TNN online GISTDA ส่งผัดกะเพราไทยไปกับบอลลูนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลก

TNN ONLINE

Tech

GISTDA ส่งผัดกะเพราไทยไปกับบอลลูนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลก

GISTDA ส่งผัดกะเพราไทยไปกับบอลลูนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลก

GISTDA ร่วมกับรายการ RW4U ส่งผัดกะเพราไทยไปกับบอลลูนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลกระดับความสูงประมาณ 30-100 กิโลเมตรจากพื้นโลก

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับช่องรายการ Retired Working for You (RW4U) จัดกิจกรรมส่งผัดกะเพราหมูสับ-ไข่ดาวอาหารยอดฮิตของไทยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลกโดยใช้บอลลูน High-Altitude เพื่อทดสอบการเปลี่ยนแปลงของอาหารขณะลอยขึ้นชั้นบรรยากาศโลก การทดสอบในครั้งนี้มีขึ้นบริเวณศูนย์การเรียนรู้ทางธรรมชาติบึงบอระเพ็ด แหล่งท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์


การทดลองทางวิทยาศาสตร์อวกาศด้วยบอลลูนขนาดใหญ่ในครั้งนี้จะถูกใช้เป็นต้นแบบการทดลองงานวิจัยทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ หรือ เป็นการสร้างแพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยด้วยบอลลูน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มการทดลองงานวิจัยในอวกาศของ GISTDA เพิ่มเติมจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการให้บริการส่งงานวิจัยไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS และห้องปฏิบัติการทดลองในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ (Micro-X) ที่ GISTDA ศรีราชา


สำหรับบอลลูน High-Altitude ได้รับการติดตั้งจานใส่ผัดกะเพราหมูสับ-ไข่ดาวเอาไว้ด้านข้างของกล่องบันทึกข้อมูลพร้อมกล้องวิดีโอความละเอียดสูงบันทึกภาพขณะบอลลูนลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า กิจกรรมในครั้งนี้ GISTDA ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการส่งบอลลูน High-Altitude ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลกเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยคาดว่าบอลลูนและผัดกะเพราหมูสับ-ไข่ดาวอาจลอยขึ้นไปที่ระดับความสูงประมาณ 30-100 กิโลเมตรจากพื้นโลกไม่สามารถลอยขึ้นสู่อวกาศได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ก่อนที่บอลลูนจะแตกทำให้กล่องบันทึกข้อมูลและผัดกะเพราหมูสับ-ไข่ดาวร่วงลงสู่พื้นโลก


GISTDA กล่าวเพิ่มเติมว่า “เทคโนโลยีอวกาศที่จากนี้เราจะพัฒนาและทดลองได้เองในสภาวะที่ใกล้เคียงอวกาศมากขึ้นเรื่อยๆ อันจะเป็นการพัฒนาชิ้นงานและทดสอบแบบ Space Grade จริง ๆ”


ล่าสุดวันที่ 11 กุมภาพันธ์ มีรายงานการพบกล่องบันทึกข้อมูลและผัดกะเพราหมูสับ-ไข่ดาวตกลงสู่พื้นโลกบริเวณตำบลหนองกรด อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ 


นับเป็นอีกก้าวหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย และการใช้บอลลูนขนาดใหญ่ครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีการตั้งฐานวิจัยหรือฐานส่งจรวดในห้วงอากาศสูงให้กับประเทศได้ และทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาทั้งในด้านการสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อวกาศ สอดคล้องกับพ.ร.บ. กิจการอวกาศ และการพัฒนาแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ รวมไปถึงแผนการวิจัยในระบบโลกและอวกาศ หรือ Earth Space System (ESS) ที่เป็นแผนด้านการวิจัยขั้นสูง (Frontier Research) ของประเทศ



ข้อมูลจาก facebook.com/gistda 

ภาพจาก gistda.or.th

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง