TNN online ปะการังโลก 14% ตายแล้วในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา หรือเทียบเท่าขนาดจังหวัดขอนแก่น

TNN ONLINE

World

ปะการังโลก 14% ตายแล้วในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา หรือเทียบเท่าขนาดจังหวัดขอนแก่น

ปะการังโลก 14% ตายแล้วในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา หรือเทียบเท่าขนาดจังหวัดขอนแก่น

ปะการังโลก 14% ตายแล้วในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา หรือเทียบเท่าขนาดจังหวัดขอนแก่น

เครือข่ายเฝ้าจับตาแนวปะการังโลก (Global Coral Reef Monitoring Network-GCRMN) เปิดเผยผลการศึกษาใหม่ล่าสุดในวันนี้ (5 ตุลาคม) พบว่า แนวปะการังตายลงเรื่อย ๆ จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดขึ้น

โดยพบว่ามีแนวปะการังทั่วโลกมากถึง 14% ที่ต้องตายลงระหว่างปี 2009-2018 และอาจต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติใต้น้ำเหล่านี้อีกมาก หากว่าอุณหภูมิของท้องทะเลจะยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

◾◾◾
🔴 ปะการังตายเท่าแกรนด์แคนยอน

หากเทียบเป็นสัดส่วนของปริมาณแนวปะการังที่ตายลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น เท่ากับราว 11,700 ตารางกิโลเมตร หรือมากกว่า 2.5 เท่า ของอุทยานแห่งชาติแกรนด์แคนยอน หรือใหญ่กว่าจังหวัดขอนแก่นทั้งจังหวัดเล็กน้อย

"สภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดของแนวปะการังโลก และยังมีแนวโน้มที่ชัดเจนต่อการสูญเสียปะการังเพิ่มขึ้น และเชื่อว่ามันจะยังคงเป็นแบบนี้ต่อไปอีกตามใดที่โลกยังร้อนขึ้นเรื่อย ๆ" พอล ฮาร์ดิสตี ผู้ร่วมทำการศึกษา และเป็นซีอีโอของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งออสเตรเลีย กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีรายงานที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ หรือ UN ซึ่งเป็นการเก็บเครือข่ายข้อมูลขนาดใหญ่ที่สุดของสุขภาพแนวปะการังในช่วง 40 ปี จากแนวปะการัง 12,000 แห่ง ใน 73 ประเทศ

ผลการศึกษาพบว่า ระเบิดไดนาไมต์ที่ใช้ในการจับปลา และมลพิษ ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความสูญเสียของแนวปะการัง ซึ่งทำให้ระบบนิเวศน์ใต้ท้องทะเลสูญเสียสมดุลลง

ขณะที่มีผลการศึกษาอีกหนึ่งฉบับที่เผยแพร่เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในวารสาร One Earth พบว่า แนวปะการังทั่วโลกตายลงมากถึงครึ่งหนึ่ง นับตั้งแต่ยุคปี 1950s ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า เป็นผลจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง, การประมงที่เกินขนาด และมลพิษ ที่ส่งผลให้ระบบนิเวศน์พังลง

◾◾◾
🔴 ปะการังฟอกขาว ต้นตอความสูญเสียสำคัญ

แนวปะการังในเอเชียใต้, ออสเตรเลีย, แปซิฟิก, เอเชียตะวันออก ทางตะวันตกของมหาสมุทรอินเดีย ตลอดจนอ่าวโอมาน พบว่าเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด

ผลการศึกษาระบุว่า การสูญเสียแนวปะการังเหล่านี้ ล้วนเกิดขึ้นจากการฟอกขาวของปะการัง

"ปะการังฟอกขาว" เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปะการังอยู่ในทะเลที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้สาหร่ายที่มีสีสันต่าง ๆ (zooxanthellae) ที่อาศัยอยู่ในตัวปะการัง จะเป็นตัวคอยสร้างอาหารให้ปะการัง

เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ทำให้สาหร่ายเหล่านี้ค่อย ๆ ทิ้งปะการังไป ส่งผลให้ปะการังไม่สามารถหาอาหารด้วยตัวเองได้ นำมาสู่การค่อย ๆ สูญเสียสีสัน และเกิดการฟอกขาวในที่สุด และหากฟอกขาวเป็นเวลานาน พวกมันก็จะตายลง และไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับคืนมาได้อีกเลย

ข้อมูลจากการศึกษาพบว่า เหตุปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่เมื่อปี 1998 เพียงปีเดียว ทำให้ต้องสูญเสียปะการังทั่วโลกถึง 8%

"นับตั้งแต่ปี 2009 โลกเราได้สูญเสียแนวปะการัง มากกว่าปะการังที่ยังมีชีวิตในออสเตรเลียเสียอีก" อิงเกอร์ แอนเดอร์สัน ผู้อำนวยการ UNEP กล่าว

"เราสามารถเรียกคืนความสูญเสียเหล่านี้ได้...แต่เราต้องทำมันเดี๋ยวนี้" แอนเดอร์สัน ย้ำ

◾◾◾
🔴 ปะการังบางส่วน กลับมามีชีวิตอีกครั้งได้

นักวิทยาศาสตร์พบว่า มีปะการังที่ตายลงแล้วราว 2% ที่กลับคืนมามีชีวิตได้ในปี 2019 นั่นบ่งชี้ว่า แนวปะการังก็สามารถฟื้นกลับคืนมาได้ หากได้รับการดูแลจากสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายต่อพวกมัน

"แนวปะการังบางแห่งแสดงให้เห็นว่า มันสามารถกลับคืนมามีชีวิตได้ ซึ่งทำให้เกิดความหวังสำหรับการฟื้นฟูแนวปะการังเหล่านี้ในอนาคต" ฮาดิสตี กล่าว

ทั้งนี้ ปะการังคิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 1% ของพื้นที่ท้องทะเลทั่วโลก แต่มันกลับเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลมากถึง 25% เพราะแนวปะการังเป็นแหล่งที่อยู่สำคัญของเหล่าปลาทะเล อีกทั้งยังเป็นแนวปกป้องชายหาดจากคลื่นทะเลอีกด้วย

อีกทั้ง แนวปะการังทั่วโลก ยังสามารถสร้างมูลค่าเป็นเงินได้มากถึง 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 80 ล้านล้านบาท จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว, การบริการ และอื่น ๆ

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง