พบดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีเพิ่มอีก 12 ดวง ! รวมทั้งสิ้น 92 ดวง
นักดาราศาสตร์ค้นพบดวงจันทร์ใหม่ของดาวพฤหัสบดี (Jupiter) เพิ่มอีก 12 ดวง รวมทั้งสิ้น 92 ดวง ขึ้นแท่นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะที่มีดวงจันทร์บริวารมากที่สุด
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2023 ที่ผ่านมา ศูนย์ดาวเคราะห์น้อย (Minor Planet Center) ได้เผยแพร่ข้อมูลการค้นพบดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี (Jupiter) เพิ่มอีก 12 ดวง ทำให้ขณะนี้ดาวพฤหัสบดีมีดวงจันทร์บริวารรวมทั้งสิ้น 92 ดวง แซงหน้าดาวเสาร์ที่มีดวงจันทร์บริวาร 83 ดวง ขึ้นแท่นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะที่มีดวงจันทร์บริวารมากที่สุด
ดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี 9 ดวง
สำหรับดวงจันทร์จำนวน 9 ดวง จาก 12 ดวง ที่ค้นพบในครั้งนี้ อยู่ในวงโคจรบริเวณไกลสุดของกลุ่มดวงจันทร์ทั้งหมด มีคาบการโคจรรอบดาวพฤหัสบดีมากกว่า 550 วัน มีทิศทางการโคจรแบบรีโทรเกรด (Retrograde) ซึ่งเป็นวงโคจรที่ดาวบริวารโคจรสวนทางกับทิศทางที่ดาวหลักหมุนรอบตัวเอง
โดยส่วนใหญ่เป็นวัตถุขนาดความกว้างไม่เกิน 8 กิโลเมตร ทำให้นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่ากลุ่มดวงจันทร์เหล่านี้อาจเป็นวัตถุขนาดเล็กในอวกาศที่ถูกแรงโน้มถ่วงอันมหาศาลของดาวพฤหัสบดีดึงดูดเข้ามาให้กลายเป็นดาวบริวาร
ดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี 3 ดวง
ในส่วนของดวงจันทร์อีก 3 ดวง อยู่ในวงโคจรถัดเข้ามาจากกลุ่มดวงจันทร์ในวงโคจรแบบรีโทรเกรดที่มีทิศทางการโคจรแบบโปรเกรด (Prograde) ซึ่งเป็นวงโคจรที่ดาวบริวารโคจรไปในทิศทางเดียวกับที่ดาวหลักหมุนรอบตัวเอง
โดยนักดาราศาสตร์คาดการว่าดวงจันทร์กลุ่มนี้ก่อตัวขึ้นมาพร้อม ๆ กันทั้งหมด และเป็นกลุ่มที่ค้นพบได้ยากกว่า เนื่องจากมีวงโคจรที่ใกล้กับดาวพฤหัสบดี ทำให้ถูกบดบังด้วยแสงสว่างจากดาวพฤหัสบดี
สำหรับการค้นพบในครั้งนี้นำทีมโดยสกอตต์ เชพพาร์ด (Scott Sheppard) นักดาราศาสตร์จากสถาบันคาร์เนกีเพื่อวิทยาศาสตร์ (Carnegie Institute for Science) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในนักดาราศาสตร์ที่ค้นพบวัตถุขนาดเล็กในระบบสุริยะมากที่สุด โดยนอกจากดวงจันทร์บริวารดาวพฤหัสบดีที่ค้นพบใหม่ 12 ดวง ยังมีดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีอีก 85 ดวง, ดวงจันทร์ของดาวเสาร์ 45 ดวง , ดวงจันทร์ของดาวยูเรนัส (Uranus) และเนปจูน (Neptune) 3 ดวง, วัตถุขนาดเล็กที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ (Minor Planet) 26 ดวง ดาวหาง (Comet) 7 ดวง และวัตถุอื่น ๆ รวมแล้วเกือบ 200 วัตถุ ที่ถูกค้นพบโดยสกอตต์ เชพพาร์ด
ข้อมูลและภาพจาก SKY&TELESCOPE
ข่าวแนะนำ
-
จีนเร่งพัฒนาจรวดขนส่งไปดวงจันทร์
- 20/6/67