TNN online ประวัติของซิลิคอนวัลเลย์ เมืองหลวงแห่งเทคโนโลยี

TNN ONLINE

Tech

ประวัติของซิลิคอนวัลเลย์ เมืองหลวงแห่งเทคโนโลยี

ประวัติของซิลิคอนวัลเลย์ เมืองหลวงแห่งเทคโนโลยี

ประวัติของซิลิคอนวัลเลย์ เมืองหลวงแห่งเทคโนโลยี ศูนย์รวมบริษัทเทคโนโลยีและธุรกิจด้านเทคโนโลยี

ซิลิคอนวัลเลย์บริเวณที่ได้รับการยกให้เป็นเมืองหลวงแห่งเทคโนโลยีของโลกและในประเทศสหรัฐอเมริกา ศูนย์รวมบริษัทเทคโนโลยีและธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหลากหลายรูปแบบ โดยมีที่ตั้งอยู่บริเวณอ่าวซานฟรานซิสโก ทางด้านทิศเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย


ชื่อของของซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) มาจากการผสมคำระหว่างคำว่าซิลิคอนชิป (Silicon chip) ส่วนประกอบสำคัญในวงจรคอมพิวเตอร์และคำว่าวัลเลย์ (Valley) แปลตรงตัวว่าหุบเขา  เรียกรวมกันเป็นซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) หรือหุบเขาแห่งซิลิคอนชิปคอมพิวเตอร์นั่นเอง 


แม้ว่าปัจจุบันพื้นที่บริเวณซิลิคอนวัลเลย์ได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองหลวงแห่งเทคโนโลยีของโลกแต่จุดกำเนิดนั้นกลับเกิดขึ้นจากพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของกองทัพสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1898 ซึ่งในยุคนั้นกองทัพสหรัฐอเมริกาใช้การติดต่อสื่อสารผ่านทางโทรเลขเป็นหลักทำให้พื้นที่บริเวณนี้เป็นแหล่งรวมของชุมทางสายโทรเลขจำนวนมาก


การใช้งานโทรเลขเพิ่มขึ้นในช่วงสหรัฐอเมริกาทำสงครามกับสเปนในบริเวณหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ทหารสหรัฐอเมริกาจำนวนมากส่งข้อความกลับบ้านก่อนเดินทางไปรบ รวมไปถึงทหารที่รอดชีวิตกลับมาก็ใช้พื้นที่บริเวณส่งโทรเลขแจ้งไปยังเมืองบ้านเกิดของตัวเอง รวมไปถึงข้อมูลอื่น ๆ ที่สำคัญจนทำให้พื้นที่บริเวณนี้กลายเป็นศูนย์รวมของข้อมูลข่าวสาร ต่อมาเทคโนโลยีโทรเลขได้รับการพัฒนาให้เป็นคลื่นวิทยุและเทคโนโลยีอื่น ๆ  


นอกจากนี้พื้นที่ในบริเวณซิลิคอนวัลเลย์ยังถูกใช้เป็นฐานทัพของกองทัพเรือสำหรับการลงจอดของเรือเหาะซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงในยุคนั้น รวมไปถึงเป็นสถานที่ตั้งของบริษัท ล็อกฮีด คอร์ปอเรชัน ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีการบินชั้นนำในยุคนั้น ก่อนบริษัทถูกควบคุมรวมกิจการกลายเป็นบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ในช่วงปี 1995 และกลายเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีการบินและอวกาศที่สำคัญในปัจจุบัน


มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดจุดเปลี่ยนสำคัญของซิลิคอนวัลเลย์


มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1891 ตั้งอยู่ในบริเวณใจกลางของพื้นที่ซิลิคอนวัลเลย์ มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นศูนย์รวมของข้อมูลความรู้แหละแหล่งผลิตบุคลากรด้านเทคโนโลยีที่สำคัญของประเทศสหรัฐอเมริกาและหนึ่งในนโยบายสำคัญของมหาวิทยาลัยที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก คือ การสนับสนุนให้นักศึกษา อาจารย์และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญออกไปทำงานในบริษัทหรือเปิดบริษัทเพื่อดำเนินธุรกิจเป็นของตัวเอง ก่อนนำความรู้และเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นกลับมาสอนให้กับนักศึกษารุ่นใหม่ เมื่อกระบวนการนี้ถูกทำอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูลความรู้จำนวนมากระหว่างมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและบริษัทเอกชนจนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมไปถึงรูปแบบบริการอื่น ๆ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น


ต่อมาในปี 1951 มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดถึงกับเสนอให้บริษัทเอกชนต่าง ๆ สามารถใช้พื้นที่บางส่วนของมหาวิทยาลัยก่อตั้งเป็นสำนักงานของบริษัท โดยเน้นหนักไปในด้านของบริษัทเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น วงจรอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีคลื่นวิทยุสัญญาณเรดาร์ทางการทหาร บริษัทยุคบุกเบิกที่เข้ามาก่อตั้งสำนักงานในบริเวณมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดและมีชื่อเสียงชื่อคุ้นหูในยุคปัจจุบัน เช่น ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (Hewlett-Packard), โกดัก (kodak) และบริษัท เจเนอรัลอิเล็กทริก (General Electric)


ยุครุ่งเรืองของซิลิคอนวัลเลย์และจุดกำเนิดของอินเทอร์เน็ต


ในช่วงปี 1956 ได้มีการพัฒนาแผงวงจรทรานซิสเตอร์ขึ้นมาและมีการก่อตั้งห้องปฏิบัติการ ชาร์คเลย์ เซมิคอนดักเตอร์ (Shockley Semiconductor) ขึ้นมาในบริเวณของซิลิคอนวัลเลย์ หลังจากมานั้นมีบริษัทอื่น ๆ เข้ามาก่อตั้งสำคัญงานและศูนย์พัฒนาวงจรทรานซิสเตอร์เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการพัฒนากลายเป็นแผงวงจรคอมพิวเตอร์ในเวลาต่อมา


พื้นที่ในบริเวณซิลิคอนวัลเลย์และมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกลายเป็นส่วนสำคัญในประวัติศาสตร์การพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตร่วมกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา โดยทำหน้าที่เป็นหนึ่งในจุดเชื่อมต่อเครือข่ายอาร์พาเน็ต (ARPA) ซึ่งเป็นรูปแบบการติดต่อสื่อสารบนอินเทอร์เน็ตครั้งแรก ๆ ของโลก เครือข่ายดังกล่าวถูกออกแบบให้เป็นโครงสร้างการติดต่อข้อมูลขนาดใหญ่ทั่วสหรัฐอเมริกาเพื่อรับมือหากสหรัฐอเมริกาโดนโจมตีด้วยนิวเคลียร์ในช่วงสงครามเย็นกับสหภาพโซเวียต


เมื่อการพัฒนาการสื่อสารในรูปแบบอินเทอร์เน็ตและวงจรคอมพิวเตอร์ถูกพัฒนาขึ้นมาได้ระยะหนึ่ง ข้อมูลความรู้และการสื่อสารที่รวดเร็วทำให้พื้นที่บริเวณซิลิคอนวัลเลย์กลายเป็นแหล่งรวมของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกในเวลาต่อมา


ปัจจุบันพื้นที่บริเวณซิลิคอนวัลเลย์ กลายเป็นตัวขับเคลื่อนหลักด้านเทคโนโลยีของประเทศสหรัฐอเมริกาโดยเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทระดับโลก เช่น บริษัท แอปเปิล (Apple) บริษัท อัลฟาเบต (Alphabet) บริษัท เมตา (Meta) และบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีอื่น ๆ ล้วนมีสำนักงานใหญ่อยู่ในพื้นที่บริเวณซิลิคอนวัลเลย์ 


ที่มาของข้อมูล Wikipedia.org

ที่มาของรูปภาพ Wikipedia.org

 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง