ฮ่องกงพัฒนาเทคโนโลยีสาหร่ายเหลว ดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าพืชทั่วไป 15 เท่า
สตาร์ตอัปในฮ่องกง พัฒนาเทคโนโลยีสาหร่ายเหลว ที่สามารถดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 6.3 กรัมต่อสัปดาห์ มากกว่าพืชทั่วไป 15 เท่า และกำลังพัฒนารุ่นที่ใหญ่ขึ้นให้สามารถดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากขึ้น
แอลกรีน (AlGreen) สตาร์ตอัปที่ก่อตั้งโดยทีมศิษย์เก่าจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง พัฒนาเทคโนโลยีที่เปลี่ยนชีวมวลสาหร่ายขนาดเล็ก (Microalgae) ให้เป็นโมเลกุลน้ำมันชีวภาพ ถ่านชีวภาพ และสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เพื่อใช้ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
จุดเริ่มต้นของไอเดียนี้ เริ่มตั้งแต่ปี 2021 ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ซึ่งขณะนั้นผู้ร่วมก่อตั้งยังเป็นนักศึกษาอยู่ และได้บังเอิญพบคุณสมบัติของสาหร่ายขนาดเล็ก ที่สามารถดักจับก๊าซคาร์บอนได้อย่างดี ทั้งนี้สาหร่ายขนาดเล็กก็เหมือนกับพืช ต้องมีการสังเคราะห์ด้วยแสง ซึ่งเป็นกระบวนการที่พวกมันใช้พลังงานแสงเพื่อแปลงคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำให้เป็นกลูโคสและออกซิเจน กระบวนการทางธรรมชาตินี้ช่วยในการดักจับคาร์บอนจากอากาศโดยรอบ
เมื่อค้นพบคุณสมบัตินี้ พวกเขาจึงพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายขนาดเล็กในห้องปฏิบัติการของอุทยานวิทยาศาสตร์ฮ่องกง แต่ใช้ไฟฟ้าสร้างแสงขึ้นมาภายในแทนแสงแดด
ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์เรือธงของแอลกรีน คือระบบไบโอแคปเจอร์ขนาด 750 มิลลิลิตร (the 750 millileters (ml) biocapture system) หรือที่ทีมงานเรียกว่า “พืชเหลว” มันจะถูกใช้เป็นทำหน้าที่เป็นเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพสาหร่าย (Algae Photobioreactor) สำหรับเพื่อฟอกอากาศ ซึ่งตามคำกล่าวอ้างของเรฮาน ลัลลา (Rehaan Lulla) ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของแอลกรีน บอกว่ามันสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 6.3 กรัมต่อสัปดาห์ ซึ่งนั่นถือว่าดูดซับได้มากกว่าพืชทั่วไปถึง 15 เท่า
ทั้งนี้ข้อมูลจากบริษัทอีโคทรี (EcoTree) ซึ่งเป็นบริษัทเกี่ยวกับการผลักดันด้านสิ่งแวดล้อม บอกว่า ต้นไม้ 1 ต้นสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในช่วงที่กว้างมาก ๆ คือ 10 - 40 กิโลกรัมต่อปี (ประมาณ 0.192 - 0.769 กรัมต่อสัปดาห์) ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่นปริมาณแดด แสง ที่ต้นไม้ได้รับ สภาพอากาศรวมทั้งอุณหภูมิและความชื้นในอากาศ รวมถึงประเภทของต้นไม้ด้วย แต่บริษัทได้ให้ปริมาณการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยไว้ที่ 25 กิโลกรัมต่อปี หรือประมาณ 0.48 กรัมต่อสัปดาห์ ซึ่งหากใช้ค่าเฉลี่ยนี้ก็จะพบว่า พืชเหลวดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าพืชทั่วไปประมาณ 13 เท่า ใกล้เคียงกับปริมาณที่ลัลลาอ้าง
อย่างไรก็ตาม แอลกรีน ยังคงผลักดันเทคโนโลยีต่อไป โดยจะเปลี่ยนสาหร่ายนี้เป็นของตกแต่งภายในบ้านที่สามารถแก้ปัญหาเรื่องอากาศทั้งในบ้านและในที่ทำงาน ดังนั้นประโยชน์หลักของพืชเหลวก็คือการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนประโยชน์รองลงมาก็คือมันสามารถปล่อยออกซิเจน ซึ่งนั่นเปรียบเสมือนเครื่องฟอกอากาศนั่นเอง
สำหรับผลิตภัณฑ์รุ่นต้นแบบของบริษัทมีวางจำหน่วยแล้วบนเว็บไซต์ในราคา 49 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 220 บาท ส่วนเวอร์ชั่นจริงจะพร้อมวางขายในปีหน้า
นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายที่จะผลิตเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพสาหร่ายที่มีขนาด 1,000 ลิตร และใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการทำงานอย่างเดียวภายในปีหน้า และตั้งเป้าที่จะเป็นส่วนสำคัญในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งลัลลาบอกว่า เครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพสาหร่ายขนาด 1,000 ลิตร จำนวน 6 เครื่องนั้นมีความสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1 ตันต่อปีเลยทีเดียว
ที่มาข้อมูล Interestingengineering, EcoTree
ที่มารูปภาพ Algreentech
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67