

สรุปข่าว
วันนี้ ( 6 ก.ย. 66 ) เป็นประเด็นที่เป็นที่จับตามองอยู่ในขณะนี้ เมื่อหลายคนพบเห็นป้ายคัตเอาท์ ที่มีข้อความต้อนรับผู้นำประเทศต่างๆ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มจี 20 ที่อินเดียเป็นเจ้าภาพที่กรุงนิวเดลี ระหว่างวันที่ 9-10 ก.ย. นี้ โดยใช้ชื่อ อินเดียในภาษาอังกฤษ และ ภารัต หรือ ภารตะในภาษาฮินดี
นอกจากนี้ ในบัตรเชิญเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ ที่ประธานาธิบดีดรูพาดี มูร์มู ของอินเดีย ส่งให้ผู้นำต่างชาติ ยังระบุว่าเธอเป็นประธานาธิบดีแห่งภารตะ ก็ยิ่งทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลอินเดียกำลังดำเนินความพยายามที่จะเปลี่ยนชื่อประเทศอย่างเป็นทางการ จากอินเดีย เป็นภารตะ
ทำไมอินเดียถึงอยากเปลี่ยนชื่อประเทศจากอินเดีย เป็น ภารตะ
คำว่า ภารัต หรือ ภารตะ เป็นภาษาฮินดีที่หมายถึงประเทศอินเดีย และมีที่มาจากชื่อชื่อ กษัติย์ภารตะ ที่เคยครอบครองดินแดนในแถบอินเดียทั้งหมด
อย่างไรก็ดี รัฐบาลอินเดียยังไม่ออกมายืนยันหรือปฏิเสธเรื่องนี้ อีกทั้งในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการต่างๆ ของรัฐบาลอินเดีย ก็ยังคงใช้ชื่อประเทศอินเดียอยู่
ความเคลื่อนไหวเรื่องนี้ทำให้บรรดาสมาชิกพรรคบีเจพี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของอินเดียออกมายกย่องและแสดงท่าทีเห็นด้วยเรื่องเปลี่ยนชื่อประเทศ เพราะเห็นว่าคำว่า ภารตะ เป็นความภาคภูมิใจของชาวอินเดีย เป็นชื่อประเทศอินเดียแท้ๆ ไม่ใช่คำว่าอินเดียที่ถูกนำมาใช้ในยุคอาณานิคมอังกฤษ และเป็นสัญลักษณ์แห่งระบบทาส โดยอังกฤษปกครองอินเดียมาราว 200 ปีจนกระทั่งได้รับอิสรภาพในปี 1947
ขณะที่พรรคฝ่ายค้านอินเดียออกมาวิพากษ์วิจารณ์ท่าทีดังกล่าวของรัฐบาล และแย้งว่าควรจะคงการใช้ชื่ออินเดียและภารัตไว้ในฐานะชื่อทางการต่อไป
ทั้งนี้ ประเด็นพิพาทเรื่องอินเดียกับภารัต ยกระดับขึ้นตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่พรรคฝ่ายค้านอินเดียก่อตั้งพันธมิตรใหม่ INDIA ที่ย่อมาจาก Indian National Developmental Inclusive Alliance เพื่อหวังโค่นอำนาจนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดีและพรรครัฐบาลบีเจพี ก่อนการเลือกตั้งระดับประเทศในปี 2024 ทำให้ทางการอินเดียภายใต้รัฐบาลพรรคบีเจพี พยายามผลักดันให้ประเทศเปลี่ยนชื่อมาเป็น ภารัต หรือ ภารตะแทนอินเดีย
ภาพจาก : AFP
ที่มาข้อมูล : -