาพมากกว่าร้อยละ 95 นอกจากนี้ยังมีขนาดที่กะทัดรัด คือ ขดลวดแบบโพลีเฟสในตัวรับสัญญาณมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 50 เซนติเมตร ทำให้สามารถจัดเก็บในรถยนต์ได้


แท่นชาร์จต้นแบบขนาด 270 กิโลวัตต์ที่สร้างขึ้นนี้ สามารถทำงานกับรถยนต์หลายประเภทที่มีความสูงของท้องรถแตกต่างกันได้ โดยโอเมอร์ โอนาร์ เผยว่าแท่นชาร์จและตัวรับสามารถอยู่ห่างกันได้ประมาณ 28 เซนติเมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับรถบรรทุกหรือแม้แต่รถพ่วง


โอเมอร์ โอนาร์ ยังกล่าวว่าระบบแท่นชาร์จไร้สายมีประโยชน์หลายประการ คือ กำจัดความยุ่งยากเรื่องสาย รวมไปถึงดูแลรักษาง่าย ทั้งยังอาจจะพัฒนาไปใช้ในโรโบแท็กซี่ (Robotaxis) หรือรถยนต์ไร้คนขับในอนาคตได้ด้วย 


อย่างไรก็ตาม แท่นชาร์จดังกล่าวนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา โอเมอร์ โอนาร์เผยว่าอาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้เชิงพาณิชย์ เนื่องจากยังต้องมีการทดลองเพิ่มก่อนจะขยายไปยังฝ่ายการผลิต



ที่มาข้อมูล Spectrum.IEEE

ที่มารูปภาพ Oak Ridge National Laboratory

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง