หรือนี่จะเป็นบ้านหลังแรกของนักบินบนดวงจันทร์ ? ส่องโมเดลต้นแบบบ้านอวกาศสุดล้ำจากฝรั่งเศส
สตาร์ตอัปสัญชาติฝรั่งเศส Thales Alenia Space ลงนามข้อตกลงกับองค์การอวกาศอิตาลี เพื่อเริ่มออกแบบโมดูลที่เรียกว่า “ที่อยู่อาศัยเอนกประสงค์ (Multi-Purpose Habitat : MPH)” ซึ่งอาจกลายมาเป็นบ้านหลังแรกของนักบินอวกาศบนดวงจันทร์
ดวงจันทร์เป็นหนึ่งในเป้าหมายบนอวกาศที่นักวิทยาศาสตร์กำลังมองหาหนทางที่จะพามนุษย์ขึ้นไปตั้งรกรากในอนาคต เช่นเดียวกับ องค์การอวกาศในหลายประเทศก็กำลังพัฒนาวิธีต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตบนต่างดาว ทั้งการตรวจสอบองค์ประกอบต่าง ๆ การสร้างยานพาหนะเพื่อจะเอาไปใช้ในการทดลองบนดวงจันทร์ ไปจนถึงการสร้างที่อยู่อาศัย
ล่าสุด บริษัทสตาร์ตอัปสัญชาติฝรั่งเศสอย่างทาเลส อเลเนีย สเปซ (Thales Alenia Space) ได้ลงนามข้อตกลงกับองค์การอวกาศอิตาลี เพื่อเริ่มออกแบบโมดูลที่เรียกว่า “ที่อยู่อาศัยเอนกประสงค์ (Multi-Purpose Habitat : MPH)” โมเดลต้นแบบที่อาจกลายมาเป็นบ้านหลังแรกของนักบินอวกาศบนดวงจันทร์ ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นหนึ่งความเคลื่อนไหวของโปรเจ็กต์อาร์เทมิส (Artemis) หรือโครงการที่มีเป้าหมายพามนุษย์ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์และปักหลักสำรวจเพื่อหาโอกาสในการตั้งถิ่นฐาน ซึ่งเป็นโครงการขององค์การนาซาที่ร่วมมือกับพันธมิตรอีกหลายประเทศ
โมเดลดังกล่าว มีลักษณะเป็นทรงกระบอก ส่วนล่างมีขายึด และมีแผงโซลาร์เซลล์ เบื้องต้นผ่านการตรวจสอบองค์ประกอบขั้นแรก (Element Initiation Review หรือ EIR) จากองค์การนาซาแล้ว เมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ที่มารูปภาพ ThalesAleniaSpace
ปัจจุบันทาเลส อเลเนีย สเปซ กำลังดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ ต่อไป ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเตรียมรับมือกับภารกิจ (Mission Concept Review : MCR) ซึ่งจะมาในรูปแบบของแนวคิด เพื่อเป็นการทดสอบ คาดว่าขั้นตอนนี้จะเสร็จสิ้นภายในไตรมาสแรกของปี 2024 และหากสำเร็จ ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีของโมดูล
อย่างไรก็ตาม สำหรับการสร้างที่อยู่อาศัยบนดวงจันทร์นั้น ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะสภาพแวดล้อมบนดวงจันทร์มีความรุนแรง รวมถึงขาดแคลนทรัพยากรจำเป็นที่จะทำให้นักบินอวกาศมีชีวิตอยู่ได้ ดังนั้นเป้าหมายของบ้านบนดวงจันทร์ก็มีขึ้นเพื่อหาที่พักให้นักบินสามารถอยู่รอดได้ แม้ว่าจะเข้าไปอาศัยอยู่ช่วงสั้น ๆ ราว 1 สัปดาห์ก็ตาม บ้านบนดวงจันทร์นี้ควรจะมีคุณสมบัติในการป้องกันรังสีในอวกาศ ปกป้องจากความหนาวเย็นสุดขีด หรือการเปลี่ยนแปลงทางอากาศอื่น ๆ เพราะหากนักบินต้องรับมือกับสภาพแแวดล้อมแบบนี้นาน ๆ มันก็จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
ทาเลส อเลเนีย สเปซบอกว่าจุดประสงค์ของบริษัทคือการเป็นผู้นำการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการสร้างด่านหน้าของมนุษย์บนดวงจันทร์แห่งแรกของอิตาลี เพื่อสนับสนุนให้มีการสำรวจดวงจันทร์มากขึ้น รวมถึงดาวดวงอื่น ๆ
ทั้งนี้รายละเอียดเกี่ยวกับโมดูล MPH ทั้งขนาด เทคโนโลยี ระบบการทำงานต่าง ๆ ยังไม่มีการเปิดเผยออกมา รวมถึงยังไม่มีการเปิดเผยค่าใช้จ่ายหรือระยะเวลาในการพัฒนาแต่อย่างใด
ที่มาข้อมูล InterestingEngineering, ThalesAleniaSpace
ที่มารูปภาพ ThalesAleniaSpace
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67