สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชีย รายงานว่า สหรัฐฯ นำเข้าเหล็กประมาณ 1 ใน 5 ของปริมาณทั้งหมดที่ใช้ โดยแคนาดาเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุด คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 20% เมื่อพิจารณาตามน้ำหนัก
รองลงมาคือบราซิลที่ 16% และสหภาพยุโรป (EU) ที่ 7% ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นซัพพลายเออร์อันดับ 7 ที่ 4% นอกจากนี้ แคนาดายังเป็นผู้ส่งออกอะลูมิเนียมรายใหญ่ที่สุดไปยังสหรัฐฯ อีกด้วย เนื่องจากต้นทุนภาษีตกอยู่กับผู้นำเข้าโดยตรง จึงทำให้ต้นทุนของผู้ผลิตสูงขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ
วูล์ฟ รีเสิร์ช บริษัทวิจัยของสหรัฐฯ คาดว่า อัตราภาษี 25% จะทำให้ราคาเหล็กพุ่งขึ้นถึง 16% จากระดับเฉลี่ยของปี 2567 ขณะที่ราคาอะลูมิเนียมซึ่งมีแนวโน้มขาขึ้นอยู่แล้ว คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว
สรุปข่าว
อนินดยา ดาส นักวิเคราะห์จากโนมูระ ซีเคียวริตีส์ ได้ประเมินผลกระทบต่อกำไรจากการดำเนินงานในปีงบการเงิน 2568 ของบริษัทรถยนต์ หากราคาเหล็กและอะลูมิเนียมเพิ่มขึ้น 10% จากระดับเฉลี่ยของปี 2567 โดยพบว่า ฟอร์ด มอเตอร์ (Ford Motor) และเจนเนอรัล มอเตอร์ส จะได้รับผลกระทบหนักที่สุดราว 3-4% หากไม่สามารถผลักภาระต้นทุนไปยังผู้บริโภคได้
ขณะที่โตโยต้า มอเตอร์ จะได้รับผลกระทบเพียง 0.5% ส่วนซูบารุ (Subaru) ซึ่งมีฐานการผลิตหลักในอเมริกาเหนือ จะได้รับผลกระทบประมาณ 2%
ข้อมูลจากโกลบอล เทรด อะเลิร์ต ของสหภาพยุโรป บ่งชี้ว่า มาตรการภาษีศุลกากรของรัฐบาลทรัมป์ครอบคลุมสินค้าทั้งหมด 289 ประเภท คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 1.51 แสนล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 4.5% ของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ
ขณะที่จีนเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่ต้องเสียภาษีถึง 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์
รองลงมาคือเม็กซิโก 3.06 หมื่นล้านดอลลาร์, สหภาพยุโรป 2.03 หมื่นล้านดอลลาร์ และแคนาดา 1.71 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนญี่ปุ่นอยู่ในอันดับ 7 ที่ 7 พันล้านล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ บริษัทในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้าอะลูมิเนียมต่างหันไปใช้วัสดุทางเลือก
ที่มาข้อมูล : สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชีย
ที่มารูปภาพ : TNN

Chakorn Nhukongmai
(Chakorn Nhukongmai)