TNN online นักวิชาการแนะวิธีซื้อไส้กรอกปลอดภัยตรวจสอบการผลิตย้อนกลับได้

TNN ONLINE

สังคม

นักวิชาการแนะวิธีซื้อไส้กรอกปลอดภัยตรวจสอบการผลิตย้อนกลับได้

นักวิชาการแนะวิธีซื้อไส้กรอกปลอดภัยตรวจสอบการผลิตย้อนกลับได้

นักวิชาการเผยวิธีเลือกซื้อไส้กรอกต้องตรวจสอบย้อนกลับกระบวนการผลิตได้ทุกขั้นตอนได้มาตรฐานความปลอดภัย ระบุใช้วิธีการอุ่นเลี่ยงไขมัน

รศ.ดร.อินทาวุธ สรรพวรสถิตย์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า  ข่าวโรงงานไส้กรอกที่ไม่ถูกสุขลักษณะอาจทำให้ผู้บริโภคบางส่วนกังวลใจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว "ไส้กรอก" สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย เพียงเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีกระ บวนการผลิตและการบรรจุที่ดีจากผู้ผลิตที่มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน 


“ปัจจุบันการผลิตไส้กรอกของไทยมีพัฒนาการก้าวหน้าไปมาก ผู้ผลิตรายใหญ่นำเทคโนโลยีการผลิต เช่น ระบบการผลิตอัตโนมัติแบบต่อเนื่อง การผลิตโดยไม่ใช้สารกันเสียอื่นๆ นอกเหนือจากสารที่จำเป็นและมีอยู่ในสูตรการผลิต ทั้งยังสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ในมาตรฐานความปลอดภัย" 


สำหรับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ไส้กรอก แนะนำให้พิจารณาจากลักษณะภายนอกของไส้กรอก ที่ไม่ควรมีสีชมพูหรือแดงเข้มจนเกินไป สีของผลิตภัณฑ์ควรเป็นตามสีของวัตถุดิบตั้งต้นด้วย ขณะที่รสชาติต้องตรงกับความเป็นธรรมชาติของประเภทของเนื้อสัตว์นั้น ๆ ที่สำคัญ ควรเลือกผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตที่มีมาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ บนบรรจุภัณฑ์จะต้องระบุสถานที่ผลิต วันผลิต และวันหมดอายุอย่างชัดเจน มีเครื่องหมาย อย. หรือ มอก. เป็นต้น


ขณะเดียวกัน ไส้กรอก เป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูปที่ผ่านกระบวนการผลิตด้วยการทำให้สุกโดยใช้ความร้อน  ดังนั้น ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้วิธี “อุ่น” ไส้กรอกได้ง่ายๆเพียงนำไปลวกในน้ำร้อน นึ่ง หรือ อุ่นในไมโครเวฟ หลีกเลี่ยงการทอดก็จะเลี่ยงการได้รับไขมันจากวิธีทอดด้วย  


ทั้งนี้ คนไทยไม่ได้บริโภคไส้กรอกกันเป็นอาหารหลัก หรือมากเท่ากับคนในชาติตะวันตก ดังนั้น ในเรื่องปริมาณการบริโภคจึงไม่มีประเด็น   อย่างไรก็ตาม หากรับประทานร่วมกับผักต่าง ๆ ก็จะได้สารต้านอนุมูลอิสระและช่วยในการขับถ่าย รวมทั้งควรรับประทานอาหารหลากหลายให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน ควบคู่การออกกำลังกายด้วย ก็จะทำให้มีสุขภาพที่ดี แข็งแรง และห่างไกลโรคภัย 

 


นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ไส้กรอกเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบหลักเป็นโปรตีน ไขมัน และน้ำ แต่ยังมีส่วนประกอบของสารอื่นที่ใส่ลงไปในไส้กรอกอีก เพื่อให้ไส้กรอกมีสีสันน่ารับประทานป้องกันการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ และเป็นการยืดอายุการเก็บรักษา ได้แก่ ไขมัน น้ำมัน ซึ่งช่วยให้ไส้กรอก มีลักษณะนุ่ม ชุ่มฉ่ำ มีเนื้อสัมผัสและรสชาติดี


ข้อสังเกตในการเลือกซื้อไส้กรอก ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีสีชมพูหรือแดงเข้มจนเกินไป ควรมีรายละเอียดต่าง ๆ ระบุไว้บนบรรจุภัณฑ์ โดยจะต้องระบุสถานที่ผลิต วันผลิต วันหมดอายุอย่างชัดเจน ควรมีเครื่องหมายรับรองต่าง ๆ เช่น อย. มอก. เป็นต้น 


ทั้งนี้หากพบว่ามีการใส่วัตถุกันเสีย ก็ไม่ควรบริโภคอาหารนั้นเป็นประจำ ส่วนการบริโภคไส้กรอกที่ไม่ทำให้เกิดผลเสียกับสุขภาพนั้น ควรบริโภคในปริมาณที่พอประมาณ ไม่มากหรือบ่อยเกินไป แม้ว่าร่างกายของมนุษย์มีกลไกการกำจัดสารพิษหรือของเสียออกจากร่างกายได้ แต่หากมีการบริโภคอาหารประเภทเดียวกันซ้ำๆ เป็นเวลานาน ร่างกายก็อาจจะมีการสะสมพิษหรือของเสียดังกล่าวเอาไว้


สำหรับวิธีที่จะช่วยให้การสะสมสารพิษหรือของเสียลดลง คือ บริโภคอาหารให้หลากหลาย จะช่วยให้ร่างกายมีเวลากำจัดสารเหล่านั้นออกไปจากร่างกายได้ รวมทั้งควรเลี่ยงการบริโภคไส้กรอกแบบทอดน้ำมันในอุณหภูมิสูง หรือย่างแบบไหม้เกรียม เพราะอาจก่อให้เกิดสารไนโตรซามีนที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งได้ 


นอกจากนี้เพื่อให้ดีต่อสุขภาพ หากบริโภคไส้กรอก ควรบริโภคควบคู่กับผักผลไม้ ที่มีเกลือแร่และวิตามินซีสูง เช่น ผักคะน้า กะหล่ำปลี ขึ้นฉ่าย มะเขือเทศสีดา บร็อคโคลี่ ดอกกะหล่ำ  ฝรั่ง ส้ม มะละกอ มะขามป้อม พุทรา สัปปะรด รวมถึงอาหารที่มีวิตามินอีสูง เช่น นม ไข่ ธัญพืช ถั่วลิสง ผักโขม น้ำมันพืช เพื่อให้ได้ประโยชน์จากสารต้านอนุมูลอิสระด้วย ช่วยต่อต้านมะเร็งได้


อย่างไรก็ตาม การบริโภคไส้กรอกมากเกิน เสี่ยงร่างกายได้รับสารไนไตรต์ในปริมาณสูงเกินกว่าค่าปลอดภัย โดยเฉพาะไส้กรอกที่ไม่ได้มาตรฐาน  ไส้กรอกยังจัดเป็นอาหารที่มีปริมาณไขมันอิ่มตัวสูง ถ้าบริโภคเป็นจํานวนมากติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเกิน อ้วนและภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูงได้เกลือหรือโซเดียม ปริมาณเกลือที่เติมนั้นแล้วแต่ชนิดของไส้กรอก 


ที่มา  รศ.ดร.อินทาวุธ สรรพวรสถิตย์  ,นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย  

ภาพประกอบ  รศ.ดร.อินทาวุธ สรรพวรสถิตย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง