TNN online Squid Game ดังจริงจัง จนเกาหลีเหนือหยิบมา ‘เฉ่ง’ สังคมเกาหลีใต้

TNN ONLINE

World

Squid Game ดังจริงจัง จนเกาหลีเหนือหยิบมา ‘เฉ่ง’ สังคมเกาหลีใต้

Squid Game ดังจริงจัง จนเกาหลีเหนือหยิบมา ‘เฉ่ง’ สังคมเกาหลีใต้

Squid Game ซีรีส์ยอดนิยมจากเกาหลีใต้ เพิ่งจะกลายเป็นซีรีส์ที่เปิดตัวสวยหรูและได้รับความนิยมจนประสบความสำเร็จถล่มทลายมากที่สุดของ Netflix หลังมีผู้ชมแตะ 111 ล้านคน ในเวลาเพียง 27 วัน นับตั้งแต่ซีรีส์นี้เปิดตัวตอนแรกเมื่อวันที่ 17 กันยายน เป็นซีรีส์ที่มีผู้ชมสูงเป็นอันดับหนึ่งใน 90 ประเทศทั่วโลก และมีการพากษ์กับทำซับไตเติ้ลมากกว่า 30 ภาษา แต่อาจมีประเทศหนึ่ง ที่ดูจะไม่นิยมชมชอบซีรีส์นี้เท่าไหร่ นั่นก็คือ เกาหลีเหนือ

Arirang Meari หนึ่งในเว็บไซต์โฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีเหนือ นำเสนอบทความเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (12 ตุลาคม) เกี่ยวกับเรื่องที่ประชาคมโลกมีความเห็นต่อซีรีส์สุดดังของเกาหลีใต้เรื่องนี้ ที่ผู้ชมจะได้ติดตามเรื่องราวในซีรีส์ ที่สะท้อนถึงความเป็นจริงอันเจ็บปวดของสังคมอันโหดร้ายของเกาหลีใต้


ที่ดูแล้ว ไม่ต่างจากคำกล่าวที่ว่า ผู้ที่เข้มแข็งที่สุดคือผู้อยู่รอด อีกทั้งยังระบุด้วยว่า Squid Game โด่งดังได้ก็เพราะเปิดโปงความเป็นจริงของวัฒนธรรมทุนนิยมของเกาหลีใต้ ที่แสดงให้เห็นว่า เป็นโลกที่ ‘เงินคือพระเจ้า’ ซึ่งเป็นอะไรที่น่ากลัวและสยดสยองสุด ๆ


◾◾◾

🔴 พลอตคร่าว ๆ ของ Squid Game


ในซีรีส์เรื่องนี้ กลุ่มคน 456 คน ซึ่งสิ้นหวังในชีวิตหรือไม่ก็มีหนี้สินล้นตัว ถูกเชิญเข้าไปเล่นเกมที่พวกเขาต้องเอาชีวิตรอดและอาจมีสิทธิ์ชนะเงินรางวัล 45,600 ล้านวอน หรือกว่า 1,200 ล้านบาท หากพวกเขาเล่นเกมชนะทั้ง 6 เกม


แต่พวกเขาต้องตายหากว่าเล่นเกมแพ้ โดยเกมที่พวกเขาต้องเล่นกันดัดแปลงมาจากเกมที่เด็กเกาหลีใต้เล่นกันสมัยเด็ก แต่ใส่ความตายเข้ามาเป็นองค์ประกอบด้วย ทำให้คนดูต้องคอยลุ้นระทึกตลอดเวลา อย่างไรก็ดี ชาวเกาหลีเหนือที่แปรพักตร์เข้ามายังเกาหลีใต้ บอกว่าเกมที่ปรากฎในซีรีส์ ไม่เป็นที่นิยมเล่นนักในเกาหลีเหนือ


Netflix เพิ่งเปิดเผยว่า มีผู้ชมติดตามชม Squid Game ซีรีส์ยอดนิยมจากเกาหลีใต้แล้ว 111 ล้านคน ใช้เวลาเพียง 27 วัน นับตั้งแต่ซีรีส์นี้เปิดตัวตอนแรกเมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ส่งผลให้ Squid Game กลายเป็นซีรีส์ที่เปิดตัวสวยหรูและได้รับความนิยมจนประสบความสำเร็จถล่มทลายมากที่สุดของ Netflix แบบไร้คู่แข่ง แซงหน้าแม้กระทั่ง Bridgerton ซีรีส์โรแมนติกย้อนยุคเรื่องดัง ขึ้นเป็นซีรีส์ที่ Netflix ผลิตเองที่ยอดนิยมที่สุด


◾◾◾

🔴 ช่องว่างรวย-จน ห่างกันมากขึ้น


ฮวัง ดง-ฮยอก ผู้กำกับ Squid Game ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อเดือนที่แล้วว่า เขาต้องการให้ซีรีส์เรื่องนี้สะท้อนช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในโลกใบนี้ ที่กำลังห่างและกว้างขึ้นมากขึ้นทุกขณะ


คนรวยมีแต่จะร่ำรวยขึ้น ส่วนคนจนก็มีแต่จะยากจนลง เป็นเรื่องที่คนทั่วโลกสัมผัสและเข้าถึงได้


◾◾◾

🔴 เกาหลีเหนือไม่ปลื้มวัฒนธรรมเกาหลีใต้


เป็นที่ทราบกันดีว่า เกาหลีเหนือมีประเด็นเกี่ยวกับวัฒนธรรม ‘ป็อป’ ของเกาหลีใต้มาแต่ไหนแต่ไร, ชาวเกาหลีเหนือจำนวนมากมักจะลักลอบส่งอุปกรณ์สำรองข้อมูลขนาดเล็ก ที่ภายในบรรจุเพลงเคป็อป ภาพยนตร์ และรายการยอดนิยมของเกาหลีใต้แบ่งกันดูในหมู่เพื่อนฝูงและครอบครัวมานานแล้ว


แม้อันที่จริง การกระทำเหล่านี้จะถือเป็นความผิดร้ายแรงตามคำสั่งของคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดก็ตาม


เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือออกมาโจมตีวัฒนธรรมเค ป๊อบ ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากเกาหลีใต้ว่าเป็น ‘มะเร็งร้าย’ หรือสิ่งชั่วร้ายที่เข้ามาทำลายวัฒนธรรมตั้งแต่เครื่องแต่งกาย ทรงผม คำพูด และพฤติกรรมของคนหนุ่มสาวในประเทศ หลังพบกลุ่มคนเหล่านี้ได้แอบดูซีรีส์เกาหลี และฟังเพลงเค ป๊อบ ที่ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศจีน ด้วยอุปกรณ์สำรองข้อมูลขนาดเล็กจำนวนมาก


และประกาศสงครามเพื่อหยุดยั้งวัฒนธรรมเค ป๊อบ อย่างต่อเนื่องเพื่้อยืนยันว่าจะควบคุม และจัดการการรุกรานทางวัฒนธรรม รวมถึงออกกฎหมายใหม่ โดยระบุว่า หากผู้ได้ถูกจับได้ว่าดูซีรีส์เกาหลีใต้ และฟังเพลงเค ป๊อบ อาจถูกส่งไปอยู่ในค่ายแรงงานเป็นเวลา 15 ปี


◾◾◾

🔴 แม้ต้านวัฒนธรรม แต่เปิดกว้างมากขึ้น


เห็นได้ชัดว่า เกาหลีเหนือมีจุดยืนต่อต้านวัฒนธรรมส่งออกยอดนิยมของเกาหลีใต้มาโดยตลอด Arirang Meari เคยเผยแพร่บทความเมื่อเดือนมีนาคมว่า สมาชิกวงดนตรีชื่อดังสองวงของเกาหลีใต้ อย่าง BTS และ Blackpink ล้วนถูกกระทำไม่ต่างจากทาส และต้องทนใช้ชีวิตอย่างยากลำบากและน่าสงสาร ไม่ต่างจากถูกคุมขังในเรือนจำเสียด้วยซ้ำ


ส่วนในปี 2019 DPRK Today สื่อโฆษณาชวนเชื่ออีกแห่งของเกาหลีเหนือ ก็ระบุว่า Parasite ภาพยนตร์เกาหลีใต้ที่สร้างชื่อ คว้ารางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ก็ทำให้ผู้ที่ได้ชมรับรู้ว่า สังคมและระบอบทุนนิยมในเกาหลีใต้นั่น ‘ฟอนเฟะ และเต็มไปด้วยเนื้อร้าย’ มากแค่ไหน


อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากมิติด้านวัฒนธรรมป็อปแล้ว เกาหลีเหนือก็ถือว่าเปิดกว้างต่อเกาหลีใต้มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการยอมเปิดใช้งานฮอตไลน์สายด่วนระหว่างกันอีกครั้ง หลังระงับใช้งานไปกว่า 1 ปี รวมถึง คิม จองอึน ยังยืนยันระหว่างการปราศรัยในงานแสดงนิทรรศการด้านกลาโหมเมื่อต้นสัปดาห์ว่า เกาหลีใต้ไม่ใช่เป้าหมายการโจมตีของเกาหลีเหนือ แม้จะเข้าร่วมการซ้อมรบกับสหรัฐฯ ก็ตาม


ขณะเดียวกัน ฮอง มิน นักวิจัยประจำสถาบันเกาหลีเพื่อการรวมชาติแห่งกรุงโซล ชี้ว่า การเข้าถึงสื่อความบันเทิงของเกาหลีใต้ในหมู่คนรวยกับคนจนในเกาหลีเหนือนั้นแตกต่างกันมาก เนื่องจากกลุ่มคนรวยสามารถใช้ตลาดต่าง ๆ ในเกาหลีเหนือเพื่อเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่บรรจุเนื้อหาความบันเทิงเหล่านี้ได้อย่างไม่ยากนัก


แต่กับกลุ่มคนยากจนที่อาศัยอยู่พื้นที่นอกเมืองในเกาหลีเหนือ พวกเขาแทบไม่มีโอกาสเข้าถึงสิ่งนี้ สะท้อนว่า รัฐบาลเกาหลีเหนือมักจะจัดการกับบรรดาสื่อความบันเทิงเกาหลีใต้ ที่ข้ามพรมแดนเข้ามายังเกาหลีเหนืออย่างจริงจัง เนื่องจากทราบดีว่า สื่อเหล่านี้ มีอิทธิพลอย่างสูงต่อความนึกคิดของผู้คนที่มีการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างไร

—————

เรื่อง: ชายแดน คล้ายใยทอง

ภาพ: Reuters

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง