TNN online โศกนาฏกรรมแห่งช่องแคบอังกฤษ คลื่นผู้อพยพโถมอังกฤษอีกครั้ง

TNN ONLINE

World

โศกนาฏกรรมแห่งช่องแคบอังกฤษ คลื่นผู้อพยพโถมอังกฤษอีกครั้ง

โศกนาฏกรรมแห่งช่องแคบอังกฤษ คลื่นผู้อพยพโถมอังกฤษอีกครั้ง

เรือผู้อพยพอับปางขณะลักลอบเข้าอังกฤษผ่านช่องแคบอังกฤษ มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน ทำให้ผู้นำอังกฤษและฝรั่งเศสกำลังหารือแนวทางในการปกป้องพรมแดน และยังยั้งคลื่นผู้อพยพ

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า เกิดเหตุเรือบดเล็กของผู้อพยพ อับปางระหว่างข้ามช่องแคบอังกฤษ จากฝรั่งเศสไปยังอังกฤษ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 31 คน


องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน รายงานว่า นี่คือการเสียชีวิตครั้งใหญ่ที่สุดในน่านน้ำที่แบ่งแยกสองประเทศ นับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติในปี 2014


ช่องแคบแห่งนี้ เป็นหนึ่งในเส้นทางเดินเรือที่พลุกพล่านที่สุดของโลก และมีกระแสน้ำเชี่ยวกราก เรือบดขนาดเล็กที่บรรทุกเกินพิกัด มักจะไม่สามารถลอยอยู่ได้ และยังมีคลื่นทะเล ขณะพวกเขาพยายามที่จะเดินทางไปให้ถึงชายฝั่งอังกฤษ


ก่อนเกิดโศกนาฏกรรมในวันพุธ (24 พฤศจิกายน) ก็มีผู้อพยพจมน้ำเสียชีวิต 14 คนในปีนี้ขณะพยายามที่จะเดินทางข้ามไปยังอังกฤษ ส่วนในปี 2020 มีผู้เสียชีวิต 7 คนและสูญหาย 2 คน และในปี 2019 เสียชีวิต 4 คน


---ฝรั่งเศส ต้นทางผู้อพยพขึ้นเรือ---


ผู้อพยพจำนวนมากเดินทางออกจากชายฝั่งทางตอนเหนือของฝรั่งเศสมากกว่าปกติ เนื่องจากถือโอกาสในช่วงที่สภาพทะเลสงบในวันพุธ แม้ว่าน้ำในทะเลจะเย็นจัดก็ตาม


ทางการฝรั่งเศสระบุว่า แก๊งค้ามนุษย์ 4 คน ที่ต้องสงสัยมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์นี้ ถูกจับกุมตัวได้ในวันพุธ


นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ประกาศว่าฝรั่งเศสจะไม่ยอมให้ช่องแคบกลายเป็นสุสาน และเขาเรียกร้องให้รัฐมนตรีของ EU จัดประชุมฉุกเฉิน เรื่องปัญหาผู้อพยพ


เขาเผยด้วยว่า ตั้งแต่ต้นปีนี้ มีการผู้ลักลอบขนมนุษย์ถูกจับไปถึง 1,552 คน ในทางตอนเหนือของฝรั่งเศส และมีเครือข่ายลักลอบคนมนุษย์ถูกทลาย 44 กลุ่ม นอกจากนี้ ยังพบความพยายามข้ามช่องแคบไปยังอังกฤษถึง 47,000 ครั้ง และมีการช่วยเหลือผู้อพยพไปแล้ว 7,800 คน


ทั้งนี้ ทั้งฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร ต่างประณามว่าเป็นฝีมือของแก๊งค้ามนุษย์ แต่นักการเมืองฝรั่งเศสหลายคน ซึ่งรวมทั้งนาตาชา บูชาร์ต นายกเทศมนตรีเมืองกาเลส์ของฝรั่งเศสที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับอังกฤษ ตำหนิอังกฤษสำหรับปัญหาดังกล่าว โดยบอกว่า อังกฤษควรจะเปลี่ยนนโยบายผู้อพยพเข้าเมืองของตนเองได้แล้ว


---ผู้นำอังกฤษรู้สึกช็อก---


นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ผู้นำสหราชอาณาจักร กล่าวว่า เขารู้สึก “ช็อกและตกใจ” กับการเสียชีวิตของผู้อพยพครั้งนี้


ผู้นำสหราชอาณาจักรกล่าวว่า ยอดเสียชีวิตนั้นถือเป็นหายนะ และเป็นเรื่องจำเป็นมากที่จะต้องจัดการแก้งค์ค้ามนุษย์ ที่มักรอดไปได้ทั้ง ๆ ที่ฆาตกรรมผู้อื่น และเราต้องทำลายรูปแบบธุรกิจนี้ที่ส่งคนข้ามผ่านทะเล


เขายอมรับว่าก่อนหน้านี้ ยังไม่ได้มีความพยายามมากพอในการยับยั้งผู้อพยพไม่ให้ข้ามช่องแคบด้วยเรือเล็ก และสหราชอาณาจักรจะเสนอช่วยเหลือฝรั่งเศสมากขึ้นในปฏิบัติการนี้


นายกรัฐมนตรีจอห์นสัน และประธานาธิบดีมาครง ได้เห็นพ้องที่จะยกระดับความร่วมมือกันในการป้องกันการลักลอบข้ามช่องแคบ และยับยั้งกลุ่มอาชญากรรมที่เอาชีวิตมนุษย์ไปเสี่ยง และเห็นพ้องที่จะทำงานร่วมกันมากขึ้นกับเพื่อนบ้านอย่างเนเธอร์แลนด์และเบลเยี่ยม รวมถึงชาติยุโรปอื่น ๆ เพื่อยับยั้งปัญหาก่อนที่ผู้คนมาเดินทางมาถึงชายฝั่งของฝรั่งเศส


ขณะที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรให้คำมั่นจะให้ความช่วยเหลือฝรั่งเศสมูลค่า 54 ล้านยูโร ระหว่างปี 2021-22 เพื่อให้เพิ่มการลาดตระเวนของตำรวจตามชายฝั่งของฝรั่งเศส เพิ่มการลาดตระเวนทางอากาศ และเพิ่มสาธารณปโภคด้านความมั่นคงตามท่าเรือต่าง ๆ


---ชะตากรรมผู้อพยพ ใครต้องรับผิดชอบ?---


ด้านสำนักข่าว BBC รายงานว่า เฉพาะเมื่อวันพุธวันเดียว มีเรือถึง 25 ลำที่พยายามจะข้ามช่องแคบ และในปีนี้ปีเดียว มีผู้อพยพมากกว่า 25,700 คนที่เลือกเส้นทางเสี่ยงนี้เพื่อเข้าอังกฤษ มากกว่าปี 2020 ถึงสองเท่า


BBC วิเคราะห์ว่า มีการเตือนมาก่อนแล้วว่าผู้อพยพจะพยายามหาทางข้ามช่องแคบในช่วงคืนที่ผ่านมาให้ได้ เพราะสภาพอากาศกำลังเริ่มเลวร้ายลง เกินกว่าจะเดินทางได้ไปอีกพักใหญ่ จึงทำให้ช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมา เป็นโอกาสสุดท้ายในการเข้ามายังอังกฤษ จนเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น


สำหรับฝรั่งเศส นั้นเป็นเรื่องของสภาพของค่ายผู้อพยพ เด็ก ๆ ต้องอาศัยอยู่กันตามป่าและท้องถนน ขณะที่อังกฤษก็ไม่มีช่องทางที่ถูกกฎหมายสำหรับการขอลี้ภัย จึงทำให้ผู้อพยพยอมเดินทางผ่านทะเล ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเสี่ยง

—————

แปล-เรียบเรียง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง

ภาพ: Ben STANSALL / AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง