TNN online เทียบชัด! ประสิทธิภาพยา“โมลนูพิราเวียร์” VS “แพกซ์โลวิด”ของไฟเซอร์

TNN ONLINE

เกาะติด COVID-19

เทียบชัด! ประสิทธิภาพยา“โมลนูพิราเวียร์” VS “แพกซ์โลวิด”ของไฟเซอร์

เทียบชัด! ประสิทธิภาพยา“โมลนูพิราเวียร์” VS “แพกซ์โลวิด”ของไฟเซอร์

เปรียบเทียบกันชัดๆ ประสิทธิภาพยา“โมลนูพิราเวียร์” VS “แพกซ์โลวิด”ของไฟเซอร์ 2 ความหวังของโลกจุดเปลี่ยนเกมโควิด-19

บริษัทไฟเซอร์ เปิดเผย ผลการทดสอบประสิทธิภาพยาเม็ดแบบรับประทานที่มีชื่อว่า“แพกซ์โลวิด”(Paxlovid) เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยสามารถลดอัตราการป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้ร้อยละ89  “แพกซ์โลวิด” เป็นยาต้านไวรัสชนิดเม็ดที่ถูกออกแบบมาให้ยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส (protease) ซึ่งเชื้อไวรัสต้องใช้ในการเพิ่มจำนวน และเมื่อใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสชนิดเม็ดที่เรียกว่า “ริโทนาเวียร์” (ritonavir) ในโดสที่ต่ำ จะทำให้ “แพกซ์โลวิด”อยู่ในร่างกายได้นานขึ้น ในการใช้ “แพกซ์โลวิด” ผู้ป่วยต้องรับประทานยาครั้งละ 3 เม็ด วันละ 2 ครั้ง หรือ 6 เม็ดต่อวัน เป็นเวลา 5 วัน รวมรับประทานทั้งหมด 30 เม็ด โดยควรรับยาภายใน 3 วันแรกของการป่วย

ส่วนราคา ไฟเซอร์คาดว่า จะใกล้เคียงกับราคายา “โมลนูพิราเวียร์” ของบริษัท “เมอร์ค แอนด์ โค” และ “ริดจ์แบค ไบโอเทอรา พิวติกส์” สองบริษัทผู้ผลิตยาของสหรัฐฯ ที่ทำสัญญาซื้อขายกับรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ที่700 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 23,600บาท) ต่อ 1 ชุด หรือ คอร์สรักษาที่ใช้เวลา 5 วัน 

ขณะที่ ไฟเซอร์กำลังพิจารณาทางเลือกสำหรับบรรดาประเทศที่มีรายได้ต่ำ เพื่อให้เข้าถึงยานี้แบบไม่มีอุปสรรค และกำหลังเจรจาทำสัญญาซื้อขายกับอีก 90 ประเทศเพื่อให้เข้าถึงยาเม็ด“แพกซ์โลวิด”ได้เร็วที่สุด ไฟเซอร์คาดว่าจะผลิตยาเม็ดได้ 180,000 คอร์สในช่วงสิ้นปีนี้ และอย่างน้อย 50 คอร์สในช่วงสิ้นปีหน้า 

อย่างไรก็ตามไฟเซอร์กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ในการเพิ่มเป้าหมายการผลิตในปีหน้าให้เป็น 2 เท่า และขณะนี้บริษัทได้เตรียมส่งผลการทดลองให้แก่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ หรือ เอฟดีเอ แล้ว หลังจากยื่นขออนุมัติใช้ยาดังกล่าวเป็นกรณีฉุกเฉินต่อเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ส่วน "ยาโมลนูพิราเวียร์(molnupiravir) ที่ทางบริษัทเมอร์คฯ ได้ยื่นขออนุมัติใช้งานฉุกเฉินจากเอฟดีเอ ก่อนหน้านี้นั้น บริษัทได้ยืนยันผลการทดลอง ว่า มีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ รวมถึงสายพันธุ์เดลตาที่กำลังระบาดเป็นสายพันธุ์หลักทั่วโลกขณะนี้โดยสามารถลดอัตราการป่วยหนัก และต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ร้อยละ 50สำหรับผู้ป่วยโควิดที่มีอาการไม่รุนแรง

ยา “โมลนูพิราเวียร์”จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่จำเป็นเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส (viral polymerase)โดยจะทำให้รหัสพันธุกรรมของไวรัสผิดพลาดจนไม่สามารถเพิ่มจำนวนขึ้นได้ กลไกการทำงานของยา “โมลนูพิราเวียร์”แตกต่างจากวัคซีนโควิดเนื่องจากไม่ได้เล็งเป้าหมายไปที่ “โปรตีนหนาม” ซึ่งเป็นตัวแบ่งแยกสายพันธุ์ของไวรัส 

 ดังนั้นจึงสามารถยับยั้งเชื้อโควิด-19 ได้อย่างครอบคลุมแม้จะมีการกลายพันธุ์ก็ตาม การใช้ยา “โมลนูพิราเวียร์” ผู้ป่วยต้องรับประทานยาเม็ดขนาด 200 มิลลิกรัมจำนวน 40 เม็ด โดยรับประทานครั้งละ 4 เม็ด วันละ 2 ครั้ง หรือ 8 เม็ดวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วันโดยราคายา 1 ชุดอยู่ที่ประมาณ 700 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ23,600 บาท

ทั้งนี้บริษัทเมอร์คฯ ได้มอบช่วงสิทธิบัตรผลิตยา “โมลนูพิราเวียร์” ให้แก่ประเทศกลุ่มรายได้ต่ำและปานกลางจำนวน 105 ประเทศทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในเอเชียและแอฟริกา โดยจะไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมใดจากประเทศเหล่านั้น คาดว่าการมอบช่วงสิทธิบัตรผลิตยา จะทำให้ยา“โมลนูพิราเวียร์”มีราคาถูกลงเหลือเพียงคอร์สละ 20 ดอลลาร์ หรือ ประมาณ 650 บาท 

ด้านอังกฤษถือเป็นชาติแรกในโลกที่ได้อนุมัติใช้ยานี้ ส่วนยุโรปก็เร่งดำเนินการพิจารณาอนุมัติเช่นกัน ด้าน รัฐบาลสหรัฐฯ ทำสัญญาสั่งจองยาดังกล่าว จำนวน 1ล้าน7แสนชุด มูลค่า 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ ล่าสุด ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แถลงเมื่อวานนี้ ว่า สหรัฐฯ ได้จองซื้อยาเม็ด“แพกซ์โลวิด”ของไฟเซอร์อีก 1 ล้านชุด เพื่อเป็นการเพิ่มเครื่องมือใหม่ให้แก่สหรัฐฯ ในการปกป้องชาวอเมริกันให้รอดพ้นจากโควิด 

 ด้านผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อในสหรัฐให้ความเห็นว่า แม้ยาเม็ดรักษาโควิดของไฟเซอร์และเมอร์คคืออีกทางเลือกในการรับมือโควิดแต่การป้องกันการติดเชื้อผ่านการฉีดวัคซีน ยังคงเป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับควบคุมโรคระบาดใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 5 ล้านคนทั่วโลก 

ภาพจาก :  AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง