TNN online CT Scan พบมัมมี่เด็กอียิปต์โบราณดับสลดจากโรคธาลัสซีเมีย

TNN ONLINE

Tech

CT Scan พบมัมมี่เด็กอียิปต์โบราณดับสลดจากโรคธาลัสซีเมีย

CT Scan พบมัมมี่เด็กอียิปต์โบราณดับสลดจากโรคธาลัสซีเมีย

ผลการวิจัยจากเยอรมนีด้วยวิธี CT Scan พบร่องรอยการเสียชีวิตของเด็กในยุคอียิปต์โบราณส่วนใหญ่มาจากการขาดออกซิเจนในเลือดและภาวะโลหิตจางซึ่งเป็นอาการของโรคธาลัสซีเมีย

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งในประเทศเยอรมนีร่วมกันศึกษามัมมี่ (Mummy) ในยุคอียิปต์โบราณที่เสียชีวิตในวัยเด็กเพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต และพบว่าเด็กส่วนหนึ่งที่เสียชีวิตในวัยเด็กนั้นเกิดจากโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) จากการมีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron Deficiency Anemia) และภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ (Oxygen-poor Blood) ร่วมกันหลายราย ซ้ำร้ายภาวะดังกล่าวยังทำให้เด็กที่เสียชีวิตมีอายุน้อยสุดเพียง 1 ขวบ เท่านั้น


งานวิจัยดังกล่าวศึกษาจากมัมมี่ (Mummy) เด็กจำนวน 21 ศพ ที่ระบุว่า 12 คน เป็นเพศชาย และ 7 คนเป็นเพศหญิง และมีจำนวน 2 คน ที่ยังระบุเพศไม่ได้ ด้วยการศึกษาผ่านเครื่องสแกนคอมพิวเตอร์ (Computer Tomography Scan: CT Scan) พบว่า 33% ของกลุ่มตัวอย่างมีการขยายตัวของช่องว่างในกะโหลกจากกระบวนการทางพยาธิวิทยา (Pathologically Enlarged Cranial Vault) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้อาการโรคโลหิตจาง (Anemia) และยังมีการพบตัวอย่างความผิดปกติที่กะโหลกศีรษะ ซึ่งทำให้นักวิจัยเชื่อว่ากลุ่มตัวอย่างเหล่านี้เป็นโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ก่อนเสียชีวิต ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างเสียชีวิตตั้งแต่ช่วงอายุ 1 - 14 ปี


นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างที่พบความผิดปกติของลิ้นที่ใหญ่กว่าเด็กในช่วงอายุเดียวกัน นักวิจัยจึงเสนอว่ามีความเป็นไปได้ว่าเด็กในยุคอียิปต์โบราณอาจเป็นกลุ่มอาการเบ็ควิท-ไวเดอมานน์ (Beckwith-Wiedemann Syndrome) ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดที่ส่งผลให้อวัยวะอย่างลิ้น, ต่อมหมวกไต และขนาดตัวโตผิดปกติ


ทีมนักวิจัยยังคาดการณ์ต่อไปว่าสาเหตุของโรคเหล่านี้อาจเกิดการติดพยาธิในกลุ่มตัวอย่าง รวมไปถึงการติดเชื้อแบบเรื้อรัง (Chronic Infection) ที่อาจสะท้อนภาวะสุขอนามัยในยุคอียิปต์โบราณว่าอยู่ในระดับที่ย่ำแย่อย่างมาก อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ส่งผลให้เกิดโรคธาลัสซีเมียในเด็กเหล่านี้ยังคงเป็นปริศนาต่อไป ซึ่งงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารโบราณคดีด้านกระดูกนานาชาติ (The International Journal of Osteoarchaeology)


สำหรับโรคธาลัสซีเมียหรือภาวะที่ร่างกายไม่สามารถผลิตฮีโมโกลบินได้ ความรุนแรงของโลกมีหลายระดับ เทคโนโลยีการแพทย์ในปัจจุบันสามารถรักษาโรคดังกล่าวได้ด้วยการถ่ายเลือดและการบำบัดด้วยคีเลชั่นหรือการล้างพิษหลอดเลือด


ที่มาข้อมูล Interesting Engineering

ที่มารูปภาพ Wiley 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง