TNN online ‘Microsoft’ มุ่งยกระดับ ‘AI’ สรุป 6 เรื่องเด็ดจากงาน Microsoft Build 2023

TNN ONLINE

Tech

‘Microsoft’ มุ่งยกระดับ ‘AI’ สรุป 6 เรื่องเด็ดจากงาน Microsoft Build 2023

‘Microsoft’ มุ่งยกระดับ ‘AI’ สรุป 6 เรื่องเด็ดจากงาน Microsoft Build 2023

‘Microsoft’ มุ่งยกระดับ ‘AI’ สรุป 6 เรื่องเด็ดจากงาน Microsoft Build 2023 การประชุมนักพัฒนาประจำปีโดยบริษัทไมโครซอฟท์ (Microsoft)

ในงาน “ไมโครซอฟท์ บิลด์ 2023” (Microsoft Buid 2023) การประชุมนักพัฒนาประจำปีโดยบริษัทไมโครซอฟท์ (Microsoft) ที่ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 พฤษภาคม บริษัทซอฟต์แวร์ระดับโลกสัญชาติอเมริกันรายนี้ได้ประกาศความสามารถใหม่ ๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับการประสานปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ากับแอปพลิเคชันและบริการต่าง ๆ ของไมโครซอฟท์ ซึ่งรวมถึง “วินโดวส์ 11” Windows 11 ระบบปฏิบัติการตัวใหม่ล่าสุด “ไมโครซอฟท์ 365” (Microsoft 365) แพลตฟอร์มชุดเครื่องมือเพื่อการทำงานบนระบบคลาวด์ และอื่น ๆ อีกมากมาย


โดยฟีเจอร์ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งาน องค์กร และนักพัฒนานั้นสามารถสรุปได้ 6 เรื่องดังนี้


1. เปิดตัว AI ‘Windows Copilot’ ใน Windows 11


ไมโครซอฟท์เปิดตัวผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ส่วนตัว ที่มีชื่อว่า “วินโดวส์ โคไพลอท” (Windows Copilot) ใน ระบบปฏิบัติการ Windows 11 เพื่อช่วยให้การใช้งานสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยเป็นปัญญาประดิษฐ์ตัวเดียวกับใน Microsoft 365 และ ไมโครซอฟท์ เอดจ์ (Microsoft Edge) เว็บเบราว์เซอร์ของไมโครซอฟท์ที่ได้เปิดตัวไปแล้วในช่วงก่อนหน้า


Windows Copilot จะถูกติดตั้งอยู่ที่เทสก์บาร์ (Taskbar) ของ ระบบปฏิบัติการ Windows 11 และเมื่อกดเข้าไปใช้งาน แถบด้านข้าง (Sidebar) ของปัญญาประดิษฐ์นี้จะเด้งขึ้นมาด้านขวา ซึ่งผู้ใช้สามารถสั่งการให้ผู้ช่วยนี้สรุป ปรับแก้บทความ อธิบายข้อความอะไรก็ได้ในแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้กำลังใช้งานอยู่ หรือแม้กระทั่งตั้งค่าต่าง ๆ ภายใน Windows ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยไมโครซอฟท์กล่าวว่าจะเริ่มทดสอบฟีเจอร์นี้ต่อสาธารณชนในเดือนหน้าก่อนที่จะเปิดให้ผู้คนลองใช้งานมากขึ้น


นอกจากนี้ยังมีการอัปเดต ระบบปฏิบัติการ Windows 11 อีกสองสามประการซึ่งรวมถึงการรองรับ “บลูทูธ แอลอี” (Bluetooth LE) หรือเทคโนโลยีบลูทูธพลังงานต่ำที่อนุญาตให้ผู้คนสามารถรับฟังเสียงเพลงคุณภาพสูงโดยไม่ทำให้แบตเตอรี่ของอุปกรณ์ทำงานหนัก หรือการเพิ่มการรับรองภาษาใหม่อีก 10 ภาษาในฟีเจอร์ “ไลฟ์ แคปชัน” (Live captions) ที่ช่วยแปลภาษาต่างประเทศได้แบบเรียลไทม์


2. เปิดตัว ‘Microsoft Fabric’   


ไมโครซอฟท์เปิดตัว “ไมโครซอฟท์ แฟบริก” (Microsoft Fabric) แพลตฟอร์มการวิเคราะห์ข้อมูลแบบครบวงจรที่ควบรวมโปรแกรมต่าง ๆ ในด้านดังกล่าว อาทิ “พาวเวอร์ บีไอ” (Power BI) และ “เอชัวร์ ซินแนปส์” (Azure Synapse) ให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยไมโครซอฟท์ได้ชู “วันเลก” (One Lake) ที่เป็นศูนย์รวมการเก็บข้อมูลในทุกบริการของ Fabric เช่นเดียวกับที่ Microsoft 365 สามารถเก็บข้อมูลลงใน “วันไดรฟ์” (OneDrive) ระบบคลาวด์ของไมโครซอฟท์ที่จัดเก็บและเชื่อมต่อข้อมูลทั้งหมดอย่างเป็นหนึ่ง


ด้วยความที่เป็นแพลตฟอร์มแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่นี้จึงสามารถทำได้ทุกอย่างในที่เดียว ตั้งแต่การมีเครื่องมือบูรณาการข้อมูล การเข้าถึงแพลตฟอร์มทางวิศวกรรมข้อมูล (Data Engineering) บนเทคโนโลยีการเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์อย่าง “สปาร์ค” (Spark) ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์และการทำแผนภาพข้อมูลที่ง่ายดายขึ้น รวมถึงความสามารถในการใช้เครื่องมือวิเคราะห์ของ AI อีกด้วย


นอกจากนี้ Fabric ยังอนุญาตให้นักพัฒนาสัมผัสประสบการณ์ใหม่ที่ทำให้สามารถตรวจสอบข้อมูลของตนและสั่งการได้ทันทีโดยไม่ต้องเขียนโค้ด อีกทั้งยังจะสามารถดึงข้อมูลจากที่จัดเก็บในระบบคลาวด์ของค่ายอื่นอย่าง “แอมะซอน เอส 3” (Amazon S3) และ “กูเกิล คลาวด์” (Google Cloud) เร็ว ๆ นี้


แน่นอนว่าตามธรรมเนียมของไมโครซอฟท์ 2023 Fabric ก็มีฟีเจอร์ผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่าง Copilot ด้วยเช่นกัน โดยมันจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถบริหารจัดการข้อมูล วิเคราะห์ หรือเขียนโค้ดได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี Copilot นี้ยังไม่พร้อมใช้งานในปัจจุบัน ดังนั้นจึงต้องรอดูกันต่อไปว่ามันจะมีประโยชน์อย่างไร


ขณะนี้ Fabric กำลังเปิดให้สาธารณชนทดสอบใช้งาน สำหรับผู้ที่สนใจสามารถทดลองใช้บริการดังกล่าวโดยไม่ต้องกรอกข้อมูลบัตรเครดิตของตนเอง โดยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมแพลตฟอร์มตัวใหม่ล่าสุดนี้จะเปิดให้บริการสำหรับผู้ใช้งานชุดเครื่องมือการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ (Power BI) ทุกคน


3. AI ‘Microsoft 365 Copilot’ รองรับ ‘plug-in’ เสริมแล้ว


ไมโครซอฟท์ประกาศรองรับการติดตั้งปลั๊กอิน (Plug-in) หรือโปรแกรมเสริมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานของผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่าง Microsoft 365 Copilot ได้แล้ว โดยในปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์ดังกล่าวสามารถรองรับปลั๊กอิน 3 ประเภทหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่ 


- โปรแกรมเสริมการส่งข้อความของไมโครซอฟท์ ทีมส์ (Microsoft Teams) 

- ตัวเชื่อมต่อพาวเวอร์ แพลตฟอร์ม (Power Platform) ซึ่งเป็นชุดซอฟต์แวร์วิเคราะห์ข้อมูลของไมโครซอฟท์ 

- เครื่องมืออื่น ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีของแชตจีพีที (ChatGPT) 


โดยผู้ใช้สามารถเลือกปลั๊กอินของผู้พัฒนาคนอื่น ๆ ได้อีกหลายสิบรายการ เช่น ปลั๊กอินจากแอตลาสเชียน (Atlassian) บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์จิระ (Jira) ที่ช่วยติดตามพัฒนาการของโปรเจกต์ หรือ “อโดบี” (Adobe) บริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตซอฟต์แวร์สำหรับงานออกแบบสร้างสรรค์รอบด้าน


อีกทั้ง Microsoft ยังกล่าวอีกว่าจะพัฒนาปลั๊กอินสำหรับ Copilot และบิง แชต (Bing chat) อย่างบิง จีพีที-4 (Bing GPT-4) แชตบอทบน Microsoft Edge ทั้งหมดด้วยมาตรฐานเดียวกับของแชตจีพีที จากบริษัทโอเพน เอไอ (OpenAI) ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับทั้งผู้ใช้ในการใช้โปรแกรมเสริมเพียงตัวเดียวในบริการทั้ง 3 ตัว ของไมโครซอฟท์ที่เชื่อมโยงกับ AI และนักพัฒนาในการสามารถเขียนปลั๊กอินได้สะดวกขึ้น


4. ผสานพลัง AI Copilot ของ Microsoft Edge และ Microsoft 365


ไมโครซอฟท์ประกาศผสานพลังผู้ช่วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ของ Microsoft 365 เข้ากับ Microsoft Edge โดยเครื่องมือดังกล่าวซึ่งจะอยู่ที่แถบด้านข้างของเว็บเบราว์เซอร์จะสามารถนำเนื้อหาที่ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ในการช่วยผู้ใช้ใช้งานในบริการต่าง ๆ บน Microsoft 365 อาทิ ไมโครซอฟท์เอาต์ลุก (Microsoft Outlook) หรือไมโครซอฟท์เวิร์ด (Microsoft Word) ได้อย่างง่ายดายมากขึ้น


5. เสริมประสิทธิภาพ ‘Windows Terminal’ ด้วย AI ‘Github Copilot’


วินโดวส์ เทอร์มินอล (Windows Terminal) แอปพลิเคชันสำหรับนักพัฒนาที่รวบรวมโปรแกรมในการเขียนคำสั่งคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกันของไมโครซอฟท์ เตรียมได้รับการเสริมประสิทธิภาพด้วยแชตบอท ผ่านการบูรณาการกับกิตฮับ โคไพลอต (Github Copilot) ผู้ช่วย AI สำหรับการเขียนโค้ดโปรแกรม นักพัฒนาที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ดังกล่าวจึงสามารถใช้แชตบอทได้โดยตรงผ่าน Windows Terminal เพื่อดำเนินการต่าง ๆ ตั้งแต่สอบถามคำแนะนำในการเขียนโค้ดไปจนถึงการอธิบายข้อผิดพลาด ไมโครซอฟท์ยังกล่าวด้วยว่ากำลังศึกษาการนำ Github Copilot เชื่อมโยงกับเครื่องมือสำหรับนักพัฒนาอื่น ๆ เช่น วินดีบีจี (WinDbg) ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ตรวจสอบความผิดของ Windows 


ไม่เพียงเท่านั้น ไมโครซอฟท์ได้ประกาศเปิดตัว เดฟ โฮม (Dev Home) ทำหน้าที่เป็นดั่งกระดานติดตามการดำเนินงานของนักพัฒนาตัวใหม่ที่ง่ายต่อการตั้งค่าและการใช้เครื่องมือพัฒนาโปรแกรมต่าง ๆ ของ Windows รวมถึงได้นำเสนอการนำสรุปผลการใช้งานแอปพลิเคชันที่ปัญญาประดิษฐ์สร้างขึ้นเข้าไปประกอบใน Microsoft Store ร้านค้าแอปพลิเคชันของบริษัทดังกล่าว และยังได้เปิดตัว “เอไอ ฮับ” (AI Hub) ที่เป็นหมวดแนะนำแอปพลิเคชันของ Windows โดยความเห็นของ AI อีกด้วย


6. ‘Bing’ ขึ้นแท่นเครื่องมือค้นหาเริ่มต้นของ ChatGPT


จากการที่ ไมโครซอฟท์ลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐกับบริษัท OpenAI จึงไม่น่าแปลกใจที่บริษัทดังกล่าวจะทำให้บิง (Bing) เสิร์ชเอนจินของไมโครซอฟท์เป็นเครื่องมือค้นหาเริ่มต้นใน ChatGPT โดยตั้งแต่วันนี้ผู้ใช้บริการ ChatGPT Plus หรือบริการสมัครสมาชิกรายเดือนของระบบ AI ดังกล่าวจะสามารถเห็นการอ้างอิงจากบิงต่อท้ายคำตอบของแชตบอทนี้ ขณะที่ไมโครซอฟท์ประกาศว่าบิงจะสามารถรองรับปลั๊กอินอื่น ๆ ได้มากขึ้นในอนาคตเพื่อเพิ่มความสามารถการค้นหาข้อมูลของเสิร์ชเอนจินนี้




ที่มาของข้อมูล  ThevergeTechcrunch  

ที่มาของรูปภาพ Microsoft 

ข่าวฮิตติดแท็ก

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง