TNN online โลกล็อบบี้ลดเงื่อนไขกู้โลกร้อน เอกสารหลุดเผย นานาชาติร้องขอ UN ลดเป้าหมายรับมือ Climate Change

TNN ONLINE

World

โลกล็อบบี้ลดเงื่อนไขกู้โลกร้อน เอกสารหลุดเผย นานาชาติร้องขอ UN ลดเป้าหมายรับมือ Climate Change

โลกล็อบบี้ลดเงื่อนไขกู้โลกร้อน เอกสารหลุดเผย นานาชาติร้องขอ UN ลดเป้าหมายรับมือ Climate Change

สำนักข่าว BBC พบเอกสารหลุดอีกฉบับ ที่พบว่าหลายประเทศทั่วโลก ได้ล็อบบี้ไปยัง UN เพื่อให้ลดเป้าหมายการรับมือสภาวะอากาศ

สำนักข่าว BBC พบเอกสารหลุดอีกฉบับ ซึ่งพบว่าเอกสารดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วยข้อเสนอกว่า 32,000 ชิ้น จากทั้งรัฐบาล, บริษัท และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ไปยังเหล่านักวิทยาศาสตร์ เพื่อขอให้เปลี่ยนแปลงรายงานด้านวิทยาศาสตร์ในวิธีการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ


เอกสารดังกล่าว มีเนื้อหาบางส่วนที่ระบุว่า ซาอุดิอาระเบีย, จีน และออสเตรเลีย เป็นหนึ่งในเหล่าประเทศที่ขอไปยังสหประชาชาติ หรือ UN เพื่อให้ลดความพยายามในการจำกัดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล


เอกสารนี้ยังแสดงให้เห็นว่า ประเทศที่ร่ำรวยบางประเทศกำลังตั้งคำถามถึงการจ่ายเงินให้กับประเทศที่ยากจนกว่า เพื่อให้หันไปใช้เทคโนโลยีสีเขียว ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น


การล็อบบี้เหล่านี้ ทำให้เกิดคำถามตามมาเกี่ยวกับการประชุมว่าด้วยสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ COP26 ที่กำลังจะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้แล้ว ซึ่งจะเป็นเวทีที่เหล่าประเทศทั้งหลายจะประชุมร่วมกันเพื่อให้คำมั่นที่สำคัญในการชะลอการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และรักษาภาวะโลกร้อนไว้ไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส


◾◾◾

🔴 เชื้อเพลิงฟอสซิล


เอกสารหลุดนี้ พบว่ามีหลายประเทศและองค์กรที่ได้เรียกร้องว่า โลกของเราไม่จำเป็นจะต้องลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเร็วเท่ากับที่กำหนดไว้ในปัจจุบัน


ที่ปรึกษากระทรวงน้ำมันซาอุดิอาระเบีย เรียกร้องให้ วลีบางอย่าง เช่น "ความจำเป็นในการดำเนินการเพื่อบรรเทาผลกระทบอย่างเร่งด่วนในทุกระดับ" ควรจะถูกขจัดออกไปจากรายงานว่าด้วยการรับมือกับเรื่องสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง


หนึ่งในเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลออสเตรเลีย ปฏิเสธบทสรุปที่ว่า การปิดโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินมีความจำเป็น ถึงแม้ว่าการยุติการใช้ถ่านหินจะเป็นหนึ่งในประเด็นที่สำคัญในการประชุม COP26 ก็ตาม


ซาอุดิอาระเบีย เป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก และออสเตรเลียเป็นประเทศที่ส่งออกถ่านหินอันดับต้น ๆ ของโลก


ขณะที่อีกหลายประเทศอย่าง อาร์เจนตินา, นอร์เวย์ และกลุ่มโอเปก ได้ออกแถลงการณ์ร่วม โดยนอร์เวย์ขอให้นักวิทยาศาสตร์ของ UN ควรอนุมัติให้มีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน หรือ CCS เพื่อลดการปล่อยก๊าซจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแทนที่จะเป็นการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลงเลย


◾◾◾

🔴 การกินเนื้อให้น้อยลง


บราซิลและอาร์เจนตินา 2 ประเทศผู้ผลิตเนื้อวัวและอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลก ได้ต่อต้านหลักฐานในร่างรายงานที่ว่าให้ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง อันจะมีส่วนช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้


ร่างรายงานดังกล่าว ระบุว่า "อาหารที่ทำจากพืช (plant-based diets) สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 50% เมื่อเทียบกับการปล่อยก๊าซเฉลี่ยจากการบริโภคของประเทศแถบตะวันตก" ซึ่งบราซิลโต้แย้งว่า รายงานดังกล่าวไม่เป็นความจริง


ทั้ง 2 ประเทศ ได้เรียกร้องให้ผู้เขียนรายงานลบ หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในรายงานที่กล่าวถึง "อาหารจากพืช" ที่มีส่วนสำคัญในการจัดการสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง หรือการระบุว่า "เนื้อวัว" คืออาหารที่ "ปล่อยก๊าซคาร์บอนสูง"


ส่วนอาร์เจนตินา ก็เรียกร้องให้ข้อความในรายงานที่บอกว่า "ให้เพิ่มภาษีเนื้อแดง และ ‘ขอให้ วันจันทร์เป็นวันงดเนื้อสากล' เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนไม่กินเนื้อสัปดาห์ละ 1 วัน" ถูกลบออกไปจากรายงานนี้ด้วย


ทั้ง 2 ชาติโต้แย้งว่า มีหลักฐานว่า อาหารจำพวกเนื้อ ก็สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้เหมือนกัน แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดในเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่าทำได้ด้วยวิธีใด


◾◾◾

🔴 การให้เงินช่วยเหลือชาติยากจนกว่า


ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้แสดงความเห็นหลายอย่าง ที่ระบุว่า ควรต้องแก้ไขเนื้อหาบางส่วนของรายงานที่ระบุว่าประเทศกำลังพัฒนานั้นต้องการความช่วยเหลือโดยเฉพาะด้านการเงิน จากประเทศที่ร่ำรวย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซ


เช่นเดียวกับออสเตรเลีย ที่ระบุว่า การรับมือสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงของประเทศกำลังพัฒนา ไม่ได้ขึ้นกับการช่วยเหลือด้านการเงินจากภายนอก และย้ำว่านี่คือ "ความเห็นส่วนตัว"


ทั้งนี้ นี่คือหนึ่งในข้อตกลงจากการประชุมว่าด้วยเรื่องสภาพอากาศที่โคเปนเฮเกน เมื่อปี 2009 ที่ระบุว่า ประเทศที่พัฒนาแล้ว จะต้องให้เงินช่วยเหลือราว 1 แสนล้านดอลลาณ์ต่อปี ให้กับประเทศกำลังพัฒนาภายในปี 2020 เพื่อช่วยในเรื่องเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซ ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไปไม่ถึงที่เป้าหมายดังกล่าว

—————

เรื่อง: ภัทร จินตนะกุล

ภาพ: veeterzy

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง