TNN online เกาหลีใต้ส่งจรวด Nuri และดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรของโลกได้สำเร็จ

TNN ONLINE

Tech

เกาหลีใต้ส่งจรวด Nuri และดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรของโลกได้สำเร็จ

เกาหลีใต้ส่งจรวด Nuri และดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรของโลกได้สำเร็จ

เกาหลีใต้ส่งจรวด Nuri และดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรของโลกได้สำเร็จ โดยใช้จรวดที่ผลิตและพัฒนาขึ้นในประเทศเกาหลีใต้ทั้งหมด

วันที่ 25 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เกาหลีใต้ส่งจรวดนูรี (Nuri) พร้อมดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรของโลกได้สำเร็จ โดยใช้จรวดที่ผลิตและพัฒนาขึ้นในประเทศเกาหลีใต้ทั้งหมดเป็นครั้งแรก จรวดนูรีทะยานขึ้นจากฐานปล่อยจรวด ศูนย์อวกาศนาโร (Naro Space Center) บริเวณชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเกาหลีใต้เมื่อเวลาประมาณ 18.24 น. หรือประมาณ 16.24 น. ตามเวลาในประเทศไทย


ภารกิจในครั้งนี้จรวดนูรี (Nuri) บรรทุกดาวเทียมทั้งหมด 8 ดวง น้ำหนักรวมมากกว่า 1 ตัน โดยมีดาวเทียมดวงใหญ่สุดชื่อว่า NEXTSat-2 น้ำหนัก 180 กิโลกรัม ทำหน้าที่เป็นดาวเทียมสื่อสารกับสถานีภาคพื้นดินในสถานีสำรวจแอนตาร์กติกา ความสำเร็จในครั้งนี้ทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศลำดับที่ 7 ของโลกที่สามารถพัฒนาจรวดและดาวเทียมพร้อมส่งขึ้นสู่อวกาศด้วยตัวเอง รองจากรัสเซีย สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่นและอินเดีย


ประธานาธิบดี ยุน ซุก-ยอล ของประเทศเกาหลีใต้ได้กล่าวยกย่องความสำเร็จในครั้งนี้ว่าเป็น "เหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งของประเทศ" ซึ่งเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งว่าเกาหลีใต้กำลังก้าวขึ้นมาเป็นฐานะมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีอวกาศในอนาคต 


สำหรับจรวดนูรี (Nuri) หรือ KSLV-2 มีความสูง 47.2 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5 เมตร น้ำหนัก 2,000 ตัน จรวดแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ขั้นตอน จรวดขั้นตอนแรกใช้เครื่องยนต์จรวด KRE-075 SL จำนวน 4 เครื่องยนต์ ใช้เชื้อเพลิงน้ำมัน Jet A-1 กับออกซิเจนเหลว จรวดขั้นตอนที่สองใช้เครื่องยนต์จรวด KRE-075 Vacuum จำนวน 1 เครื่องยนต์ และจรวดขั้นตอนที่ 3 ใช้เครื่องยนต์จรวด KRE-075 Vacuum จำนวน 1 เครื่องยนต์ 


ขีดความสามารถสูงสุดของจรวดนูรี (Nuri) มันถูกออกแบบให้สามารถขนสิ่งของ ดาวเทียม หรือยานอวกาศ น้ำหนัก 3.3 ตัน ขึ้นสู่ระบบความสูง 200 กิโลเมตร ในวงโคจรต่ำของโลก (LEO) น้ำหนัก 2.2 ตัน ขึ้นสู่ระบบความสูง 500-700 กิโลเมตร ในวงโคจรแบบซิงโครนัส (SSO) และน้ำหนัก 1 ตัน ขึ้นสู่ระบบความสูงมากกว่า 700 กิโลเมตร ในวงโคจรแบบจีทีโอ(GTO)


ก่อนหน้านี้จรวดนูรี (Nuri) เคยทำภารกิจมาแล้ว 2 ครั้ง ภารกิจครั้งแรกในวันที่ 21 ตุลาคม 2021 ขนส่งต้นแบบดาวเทียมน้ำหนัก 1.5 ตัน ขึ้นสู่วงโคจรแต่ภารกิจในครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จ ภารกิจครั้งที่สองเกิดขึ้นในวันที่ 21 มิถุนายน 2022 ขนส่งต้นแบบดาวเทียมน้ำหนัก 1.5 ตัน ขึ้นสู่วงโคจรได้สำเร็จ 


สำหรับแผนการในอนาคต เกาหลีใต้เตรียมทำภารกิจส่งจรวดนูรีอีกครั้งในปี 2024 โดยเป็นการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรแบบซิงโครนัส (SSO) และภารกิจอื่น ๆ ต่อเนื่องอีก 3 ภารกิจ จนถึงปี 2027 รวมไปถึงการพัฒนาจรวด KSLV-2 ที่สามารถขนส่งสิ่งของหรือดาวเทียมน้ำหนัก 10 ตัน ขึ้นสู่วงโคจรต่ำของโลก (LEO)


ที่มาของข้อมูล AljazeeraReuters  

ที่มาของรูปภาพ KARI

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง