TNN หญิงไทยมีภาวะ "โลหิตจาง" กรมอนามัย แนะอาหารที่ควรกิน-ไม่ควรกิน?

TNN

Health

หญิงไทยมีภาวะ "โลหิตจาง" กรมอนามัย แนะอาหารที่ควรกิน-ไม่ควรกิน?

หญิงไทยมีภาวะ โลหิตจาง กรมอนามัย แนะอาหารที่ควรกิน-ไม่ควรกิน?

กรมอนามัย เผยหญิงไทย ร้อยละ 37 มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก แนะกินอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เนื้อสัตว์ เลือด ตับ และอาหารทะเล เพื่อป้องกันภาวะซีด

กรมอนามัย เผยหญิงไทย ร้อยละ 37 มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก แนะกินอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เนื้อสัตว์ เลือด ตับ และอาหารทะเล เพื่อป้องกันภาวะซีด 


นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้วันที่ 8 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันธาลัสซีเมียโลก ซึ่งโรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคโลหิตจางชนิดหนึ่งเกิดจากความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง ทำให้เกิดภาวะซีดหรือโลหิตจาง สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ 


นอกจากนี้ สาเหตุของภาวะซีดที่พบบ่อยเกิดจากการกินอาหารที่มีธาตเหล็กไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย การมีประจำเดือนออกมากเกินไป พบได้บ่อยในหญิงวัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์ และการตรวจพบหนอนพยาธิในร่างกาย เช่น โรคพยาธิปากขอ เพราะพยาธิปากขอดูดกินเลือดเป็นอาหาร โดยอาการของการขาดธาตุเหล็กประกอบด้วย หน้าตาซีดเซียว เยื่อบุตา ริมฝีปาก ฝ่ามือ และเล็กซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย โตช้า เรียนรู้ช้า


จากข้อมูล Health Data Center กระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 พบว่า หญิงตั้งครรภ์ มีภาวะโลหิตจาง ร้อยละ 31.2 และหญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 15 ถึง 49 ปี ที่ได้รับการคัดกรองภาวะโลหิตจาง ในขณะที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ พบภาวะโลหิตจาง ร้อยละ 37.0 ซึ่งสมัชชาอนามัยโลก Global Nutrition Targets ได้กำหนดเป้าหมาย ลดอัตราภาวะโลหิตจางของหญิงวัยเจริญพันธุ์ลง เหลือร้อยละ 50 ภายในปี 2573 


ทั้งนี้ การป้องกันการเกิดภาวะซีดหรือโลหิตจาง ที่นอกจากการให้ยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิกแล้ว กรมอนามัย ยังแนะนำให้กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ดังนี้ 


1) เนื้อสัตว์ เนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เป็นอาหารธาตุเหล็กสูง และร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้โดยตรง 


2) เลือด ตับ เครื่องในจากสัตว์ ซึ่งเป็นแหล่งของธาตุเหล็กและสารอาหารอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน วิตามินบี ทองแดง ซีลีเนียม 


3) อาหารทะเล เช่น หอยแครง หอยแมลงภู่ กุ้ง ปลาทูน่า 


4) ไข่แดง เป็นอาหารที่กินง่ายกินได้ทุกวัน เด็กวัยเรียนและผู้ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพควรกินเป็นประจำ เพื่อไม่ให้ขาดธาตุเหล็ก 


5) ผักใบเขียว ในผักใบเขียวหลาย ๆ ชนิด มีธาตุเหล็กสูง เช่น ผักโขม คะน้า ตำลึง ปวยเล้ง บรอกโคลี นอกจากนี้ ควรรับประทานร่วมกับผัก ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น พริกหวาน ส้ม มะละกอ สับปะรด ฝรั่ง สตรอเบอรี่ ลิ้นจี่ เงาะ จะช่วยให้การดูดซึมธาตุเหล็กดียิ่งขึ้น 


6) ไม่ควรกินอาหาร พร้อมกับนมวัว นมถั่วเหลือง เพราะแคลเซียมในนม และไฟเตทในนมถั่วเหลืองจะทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กลดลง 


อย่างไรก็ตาม การรับประทานอาหารเพียงอย่างเดียวอาจไม่ช่วยรักษาโรคโลหิตจางได้ หากมีภาวะซีดหรือสงสัยว่าเป็นโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก อย่าปล่อยไว้จนอาการรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุข หากจำเป็นต้องกินยาเม็ดเสริมธาตุเหล็ก ควรรับประทานอย่างต่อเนื่อง และตรวจเลือดติดตามผลตามคำแนะนำ




ที่มา กรมอนามัย

ภาพจาก รอยเตอร์/TNN Online

ข่าวแนะนำ