TNN online พลังงาน...ไม่ใช่อาวุธการเมือง ผู้นำรัสเซียกร้าว ไม่เอาเปรียบยุโรป ในวันที่เผชิญวิกฤตขาดแคลนพลังงาน

TNN ONLINE

World

พลังงาน...ไม่ใช่อาวุธการเมือง ผู้นำรัสเซียกร้าว ไม่เอาเปรียบยุโรป ในวันที่เผชิญวิกฤตขาดแคลนพลังงาน

พลังงาน...ไม่ใช่อาวุธการเมือง ผู้นำรัสเซียกร้าว ไม่เอาเปรียบยุโรป ในวันที่เผชิญวิกฤตขาดแคลนพลังงาน

รัสเซียปฏิเสธใช้พลังงานเป็นอาวุธการเมือง ท่ามกลางราคาพลังงานที่กำลังพุ่งสูงขึ้นทั่วยุโรป รวมทั้งแก๊สที่ใช้ในครัวเรือน ส่งผลให้ประชาชนแบกรับภาระเพิ่มมากขึ้น

◾◾◾

🔴 รัสเซียยินดีช่วยเหลือ


เมื่อวันพุธ (13 ตุลาคมประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย แถลงว่า รัสเซียไม่ได้ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นอาวุธทางการเมือง และพร้อมให้ความช่วยเหลือผ่อนคลายวิกฤตพลังงานในยุโรป ขณะที่ สหภาพยุโรป หรืออียู เรียกประชุมฉุกเฉินเพื่อแก้ปัญหาราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก 


รัสเซีย คือ หนึ่งในประเทศผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป ซึ่งถูกกล่าวหาว่า จงใจระงับการจัดส่งก๊าซ


“เราไม่ได้ใช้อาวุธใด ๆ เลย แม้กระทั่งในช่วงที่ยากลำบากที่สุดในยุคสงครามเย็น รัสเซียก็ยังคงปฏิบัติตามข้อผูกพันตามสัญญาและจัดหาก๊าซให้กับยุโรปอยู่เป็นประจำ” ปูตินกล่าว 


◾◾◾

🔴 ยุโรปไม่สำรองก๊าซรับเหตุฉุกเฉิน


ประธานาธิบดีปูติน ซึ่งกล่าวต่อที่ประชุมพลังงานในกรุงมอสโก ระบุว่า คำกล่าวอ้างดังกล่าว “ไร้สาระอย่างสิ้นเชิง และมีแรงจูงใจทางการเมือง” 


และว่า “ไม่มีข้อสนับสนุนใด ๆ ที่จะกล่าวหาว่ารัสเซียใช้พลังงานเป็นอาวุธ แต่ในทางตรงกันข้าม รัสเซียนั้นขยายการจัดส่งพลังงานไปยังยุโรปต่างหาก และขอให้ยุโรปหยุดโยนความผิดให้คนอื่น อันเนื่องมาจากปัญหาวิกฤตพลังงานในภูมิภาคเอง” 


พร้อมตำหนิวิกฤตพลังงานในยุโรปขณะนี้ว่า หลังจากฤดูหนาวรุนแรง ยุโรปไม่ได้สูบก๊าซในปริมาณที่เพียงพอเพื่อไปเก็บสำรองไว้ในโรงเก็บ ซึ่งถือว่า "สำคัญมาก" และเป็นกลไกระยะยาว เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดพลังงาน


◾◾◾

🔴 ก๊าซธรรมชาติไม่เพียงพอ กระทบโลกร้อน


ปูตินย้ำว่า ก๊าซพร้อม บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย จัดส่งแก๊สไปยังยุโรปในระดับที่สูงที่สุดภายใต้ข้อตกลงในปัจจุบัน และพร้อมที่จะจัดส่งเพิ่มให้อีกหากได้รับการร้องขอ โดยรัสเซียจะเพิ่มให้มากเท่าที่หุ้นส่วนร้องขอ ไม่มีการปฏิเสธใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งในปีนี้ รัสเซียได้จัดส่งเพิ่มเติมไปแล้วถึง 15%


ทั้งนี้ ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ เศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มฟื้นตัวอีกครั้งจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ราคาน้ำมัน, แก๊สและถ่านหิน ซึ่งกระตุ้นความกดดันด้านเงินเฟ้อ และทำลายความพยายามในการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน ให้กลับมาพุ่งสูงขึ้น


ด้านคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ร่างมาตรการต่าง  ให้ประเทศสมาชิกนำไปใช้ในการแก้ปัญหาราคาพลังงานแพง ซึ่งราคาขายส่งก๊าซเพิ่มขึ้น 250% ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคและธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นมาก 


อย่างไรก็ตาม ราคาพลังงานพุ่งแตะระดับสูงสุดด้วยเหตุผลหลายอย่าง ซึ่งรวมทั้งความต้องการก๊าซธรรมชาติสูง ขณะที่ เศรษฐกิจฟื้นตัวจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 


◾◾◾

🔴 รัสเซียส่งก๊าซน้อยลงจริงหรือ? 


เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ปูตินเสนอที่จะจัดส่งก๊าซให้กับยุโรปเพิ่มเติม ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวเพื่อช่วยให้ราคาพลังงานมีเสถียรภาพ 


อย่างไรก็ตาม มีกระแสวิพากษ์ว่า รัสเซีย "ตั้งใจ" ที่จะจัดส่งก๊าซให้น้อยลง เพื่อให้ตลาดมีอุปทานไม่เพียงพอ จนก่อให้เกิดวิกฤตดังกล่าว เพื่อเน้นย้ำว่า ยุโรปจำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่รัสเซียยืนกรานปฏิเสธ


ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า รัสเซียได้คุมเข้มเรื่องการจัดส่งก๊าซไปยังยุโรป อันเป็นความพยายามในการเพิ่มแรงกดดันไปที่เยอรมนี ให้เร่งออกใบอนุญาตท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ซึ่งถือว่าเป็นเส้นทางสำคัญ ในการส่งก๊าซจากรัสเซียไปยังยุโรปผ่านทะเลบอลติก 


ทั้งนี้ ท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ก็ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง รวมถึงสหรัฐฯ, โปแลนด์ และยูเครน ซึ่งระบุว่า ท่อส่งนี้ ทำให้ยุโรปจะต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานจากรัสเซีย และจะทำให้ภูมิภาคนี้อ่อนแอลงในแง่ของความมั่นคงด้านพลังงาน 


◾◾◾

🔴 หนึ่งในรายได้หลักของรัฐบาลรัสเซีย


ด้านโฆษกทำเนียบเครมลิน ดมิทรี เปสคอฟ ระบุว่า รัสเซียได้จัดส่งก๊าซให้ยุโรป ในปริมาณที่มากที่สุดตามสัญญาแล้ว และย้ำว่า รัสเซียพร้อมที่จะเพิ่มปริมาณการส่งก๊าซผ่านยูเครน หากยุโรปจะเพิ่มงบประมาณการจัดซื้อ 


ทั้งนี้ รัสเซีย ถือเป็นผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอซซิลรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และจัดส่งให้กับยุโรปมากกว่า 40% จากการนำเข้าพลังงานทั้งหมดของยุโรป


ด้วยเหตุนี้ รัสเซียจึงนับเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกพลังงานที่สำคัญที่สุดของโลก และมีบทบาทที่จะสร้างความแข็งแกร่งและอ่อนแอให้กับพื้นที่ใด ๆ ก็ตาม 


รัสเซียยังใช้แหล่งทรัพยากรเหล่านี้ เป็นตัวหนุนรายได้หลักของรัฐบาล ซึ่งตอนนี้โลกกำลังเริ่มจะเปลี่ยนแปลงจากการใช้พลังงานฟอซซิล ไปเป็นพลังงานสะอาดแทน และนั่นหมายความว่า อาจมีความต้องการที่ลดน้อยลงในอนาคตได้   

—————

เรื่องภัทร จินตนะกุล

ภาพ: Reuters


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง