TNN online ไบเดน-ปูติน ถกประเด็นเครียดวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน นานาชาติสนับสนุน ‘บูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน’ ด้านรัสเซียย้ำ “ไม่ต้องการโจมตีใคร”

TNN ONLINE

World

ไบเดน-ปูติน ถกประเด็นเครียดวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน นานาชาติสนับสนุน ‘บูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน’ ด้านรัสเซียย้ำ “ไม่ต้องการโจมตีใคร”

ไบเดน-ปูติน ถกประเด็นเครียดวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน นานาชาติสนับสนุน ‘บูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน’ ด้านรัสเซียย้ำ “ไม่ต้องการโจมตีใคร”

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประชุมสุดยอดออนไลน์ เพื่อหารือถึงความตึงเครียดในยูเครน และประเด็นความขัดแย้งอื่น ๆ ท่ามกลางความกังวลของชาติตะวันตกว่ารัสเซียอาจส่งกำลังทหารรุกรานยูเครน

◾◾◾

🔴ไบเดน-ปูติน ถกประเด็นวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน


เมื่อคืนที่ผ่านมา เวลา 22.07 น.ตามเวลาในประเทศไทย ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เริ่มประชุมสุดยอดออนไลน์ ผ่านวิดีโอลิงก์ และใช้เวลานาน 2 ชั่วโมง  เป็นการพูดคุยกันที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักระหว่าง 2 ผู้นำ และสื่อต่างชาติบางสำนักเรียกว่าเป็นการพูดคุยที่เดิมพันสูง


ประเด็นที่หารือกันหลัก ๆ คือ ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน ท่ามกลางความกังวลของนานาชาติว่า รัสเซียจะบุกยูเครน 


ระหว่างการหารือ ไบเดนแสดงความกังวลอย่างมาก ต่อกรณีที่รัสเซียเสริมกำลังทหารประชิดพรมแดนยูเครน และเตือนจะใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงร่วมกับมาตรการอื่น ๆ หากรัสเซียบุกยูเครน


ด้านปูติน ระบุว่า จะไม่โจมตียูเครน และกล่าวหาว่า รัฐบาลยูเครนเป็นฝ่ายยั่วยุ และขอคำรับรองว่าองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO จะไม่ขยายสมาชิกสู่ยุโรปตะวันออก และประจำการอาวุธใกล้พรมแดนรัสเซีย


◾◾◾

🔴นานาชาติสนับสนุน ‘บูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน’


ในแถลงการณ์ของทำเนียบขาว  เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ ระบุว่า ไบเดนเน้นย้ำ ถึงการ “สนับสนุนอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน และเรียกร้องให้ลดความขัดแย้งและกลับคืนสู่การทูต” เช่นเดียวกับผู้นำสหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, เยอรมนี และอิตาลี ต่างแสดงท่าทีสนับสนุน “บูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน” หลังไบเดนพูดคุยกับปูติน


ซัลลิแวน ยังระบุว่า ไบเดนและปูตินตกลงเห็นพ้องต้องกันว่า คณะเจ้าหน้าที่ของแต่ละฝ่ายจะ “ติดตาม” ผลการประชุมสุดยอดครั้งนี้  


การเคลื่อนไหวต่อไปของสหรัฐฯ จะเป็นการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรและหุ้นส่วน และไบเดน ได้สรุปสาระต่าง ๆ ของการหารือกับปูตินให้ผู้นำชาติพันธมิตรได้รับทราบ


◾◾◾

🔴รัสเซียย้ำ “ไม่ต้องการโจมตีใคร”


ด้านดิมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย ระบุว่า รัสเซียต้องการมีความสัมพันธ์ที่ดีและคาดเดาได้กับสหรัฐฯ พร้อมยืนยันว่า รัสเซียไม่ต้องการโจมตีประเทศใด แต่ก็มี "ขีดจำกัด" ของตนเองเช่นกัน และขอให้ทุกฝ่าย "ใจเย็น" ต่อกรณีความขัดแย้งบริเวณพรมแดนยูเครน พร้อมกับ แสดงความหวังด้วยว่า การเจรจาระหว่างไบเดนกับปูติน จะช่วยบรรเทาความตึงเครียดที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมากในยุโรปขณะนี้ได้


ยูริ อูชาคอฟ ที่ปรึกษานโยบายต่างประเทศของรัสเซีย ระบุว่า ไม่คาดหวังว่า จะมีการพัฒนาในทันทีต่อความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียที่ตึงเครียด แต่ผู้นำทั้งสองจะยังคงมีส่วนร่วมในเรื่องต่าง ๆ ในทางปฏิบัติ  และระบุว่า ผู้นำทั้งสองไม่ได้หารือเกี่ยวกับข้อเสนอเพื่อพบปะกันซึ่งหน้าในดินแดนที่เป็นกลาง 


◾◾◾

🔴รัสเซีย-ยูเครนยังตึงเครียด 


ก่อนจะมาถึงการเจรจาสุดยอดระหว่างที่ผ่านมา ยูเครนและประเทศตะวันตกกล่าวหารัสเซียว่า ส่งกำลังทหารหลายหมื่นนายไปประจำการบริเวณพรมแดนติดกับรัสเซีย และกังวลว่า ปูตินอาจสั่งการให้ทหารรัสเซียเหล่านั้นบุกเข้าไปในยูเครนได้ในเวลาอันสั้น


มีรายงานว่า ทหารรัสเซียมากกว่า 94,000 นายตรึงกำลังอยู่ใกล้กับพรมแดนของยูเครน ก่อนหน้านี้ โอเล็กซี เรซนีคอฟ รัฐมนตรีกลาโหมยูเครน เปิดเผยโดยอ้างรายงานจากหน่วยข่าวกรองว่า รัสเซียอาจกำลังเตรียมแผนปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้ 


อย่างไรก็ตาม รัฐบาลรัสเซียยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาของชาติตะวันตก ระบุว่า ทหารเหล่านั้นถูกส่งไปประจำการเพื่อป้องกันอธิปไตยของรัสเซีย นอกจากนี้ทางรัสเซียยังกล่าวหากลับว่า ชาติตะวันตกกำลังให้การสนับสนุนทางทหารแก่ยูเครน พร้อมทั้งตั้งคำถามถึงจุดประสงค์ของยูเครน และต้องการการรับรองว่า ยูเครนจะไม่ใช้กำลังเพื่อยึดคืนเขตแดนที่สูญเสียไปเมื่อปี 2014 ให้แก่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่มีรัสเซียหนุนหลัง


◾◾◾

🔴นักวิเคราะห์ชี้ การประชุมอาจไม่ยุติวิกฤต


โจนาธาน มาร์คัส จากสถาบันกลยุทธ์และความมั่นคง มหาวิทยาลัยเอ็กซีเตอร์ มองว่า การสนทนาเพียงครั้งเดียว อาจจะไม่ยุติวิกฤตดังกล่าว ตอนนี้ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสิ่งที่ปูตินนำออกไปจากการหารือครั้งนี้  รวมถึงสัญญาณที่เขาได้รับและส่งออกไป ซึ่งต้องจับตาดูในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนี้


ความรุนแรงของสถานการณ์นี้ไม่ได้พูดเกินจริง ทั้งขนาดและการวางกำลังกองทัพรัสเซียรอบยูเครนนั้นไม่ธรรมดา และระบุว่า แหล่งข่าวกรองของสหรัฐเตือนว่า กำลังทหารประมาณ 175,000 นายของรัสเซีย เตรียมการโจมตีหลายแนวในต้นปีหน้า


ไมเคิล คอฟแมน ผู้สังเกตการณ์กิจการทหารรัสเซีย จากศูนย์วิเคราะห์กองทัพเรือสหรัฐฯ วิเคราะห์ว่า จากการประชุมครั้งนี้ มีผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ 3 ประการ คือ รัสเซีย อาจถอยห่างจากภัยคุกคามจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตก หรือเลือกใช้กระบวนการทางการทูต ที่มองว่าตอนนี้รัสเซียได้รับชัยชนะเล็ก ๆ ที่ทำให้สหรัฐฯ บรรจุเรื่องนี้ไว้ในประเด็นต่างประเทศของตน และนำมาสู่การประชุมล่าสุดได้  


อย่างไรก็ตาม เขามองว่า ประธานาธิบดีไบเดนจะไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของรัสเซียในการยับยั้งการเป็นสมาชิก NATO ของยูเครน


และประการสุดท้าย รัสเซียอาจเลือกดำเนินการทางทหารโดยตรงเท่านั้น เนื่องจากวิกฤตพลังงานในฤดูหนาวของยุโรปตะวันตก ความอ่อนแอของประธานาธิบดีไบเดน และการระบาดของโควิด-19 ตอนนี้จึงเป็นเวลาที่ดีที่สุดที่จะโจมตี


นอกจากประเด็นยูเครน การประชุมสุดยอดออนไลน์ล่าสุด ได้รับการหยิบยกประเด็นจากการประชุมสุดยอดแบบพบหน้ากันระหว่างไบเดนกับปูตินที่เจนีวามาหารือกันด้วย รวมถึงเสถียรภาพเชิงกลยุทธ์, อาชญากรรมทางไซเบอร์ และการทำงานร่วมกันในประเด็นระดับภูมิภาค เช่น อิหร่าน

—————

แปล-เรียบเรียง: สันติ สร้างนอก

ภาพ: Thomas Peter Reuters

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง