TNN online เอเชียเจอฤดูหนาวปีนี้รุนแรง จากปรากฎการณ์ลานีญา ยิ่งซ้ำเติมวิกฤตขาดแคลนพลังงานในหลายชาติ

TNN ONLINE

World

เอเชียเจอฤดูหนาวปีนี้รุนแรง จากปรากฎการณ์ลานีญา ยิ่งซ้ำเติมวิกฤตขาดแคลนพลังงานในหลายชาติ

เอเชียเจอฤดูหนาวปีนี้รุนแรง จากปรากฎการณ์ลานีญา ยิ่งซ้ำเติมวิกฤตขาดแคลนพลังงานในหลายชาติ

ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า เอเชียจะเผชิญสภาพอากาศหนาวที่รุนแรงขึ้นในปีนี้ อันเป็นผลมาจากปรากฏการณ์ลานีญา และคาดว่าจะซ้ำเติมวิกฤตพลังงานของภูมิภาคด้วย

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ปรากฏการณ์ลานีญากำลังเกิดขึ้นในแถบแปซิฟิก จากกระแสลมพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกมายังด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกตามเดิม


แต่กระแสลมมีความรุนแรงมากกว่าปกติ ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลจะต่ำกว่าปกติ ส่งผลให้อุณหภูมิของซีกโลกเหนือลดต่ำลง และตอนนี้ หน่วยงานด้านสภาพอากาศของหลายประเทศได้ออกคำเตือนว่าจะเกิดฤดูหนาวที่เย็นจัดแล้ว


สภาพอากาศที่หนาวจัดนี้ จะซ้ำเติมสถานการณ์หลายชาติ โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นชาติบริโภคพลังงานรายใหญ่ และกำลังเผชิญปัญหาราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอยู่แล้ว และในบางครั้ง เกิดการขาดแคลนไฟฟ้า หรือไม่ก็ต้องจำกัดการใช้พลังงานของอุตสาหกรรมหนักต่าง ๆ


นอกจากนี้ ราคาถ่านหินและก๊าซธรรมชาติยังได้ปรับตัวสูงขึ้นไปแล้ว ดังนั้น การที่ฤดูหนาวมีอากาศหนาวขึ้น จะยิ่งทำให้ความต้องการใช้ระบบทำความร้อนเพิ่มมากขึ้น และยิ่งทำให้ราคาเชื้อเพลิงพุ่งสูงขึ้นไปอีก


เรนนี่ แวนด์เวจ รองประธานของ DTN ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลด้านสภาพอากาศ กล่าวว่า หน้าหนาวปีนี้ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือจะหนาวเย็นกว่าปกติ


◾◾◾

🔴 จีนเริ่มหนาวหนัก เปิดฮีทเตอร์กันแล้ว


ศูนย์สภาพอากาศแห่งชาติจีน รายงานว่า ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา อุณหภูมิทั่วพื้นที่ทางตะวันออกของจีนลดต่ำลง และหนาวกว่าปกติในบางพื้นที่ บางมนฑลเช่น เฮยหลงเจียง ชานซี และส่านซี เริ่มฤดูการใช้ฮีทเตอร์แล้ว เร็วกว่าปีก่อนราว 4-13 วัน


ระบบทำความร้อนส่วนกลางของทางการท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่ขับเคลื่อนด้วยถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ต้องเดินเครื่องทำความอบอุ่นให้ครัวเรือนในหลายพื้นที่ไปแล้ว


ดร.ฉี เซี่ยเฟย ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรยากาศศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยหนานจิง กล่าวว่า สภาพอากาศที่รุนแรงนั้นอาจเกิดขึ้นบ่อยขึ้นจากปัญหาโลกร้อน คลื่นความหนาวจะทำให้อุณหภูมิลดต่ำขนานใหญ่ แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจเกิดสภาวะอากาศอบอุ่นมากกว่าปกติด้วย


ด้านสำนักข่าว Xinhua รายงานว่า ศูนย์สภาพอากาศของจีนคาดว่า จีนจะเข้าสู่ปรากฏการณ์ลา นีญาในเดือนนี้แล้ว


◾◾◾

🔴 ญี่ปุ่นเตรียมรับฤดูหนาว


หน่วยงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นรายงานว่า เดือนนี้ญี่ปุ่นจะเผชิญอุณหภูมิลดต่ำกว่าปกติ


ทั้งนี้ ในตอนนี้ ญี่ปุ่นเฝ้าระวังอย่างมากและประคองตัวรอดจากวิกฤตพลังงาน หลังจากปีที่แล้ว อากาศที่หนาวจัด ทำให้ค่าไฟพุ่งสูงขึ้น เพราะไม่มีเชื้อเพลิงเพียงพอ ประกอบกับความต้องใช้ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ญี่ปุ่นต้องนำเข้าก๊าศ LNG ที่มีราคาแพง


สำหรับปีนี้ กระทรวงการค้าของญี่ปุ่นระบุว่าได้หารือกับบริษัทไฟฟ้า ก๊าซ และน้ำมันรายหลัก ๆ ของประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับฤดูหนาวปีนี้ และผู้ให้บริการไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ ได้สำรองก๊าซแอลเอ็นจีในตอนนี้เพิ่มขึ้น 24% จากค่าเฉลี่ยในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา


◾◾◾

🔴 เกาหลีใต้หิมะตกเร็วกว่าปกติ 15 วัน


หน่วยงานอุตุนิยมวิทยาของเกาหลีใต้ ระบุว่า เกาหลีใต้จะเผชิญอากาศที่หนาวเหน็บขึ้นในช่วงครึ่งแรกของฤดูหนาวนี้ และดูเหมือนจะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ลานีญา


ทั้งนี้ เกาหลีใต้มีหิมะแรกของปีไปแล้ว โดยเกิดขึ้น 15 วันเร็วกว่าปีที่แล้ว ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นกว่าปกติในช่วงเดือนตุลาคม


รัฐบาลเกาหลีใต้กำลังเตรียมพร้อมในการเพิ่มพลังงานสำรอง และหาทางลดภาระจากผลกระทบของราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้น โดยจะมีการลดภาษีนำเข้าเชื้อเพลิงและแอลเอ็นจีเป็นการชั่วคราว


◾◾◾

🔴 อินเดียหนาวขึ้นเป็นเรื่องดี?


สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า อุณหภูมิในบางพื้นที่ทางตอนเหนือของอินเดียจะลดต่ำลงไปถึง 3 องศาเซลเซียสในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ก่อนที่จะกลับมาอุ่นขึ้นอีกครั้ง


สถานการณ์ของอินเดียนั้นแตกต่างจากประเทศอื่น เพราะอากาศที่เย็นขึ้นจะทำให้คนใช้พลังงานน้อยลง เนื่องจากความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศลดลง


อย่างไรก็ตาม อินเดียกำลังเผชิญสภาพอากาศที่แห้งขึ้นหลังจบฤดูมรสุม นอกจากนี้ พื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตถ่านหินสำคัญได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทำให้เกิดภาวะบีบคั้นต่อซัพพลายของพลังงานที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าราว 70% ของประเทศ


◾◾◾

🔴 น้ำแข็งทะเลอาร์กติกกำลังหายไป


ดร.ทอดด์ ครอว์ฟอร์ด ผู้อำนวยการด้านอุตุนิยมวิทยาของ Atmospheric G2 กล่าวว่า นอกจากปรากฏการณ์ลานีญาแล้ว ยังมีปัจจัยอื่อีกที่ส่งผลต่อฤดูหนาวของเอเชีย


เขาระบุว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้น้ำแข็งในทะเลในภูมิภาคอาร์กติกหายไป ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะความกดอากาศสูงในบริเวณดังกล่าว และทำให้อากาศเย็นขึ้นทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เหมือนกับที่เกิดในหน้าหนาวปีที่แล้ว


นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยของโพลาร์ วอร์เท็กซ์ หรือลมวนขั้วโลก ที่ปกติแล้วจะช่วยเก็บรักษาลมเย็นไว้ที่ภูมิภาคอาร์กติก แต่ในช่วงต้นของฤดูหนาวปีนี้ กระแสลมอ่อนตัวลงกว่าปกติ ซึ่งจะทำให้อากาศหนาวหลุดออกมาไหลสู่พื้นที่ทางใต้ และคาดการณ์ว่า จากปัจจัยทั้งหมดนี้ จะทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือหนาวมากในช่วงปลายพฤศจิกายนไปจนถึงกลางเดือนมกราคมนั่นเอง

—————

เรื่อง: ธันย์ชนก จงยศยิ่ง

ภาพ: WANG Zhao / AFP

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง