TNN online ผู้นำเบลารุสขออาวุธนิวเคลียร์จากรัสเซีย นานาชาติหวั่นสงครามปะทุหนัก

TNN ONLINE

World

ผู้นำเบลารุสขออาวุธนิวเคลียร์จากรัสเซีย นานาชาติหวั่นสงครามปะทุหนัก

ผู้นำเบลารุสขออาวุธนิวเคลียร์จากรัสเซีย นานาชาติหวั่นสงครามปะทุหนัก

ผู้นำเบลารุสขอให้รัสเซียส่งอาวุธนิวเคลียร์มาประจำการในประเทศ เพื่อตอบโต้ NATO ที่จะติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างโปแลนด์ ด้าน NATO และสหรัฐฯ เรียกร้องรัสเซีย อย่ายกกำลังรุกรานยูเครน ซึ่งจะส่งผลกระทบร้ายแรงตามมา

ยูเครน อดีตสาธารณรัฐในอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งขณะนี้ ต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และ NATO กลายเป็นพื้นที่ขัดแย้งหลักระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตก ขณะที่ความสัมพันธ์เลวร้ายลงในระดับต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปี ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น


ทั้งนี้ ความตึงเครียดพุ่งสูงต่อเนื่องหลายสัปดาห์ โดยรัสเซีย, ยูเครนและ NATO ต่างทำการซ้อมรบ ท่ามกลางการกล่าวโทษซึ่งกันและกันว่าใครกันแน่ที่เป็นผู้รุกราน


---เบลารุสอยากได้อาวุธนิวเคลียร์---


อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ประธานาธิบดีของเบลารุส แถลงว่า เขาขอให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย มอบอาวุธนิวเคลียร์ให้กับเบลารุส หากองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ติดตั้งระบบนิวเคลียร์ประจำการในโปแลนด์ ประเทศเพื่อนบ้าน


ลูกาเชนโก ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว RIA ของรัสเซียว่า เราพร้อมแล้วสำหรับการประจำการอาวุธนิวเคลียร์ในดินแดนของเบลารุส หาก NATO จะนำระบบนิวเคลียร์เข้าสู่โปแลนด์ เขาก็จะแนะนำให้ปูตินส่งอาวุธนิวเคลียร์ให้เบลารุส


และกล่าวว่า เราจะมาตกลงกัน อาวุธนิวเคลียร์เท่านั้น ที่จะมีประสิทธิภาพที่สุดในการเผชิญหน้ากันแบบนี้


นอกจากนี้ ลูกาเชนโก ยังระบุว่า คาบสมุทรไครเมียของเคยเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน แต่ถูกผนวกรวมกับรัสเซีย ในปี 2014 ว่าเป็นดินแดนที่ถูกกฎหมายของรัสเซีย ซึ่งเป็นการกลับลำจุดยืนของเขาต่อสาธารณะ หลังจากก่อนหน้านี้ เบลารุสซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของรัสเซีย ไม่ได้ยอมรับว่าคาบสมุทรไครเมียเป็นของรัสเซีย


---สหรัฐฯ เตือนรัสเซียอย่าบุกยูเครน---


พันธมิตร NATO ต่างแสดงความกังวลกรณีการเสริมกำลังทหารของรัสเซียประชิดพรมแดนยูเครน


นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุด้วยว่า สหรัฐฯ นั้น “มีความกังวลอย่างมาก” ต่อการที่กองทัพรัสเซียเคลื่อนตัวอยู่ตามแนวพรมแดนติดกับยูเครนอย่างไม่ปกติ และเตือนรัสเซียว่า ไม่ให้ทำการใด ๆ ที่อาจเป็นการยกระดับการรุกรานยูเครน พร้อมย้ำว่า การกระทำดังกล่าวจะนำมา “ซึ่งผลกระทบร้ายแรงอื่น ๆ” ต่อไป


ท่าทีของบลิงเคน มีขึ้นระหว่างการเยือนกรุงริกา เมืองหลวงลัตเวียอย่างเป็นทางการ เพื่อเข้าร่วมประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศของ NATO


---ควรเจรจาลดความตึงเครียด---


ก่อนการประชุมรัฐมนตรีครั้งนี้ เยนส์ ชโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การ NATO แถลงว่า ได้ติดต่อไปยังรัสเซีย เพื่อเจรจาลดความตึงเครียดในภูมิภาค พร้อมระบุว่า การสั่งสมกำลังทหารนั้น “ไม่มีเหตุผลและไม่มีคำอธิบายที่สมเหตุผล” แม้แต่น้อยและเตือนรัสเซียว่า อย่าปฏิบัติการรุกรานยูเครน


ชโตลเทนเบิร์ก ระบุว่า เราเรียกร้องให้รัสเซียแสดงความโปร่งใส, ลดความตึงเครียดและความขัดแย้งลง การรุกรานใด ๆ ต่อยูเครนของรัสเซียในอนาคตจะสร้างความเสียหายอย่างมาก


สถานการณ์ทั้งในและรอบยูเครนยังอ่อนไหวและเหนือการคาดการณ์ ไม่มีความแน่นอนเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของรัสเซีย เราจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมสำหรับความเลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้น และต้องการส่งสารถึงรัสเซียว่า พวกเขาไม่ควรจะใช้กำลังทหารบุกเข้าไปในยูเครน


---วิกฤตผู้อพยพยังไม่คลี่คลาย---


การประชุมรัฐมนตรี NATO ที่กรุงริกา เกิดขึ้นหลัง สมาชิกกลุ่มพันธมิตรนี้ อันได้แก่ ลัตเวีย ลิทัวเนีย และโปแลนด์ ประสบปัญหาวิกฤตชายแดนที่ติดกับเบลารุสอยู่


สหภาพยุโรปกล่าวหา อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก แห่งเบลารุส ว่า ทำการล่อลวงผู้อพยพนับพัน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคตะวันออกกลาง ให้เดินทางมายังเบลารุส และให้พยายามข้ามพรมแดนมายังลัตเวีย ลิทัวเนีย และโปแลนด์ เพื่อสั่นคลอนเสถียรภาพของ EU ซึ่งเป็นแผนตอบโต้การดำเนินมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของรัฐบาลผู้นำเบลารุสนั่นเอง


ทั้งนี้ รมต.บลิงเคน กล่าวว่า สหรัฐฯ และ EU กำลังพิจารณามาตรการลงโทษเพิ่มเติมสำหรับเบลารุส ต่อสิ่งที่ตนเรียกว่าเป็น “การโจมตีอย่างไม่ลดละต่อระบอบประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และบรรทัดฐานสากล”


รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ ยังตอบคำถามของ VOA ด้วยว่า ตนเองและ รมต.รินเควิคส์ แห่งลัตเวีย พุ่งความสนใจไปยัง “การดำเนินการต่าง ๆ ที่เบลารุสลงมือทำ ไม่ว่าจะเป็นการกดขี่ประชาชนของตน หรือจิตวิญญาณแห่งประชาธิปไตย รวมทั้ง การใช้ประเด็นการอพยพเป็นดั่งอาวุธ เพื่อสร้างความร้าวฉานและสั่นคลอนเสถียรภาพของยุโรป”

—————

แปล-เรียบเรียง: สันติ สร้างนอก และ สุภาพร เอ็ลเดรจ

ภาพ: Guillem Sartorio / AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง