TNN online องค์การอวกาศยุโรปประกาศระงับความร่วมมือในภารกิจ ExoMars กับรัสเซีย

TNN ONLINE

Tech

องค์การอวกาศยุโรปประกาศระงับความร่วมมือในภารกิจ ExoMars กับรัสเซีย

องค์การอวกาศยุโรปประกาศระงับความร่วมมือในภารกิจ ExoMars กับรัสเซีย

ภารกิจ ExoMars ความร่วมมือระหว่างองค์การอวกาศยุโรป (ESA) และหน่วยงานด้านอวกาศรัสเซียเพื่อส่งยานอวกาศพร้อมรถหุ่นยนต์สำรวจไปลงจอดบนดาวอังคาร

องค์การอวกาศยุโรป (ESA) ประกาศระงับความร่วมมือในภารกิจ ExoMars กับหน่วยงานด้านอวกาศรัสเซีย (Roscosmos) ตามนโยบายการคว่ำบาตรรัสเซียเนื่องจากสงครามรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้แผนการส่งยานอวกาศ ExoMars ในปี 2022 นี้ถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ได้ออกแถลงการณ์ดังนี้


“ในฐานะที่องค์กรระหว่างรัฐบาลที่ได้รับคำสั่งในการพัฒนาโครงการอวกาศของยุโรปเราขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชนในประเทศยูเครน เรามีความตระหนักถึงผลกระทบต่อการสำรวจอวกาศ ในขณะเดียวกันองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ก็มีกระบวนการทำงานสอดคล้องกับกลุ่มประเทศสมาชิกในการคว่ำบาตรรัสเซีย”


นี่เป็นเพียงโครงการอวกาศบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งในสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ก่อนหน้านี้หน่วยงานด้านอวกาศรัสเซีย (Roscosmos) ได้ประกาศถอนตัวออกจากศูนย์อวกาศ Guiana Space Center ในทวีปอเมริกาใต้เพื่อตอบโต้การคว่ำบาตรรัสเซียของสหภาพยุโรป รวมไปถึงการปฏิเสธปล่อยดาวเทียมอินเทอร์เน็ต OneWeb 

 

ภารกิจ ExoMars เป็นความร่วมมือระหว่างองค์การอวกาศยุโรป (ESA) และหน่วยงานด้านอวกาศรัสเซีย (Roscosmos) โดยมีกำหนดการส่งยานอวกาศพร้อมรถหุ่นยนต์สำรวจไปลงจอดบนดาวอังคารในช่วงปี 2016 และ 2022 เป้าหมายของการทำภารกิจเพื่อค้นหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร การสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร การใช้พลังงานแสงอาทิตย์บนพื้นผิวดาวอังคาร การเจาะพื้นผิวดาวอังคารโดยใช้สว่านเจาะความลึก 2 เมตร เพื่อสำรวจลักษณะทางธรณีเคมีของพื้นผิวดาวอังคาร


สำหรับกำหนดการเดิมของภารกิจ ExoMars ในปี 2022 มีกำหนดการเดินทางขึ้นสู่อวกาศโดยใช้จรวด Proton ของรัสเซียในวันที่ 20 กันยายน 2022 และมีกำหนดการลงจอดบนดาวอังคารในวันที่ 10 มิถุนายน 2023 โดยใช้ยานลงจอดมีชื่อว่าคาซาชอก (Kazachok) พัฒนาหน่วยงานด้านอวกาศรัสเซีย (Roscosmos) และองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ส่วนหุ่นยนต์รถสำรวจมีชื่อว่าโรซาลินด์ แฟรงคลินโรเวอร์ (Rosalind Franklin Rover) พัฒนาโดยองค์การอวกาศยุโรป (ESA) และหน่วยงานด้านอวกาศรัสเซีย (Roscosmos)


ก่อนหน้านี้ในปี 2016 ภารกิจ Exomars ครั้งแรกได้มีการส่งยานอวกาศชื่อว่า ExoMars Trace Gas Orbiter ไปสำรวจดาวอังคารโดยมียานสำหรับลงจอดบนดาวอังคารชื่อว่าสกีอาปาเรลลี  อีดีเอ็ม ( Schiaparelli  EDM) พยายามลงจอดบนผิวดาวอังคารมาแล้วแต่เกิดขัดข้องทางเทคนิคทำให้ยานตกกระแทกพื้นดาวอังคารด้วยความเร็วสูงและขาดการติดต่อกับศูนย์ควบคุมบนโลก หลังจากนั้นในวันที่ 21 ตุลาคม 2016 ยาน MRO หรือ Mars Reconnaissance Orbiter ที่โคจรรอบดาวอังคารสามารถถ่ายภาพจุดตกของยานสกีอาปาเรลลี  อีดีเอ็ม ( Schiaparelli  EDM)


สำหรับอนาคตของภารกิจ ExoMars ในปี 2022 อาจถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดจนกว่าสถานการณ์สู้รบในสงครามรัสเซียและยูเครนสงบลงหรือกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปมีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรประเทศรัสเซีย




ที่มาของข้อมูล engadget.com 

ที่มาของภาพ esa.int


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง