TNN online โควิดคร่าชีวิตแพทย์ทั่วโลกราว 1.8 แสนคน โครงการ COVAX ล้มเหลว จับตามอง Delta Plus ระบาดรอบใหม่

TNN ONLINE

World

โควิดคร่าชีวิตแพทย์ทั่วโลกราว 1.8 แสนคน โครงการ COVAX ล้มเหลว จับตามอง Delta Plus ระบาดรอบใหม่

โควิดคร่าชีวิตแพทย์ทั่วโลกราว 1.8 แสนคน โครงการ COVAX ล้มเหลว จับตามอง Delta Plus ระบาดรอบใหม่

WHO แถลงว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง ต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาจคร่าชีวิตบุคลากรทางการแพทย์แล้วระหว่าง 80,000-180,000 คน ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม 2020 ถึงเดือนพฤษภาคม ปีนี้

◾◾◾

🔴 โควิดคร่าแพทย์เกือบ 2 แสนคน


องค์การอนามัยโลก แถลงว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง ต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาจคร่าชีวิตบุคลากรทางการแพทย์แล้วระหว่าง 80,000-180,000 คน ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม 2020 ถึงเดือนพฤษภาคม ปีนี้  


สาเหตุเกิดจากความไม่เท่าเทียมในการแจกจ่ายวัคซีน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ในประเทศที่มีรายได้น้อยก็ได้รับวัคซีนไม่ทั่วถึงเช่นกัน พร้อมกับยังมีความกังวลต่อการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ Delta Plus


ดร.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่า ต้องให้ความสำคัญในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ก่อนเป็นอันดับแรก และยังวิจารณ์ถึงความไม่ยุติธรรมในการแจกจ่ายวัคซีนด้วย


ปัจจุบันมีบุคลากรทางการแพทย์ประมาณ 135 ล้านคนทั่วโลก ผู้อำนวยการ WHO ระบุว่า  ข้อมูลจาก 119 ประเทศ พบว่า เฉลี่ยแล้ว มีบุคลากรทางการแพทย์ 2 ใน 5 คนทั่วโลกที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว


แต่บุคลากรทางการแพทย์ในแอฟริกาที่ได้รับวัคซีนครบ มีไม่ถึง 1 ใน 10 คน ขณะที่ ในประเทศที่มีรายได้สูง มีบุคลากรทางการแพทย์ 8 ใน 10 คนที่ได้ฉีดวัคซีนครบแล้ว


ปัจจุบันการฉีดวัคซีนต้านโควิดทั่วโลกไปแล้วกว่า 6,760 ล้านโดส และมีผู้ได้รับวัคซีนครบแล้ว 36.9% ขณะที่ ประชากรแอฟริกาไม่ถึง 5% ที่ได้รับวัคซีน เมื่อเทียบกับทวีปอื่น ๆ ที่ได้รับวัคซีนถึง 40%


◾◾◾

🔴 ประเทศยากจนขาดแคลนวัคซีน


สำนักข่าว BBC รายงานว่า วัคซีนต้านโควิดส่วนใหญ่ถูกใช้ในประเทศที่มีรายได้สูงหรือรายได้ปานกลางระดับสูง ขณะที่ แอฟริกามีสัดส่วนการใช้วัคซีนเพียง 2.6% ของปริมาณวัคซีนที่ใช้ทั่วโลก


ก่อนหน้านี้ ดร.บรูซ ไอล์วาร์ด เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ WHO เตือนว่า การขาดแคลนวัคซีนในประเทศยากจน อาจทำให้การระบาดของโควิด-19 จะลากยาวต่อไปอีก 1 ปี ไปถึงปี 2022 โดยไม่จำเป็น 


เนื่องจากประเทศที่มีรายได้น้อยยังไม่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 มากพอ และอัตราการฉีดวัคซีนก็ยังไปไม่ถึงไหนเลย พร้อมกับขอร้องให้ประเทศร่ำรวย เสียสละการเข้าคิวจองซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 เพื่อให้ทางผู้ผลิต สามารถผลิตวัคซีนให้แก่ประเทศที่มีรายได้ต่ำที่สุดก่อน


ด้านผู้อำนวยการ WHO ยังได้เรียกร้องให้ประเทศร่ำรวย 20 ประเทศ ที่จะจัดการประชุมสุดยอด G-20 กันในสัปดาห์หน้า จัดการบริจาควัคซีนโควิดให้ประเทศยากจนในแอฟริกา ซึ่งยังมีอัตราการฉีดวัคซีนล่าช้า และขอให้เร่งแบ่งปันวัคซีนให้สำเร็จโดยเร็วตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ 



◾◾◾

🔴 โครงการ COVAX ล้มเหลว


ท่ามกลางปัญหาความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีนต้านโควิด-19  โครงการ ‘COVAX’’ ซึ่งเป็นโครงการของสหประชาชาติ หรือ UN ที่ต้องการแจกจ่ายวัคซีนให้ประเทศรายได้น้อยและปานกลางอย่างทั่วถึงและยุติธรรม ถูกมองว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง 


จนถึงขณะนี้ โครงการ COVAX ซึ่งตั้งเป้าจะจัดส่งวัคซีนต้านโควิดจำนวน 2,000 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ สามารถจัดส่งวัคซีนได้เพียง 371 ล้านโดสเท่านั้น


ข้อมูลล่าสุดจากกลุ่ม ‘Peopole's Vaccine’ กลุ่มพันธมิตรองค์การกุศล ที่รวมถึง Oxfam และ UNAIDS ระบุว่า วัคซีนต้านโควิดที่ประเทศร่ำรวยได้ประกาศบริจาค และที่บริษัทยาที่ผลิตวัคซีนสามารถผลิตได้ทั้งหมดนั้น มีเพียง 1 ใน 7 โดสเท่านั้น ที่ไปถึงจุดหมายปลายทางในประเทศยากจน พร้อมกับตำหนิสหราชอาณาจักรและแคนาดาว่า ‘เป็นประเทศร่ำรวย’ แต่ยังขอจัดซื้อวัคซีนต้านโควิด ผ่านทางโครงการ COVAX 


ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรได้รับวัคซีน Pfizer ผ่านโครงการ COVAX เป็นจำนวน 539,370 โดส ส่วนแคนาดาได้รับ AstraZeneca เกือบ 1 ล้านโดสผ่าน COVAX 



◾◾◾

🔴 จับตา 'Delta Plus' ระบาดรอบใหม่


นอกจากเรื่องการแจกจ่ายวัคซีนอย่างไม่เป็นธรรม อีกหนึ่งความกังวลที่กำลังถูกจับตาทั่วโลก คือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ุย่อย ที่มีชื่อว่า 'Delta Plus'


เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอิสราเอลยืนยัน เมื่อไม่กี่วันก่อนว่า เด็กชายอายุ 11 ปีผู้หนึ่งมีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวก และพบว่าติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ย่อยที่มีชื่อว่า AY4.2 ซึ่งเรียกกันว่า 'Delta Plus' หลังเดินทางจากมอลโดวา มายังสนามบินนานาชาติเบนกูเรียน ในเทลอาวีฟ โดยเจ้าหน้าที่ได้กักตัวเด็กชายผู้นี้ไว้ทันที พร้อมระบุว่า เขายังมีสุขภาพแข็งแรงดี


ก่อนหน้านี้มีการตรวจพบเชื้อไวรัสสายพันธุ์ย่อย 'Delta Plus' ที่สหราชอาณาจักร, รัสเซีย และสหรัฐฯ แต่นักวิทยาศาสตร์ยังมิได้ระบุว่า สายพันธุ์นี้มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ Delta เดิมหรือจะต่อต้านวัคซีนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันหรือไม่


อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน WHO ยังไม่ได้จัดให้ ไวรัสสายพันธุ์ 'Delta Plus' อยู่ในกลุ่ม "สายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง" หรือ "สายพันธุ์ที่น่ากังวล" แต่อย่างใด

—————

เรื่อง: สันติ สร้างนอก 

ภาพ: Yves Herman / Reuters

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง