TNN online เปิดเทคนิคถ่ายภาพ ‘ฝนดาวตกเจมินิดส์’ ปรากฏบนฟากฟ้า 13 ธ.ค. 64

TNN ONLINE

สังคม

เปิดเทคนิคถ่ายภาพ ‘ฝนดาวตกเจมินิดส์’ ปรากฏบนฟากฟ้า 13 ธ.ค. 64

เปิดเทคนิคถ่ายภาพ ‘ฝนดาวตกเจมินิดส์’ ปรากฏบนฟากฟ้า 13 ธ.ค. 64

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ แนะวิธีการถ่ายภาพ ‘ฝนดาวตกเจมินิดส์’ ในวันที่ 13 ธ.ค. 64 บันทึกภาพปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ส่งท้ายปี

วันนี้ ( 12 ธ.ค. 64 )สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้โพสต์เฟซบุ๊กแนะนำการถ่ายภาพ ‘ฝนดาวตกเจมินิดส์’ ในวันที่ 13 ธ.ค. 64  โดยระบุข้อความว่า ฝนดาวตกเจมินิดส์ใกล้เข้ามาแล้ว NARIT มีเทคนิค ถ่ายภาพฝนดาวตก แบบฉบับนักดาราศาสตร์มาฝากกัน

ฝนดาวตกเจมินิดส์

ฝนดาวตกเจมินิดส์ มีศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ สังเกตได้ในช่วงวันที่ 4-17 ธันวาคมของทุกปี ปีนี้มีอัตราการตกสูงสุดในช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ตั้งแต่ตีสองจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 14 ธันวาคม 2564  คาดมีอัตราการตกสูงสุดประมาณ 150 ดวง/ชั่วโมง ในคืนดังกล่าวจะมีแสงรบกวนจากดวงจันทร์ข้างขึ้น 10 ค่ำ ในช่วงแรกของปรากฏการณ์ แนะนำให้ชมหลังดวงจันทร์ลับขอบฟ้าแล้ว เวลาประมาณ 02:00 น. ของวันที่ 14 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า 

การถ่ายภาพฝนดาวตก

ในอดีต นักถ่ายภาพดาราศาสตร์ไม่มีกล้องดิจิทัล และไม่มีโปรแกรมช่วยแต่งภาพอัจฉริยะ แต่ก็สามารถถ่ายภาพฝนดาวตกที่สวยงามได้ด้วยวิธีถ่ายภาพแบบเปิดหน้ากล้องทิ้งไว้ ปัจจุบัน เรามีทั้งเทคโนโลยีและโปรแกรมที่ทันสมัย การถ่ายภาพฝนดาวตกจึงทำได้อย่างสะดวกสบายและได้ภาพที่คมชัดมากยิ่งขึ้น โดยเทคนิคสำคัญที่ใช้คือการ Stack ภาพ เป็นการถ่ายภาพหลาย ๆ ภาพแล้วนำภาพเหล่านั้นมารวมกัน

อุปกรณ์ถ่ายภาพฝนดาวตกฉบับนักดาราศาสตร์

1. กล้องดิจิตอลพร้อมสายลั่นชัตเตอร์

2. เลนส์ไวแสง มุมกว้าง 

- ข้อได้เปรียบของเลนส์ไวแสงคือ ทำให้ถ่ายติดแสงวาบของฝนดาวตกได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องดัน ISO สูงๆ และช่วงเลนส์มุมกว้างก็ยังทำให้เพิ่มโอกาสการได้ภาพฝนดาวตกที่ติดมาในภาพได้มากขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้น เลนส์คิตธรรมดาก็สามารถนำมาใช้ในการถ่ายภาพได้เช่นกัน

3. ขาตั้งกล้องและอุปกรณ์ตามดาว

- อุปกรณ์ตามดาวถือเป็นอุปกรณ์ที่นักดาราศาสตร์จำเป็นต้องมีไว้เพื่อใช้ติดตามวัตถุท้องฟ้า ในการถ่ายภาพฝนดาวตกจะช่วยให้เราสามารถนำภาพฝนดาวตกที่มีศูนย์กลางการกระจายตัวเดียวกัน กลุ่มดาวเดียวกัน มาใช้ในการ Stack ภาพในภายหลังได้นั่นเอง หากเราไม่ถ่ายภาพแบบตามดาว ภาพฝนดาวตกที่ได้แต่ละภาพก็จะเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ ตามการเคลื่อนที่ของทรงกลมท้องฟ้าทำให้ยากแก่การนำภาพมา Stack ในภายหลัง

เทคนิคและวิธีถ่ายภาพ

1. ตั้งค่ากล้องก่อนการถ่ายภาพ ดังนี้

- เวลาที่ใช้บันทึกภาพ เริ่มตั้งแต่ 30 วินาที หรือมากกว่า

-ใช้ค่ารูรับแสงกว้างๆ เช่น f/1.4 f/2.8 เพื่อให้กล้องมีความไวแสงในการเก็บแสงวาบหรือลูกไฟของฝนดาวตก

- ใช้ค่าความไวแสง (ISO) ที่สูงๆ เพื่อให้กล้องไวแสงมากที่สุดขณะเกิดดาวตก เช่น ISO 3200 หรือมากกว่า

- ตั้งโหมดการถ่ายภาพแบบต่อเนื่อง (Continuous Mode) เพื่อให้กล้องถ่ายภาพต่อเนื่องตลอดช่วงการเกิดฝนดาวตก

- ปิดระบบ Long Exposure Noise Reduction เพื่อให้กล้องถ่ายภาพต่อเนื่องไม่เว้นช่วงในการถ่าย Dark Frame 

- เปลี่ยนโหมด Color space ให้เป็น Adobe RGB เพื่อให้ขอบเขตสีที่มีช่วงสีที่กว้างกว่าแบบ sRGB 

-  ปิดระบบกันสั่น และระบบออโตโฟกัสของเลนส์

- โฟกัสที่ระยะอินฟินิตี้ ซึ่งควรเลือกโฟกัสที่ดาวดวงสว่างให้ได้ภาพดาวที่คมชัดที่สุดเล็กที่สุด โดยใช้ระบบ Live View ช่วยในการโฟกัส

2. ตั้งกล้องห่างจากฉากหน้า โดยให้อยู่ห่างตามค่าระยะไฮเปอร์โฟกัส ซึ่งอาจคำนวณได้จากเว็บไซต์ตามลิงก์นี้ http://www.dofmaster.com/dofjs.html หรือควรห่างไม่น้อยกว่า 3-4 เมตร โดยประมาณ

3. ตั้งกล้องบนขาตามดาว เพราะดาวตกจะพุ่งออกจากบริเวณจุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) ด้วยวิธีนี้จะทำให้เราได้ภาพฝนดาวตกออกมาจากจุดเรเดียนจริงๆ และที่สำคัญคือ เราจะได้ภาพฝนดาวตกมากกว่าการถ่ายภาพบนขาตั้งแบบนิ่งอยู่กับที่ เพราะตำแหน่งจุดศูนย์กลางการกระจาย จะเคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ

การตั้งกล้องบนขาแบบตามดาว ถือเป็นเทคนิคสำคัญในการถ่ายภาพฝนดาวตกเพื่อให้ได้ภาพที่มีจำนวนดาวตกติดมากที่สุด และแสดงให้เห็นการกระจายตัวจากศูนย์กลางได้อย่างชัดเจน

4. หันหน้ากล้องไปที่จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) โดยให้จุดดังกล่าวอยู่กลางภาพ

5. ถ่ายแบบต่อเนื่อง อย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง โดยใช้ค่าการเปิดหน้ากล้องประมาณ 30 วินาที ต่อ 1 ภาพ หรือมากกว่า 

6. ช่วงเที่ยงคืน คือช่วงเวลาที่ดีที่สุด เพราะเป็นเวลาที่ชีกโลกที่เราอยู่จะรับดาวตกที่พุ่งเข้ามาแบบตรงๆ

7. อยากได้ดาวตกยาวๆ ต้องหลังเที่ยงคืนไปแล้วหรือในเวลาใกล้รุ่ง จะเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก จึงทำให้เห็นดาวตกวิ่งช้า

8. นำภาพฝนดาวตกมารวมกัน จากหลายร้อยภาพก็เลือกเฉพาะที่ติดดาวตกมารวมกันใน Photoshop หรือ Star Stack ก็จะทำให้เห็นการกระจายตัวของฝนดาวตกได้อย่างชัดเจน

สิ่งสำคัญนอกเหนือจากวิธีถ่ายภาพแล้ว ก็คือความรู้ความเข้าใจในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั่นเองครับ



ข้อมูลจาก :  สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ภาพจาก :  สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง