TNN online ตาลีบันกำลังย้อนสู่ยุคสุดโต่ง เริ่มแขวนศพประจาน ถึงห้ามโกนหนวดเครา

TNN ONLINE

World

ตาลีบันกำลังย้อนสู่ยุคสุดโต่ง เริ่มแขวนศพประจาน ถึงห้ามโกนหนวดเครา

ตาลีบันกำลังย้อนสู่ยุคสุดโต่ง เริ่มแขวนศพประจาน ถึงห้ามโกนหนวดเครา

กลุ่มตาลีบันให้คำมั่นจะดำเนินนโยบายสายกลาง ไม่สุดโต่งเหมือนสมัยก่อน แต่กลับมีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน จำกัดสิทธิสตรีเกิดขึ้นมากมายทั่วประเทศ รวมถึงการเตรียมนำเอากฎหมายเดิม ๆ ที่แสนจะโหดร้ายกลับมาใช้อีกครั้ง

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าว AP รายงานว่า กลุ่มตาลีบันได้วิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยลักพาตัว 4 คน ระหว่างปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกัน


จากนั้นกลุ่มตาลีบัน จะแขวนศพผู้ก่อเหตุทั้่ง 4 ศพ บนเครนยก ในพื้นที่ใจกลางเมืองเฮรัต เพื่อเป็นการ ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’ แก่ประชาชน


ชาวอัฟกานิสถานที่เห็นเหตุการณ์บอกกับสำนักข่าว AP ว่า ศพผู้เสียชีวิตทั้ง 4 ร่าง ถูกนำมาที่จัตุรัสใจกลางเมือง คนหนึ่งถูกแขวนที่ใจกลางจัตุรัส ส่วนอีก 3 ศพ ถูกนำไปแขวนยังจัตุรัสแห่งอื่น ๆ ของเมือง เพื่อเป็นการเตือนประชาชนไม่ให้เอาเป็นเยี่ยงอย่าง


รองผู้ว่าการเมืองเฮรัต บอกกับสื่อท้องถิ่นว่า นักรบตาลีบันติดตามผู้ก่อเหตุลักพาตัวทั้ง 4 และยิงสังหารระหว่างการต่อสู้ จากนั้น “เราจึงแขวนศพผู้ก่อเหตุที่จัตุรัสต่าง ๆ ในเมืองเฮรัต เพื่อเตือนไม่ให้คนที่คิดจะลักพาตัวผู้อื่น กระทำเป็นแบบอย่าง”


ภาพที่เผยแพร่ในสังคมออนไลน์ แสดงให้เห็นร่างผู้เสียชีวิตถูกแขวนอยู่บนเครนยก และที่อกมีป้ายเขียนว่า “มือลักพาตัวจะถูกลงโทษเช่นนี้"


หนวดเคราก็ห้ามโกน


ล่าสุด หน่วยงานตำรวจศาสนาของตาลีบัน ออกคำสั่งร้านทำผมและร้านตัดผมในจังหวัดเฮลมานด์ห้ามโกนเคราให้ลูกค้าผู้ชายที่มาใช้บริการ เนื่องจากเป็นการขัดต่อกฎระเบียบการตีความตามกฎหมายอิสลาม หรือชารีอะห์ ผู้ที่ละเมิดคำสั่งถือว่ามีความผิดและจะต้องถูกลงโทษ


เจ้าของร้านตัดผมชายในกรุงคาบูลหลายร้านบอกกับสื่อว่า ได้รับคำสั่งดังกล่าวจากหน่วยงานตำรวจศาสนาของตาลีบันเช่นกัน ว่าห้ามโกนเคราให้ลูกค้าหรือทำผมให้ลูกค้าแบบคนอเมริกันหรือชาวตะวันตก


นี่ถือเป็นการออกคำสั่งในเรื่องการไว้เคราของผู้ชายชาวอัฟกันเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ขึ้นครองอำนาจในอัฟกานิสถานเมื่อเดือนสิงหาคม


ตาลีบันเคยประกาศห้ามผู้ชายโกนเครา และห้ามไว้ผมตัดสั้นทรงชาวตะวันตก ในที่ช่วงปกครองอัฟกานิสถานระหว่างปี 1996-2001


อย่างไรก็ดี หลังจากสิ้นสุดยุคตาลีบัน ชาวอัฟกันจำนวนมากก็หันมาไว้ผมสั้นหรือทรงที่ตัดอย่างทันสมัยตามแบบชาวตะวันตกที่เข้ามาอยู่ในอัฟกานิสถาน และไว้เคราอันเป็นรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตาลีบันกันน้อยลง


โทษประหารชีวิตจะกลับมา


มุลเลาะห์ นูรุดดิน ทูราบี อดีตผู้บัญชาการตำรวจศรัทธา ซึ่งดูแลการบังคับใช้กฎหมายอิสลามของกลุ่มตาลีบัน และปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมราชทัณฑ์ของรัฐบาลตาลีบัน บอกกับสำนักข่าว AP ว่า การลงโทษด้วยการตัดอวัยวะ อาทิ แขนและขา เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสร้างความมั่นคง


เขายังระบุอีกว่า โทษสูงสุดที่กลุ่มตาลีบันจะนำกลับมาใช้ปกครองอัฟกานิสถาน คือการประหารชีวิต แต่ย้ำว่า จะไม่ลงโทษประหารชีวิตและตัดแขนขา แบบต่อหน้าสาธารณชน เหมือนสมัยที่ตาลีบันเคยปกครองประเทศช่วงปี 1995-2001


ช่วงไม่กี่วันก่อนที่ตาลีบันจะยึดกรุงคาบูลได้ ผู้พิพากษาตาลีบันในเมืองหนึ่ง เคยบอกกับสำนักข่าว BBC ว่า “กฎหมายอิสลามของเราชัดเจนมาก ใครก็ตามที่มีเพศสัมพันธ์ทั้งที่ยังไม่แต่งงาน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย จะถูกเฆี่ยน 100 ครั้ง”


“ส่วนใครที่มีเพศสัมพันธ์กับบุคคลนอกสมรส จะถูกปาหินจนตาย...คนที่ขโมย และพบว่ามีความผิด จะถูกตัดมือทิ้ง”


สหรัฐฯ ประณาม ตาลีบันไม่ทำตามสัญญา


ประเด็นนี้ทำให้ นายเน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ แถลง ประณามเจ้าหน้าที่ตาลีบัน ที่ออกมาบอกว่า ตาลีบันจะรื้อฟื้นการใช้โทษประหาร และการตัดแขนขา


เมื่อวันพฤหัสบดี (23 กันยายน) ฮิวแมน ไรท์ วอช เตือนว่ากลุ่มตาลีบันในเมืองเฮรัต กำลังตามหาผู้หญิงที่มีอิทธิพลสูง และสั่งห้ามผู้หญิงไม่ให้ออกจากบ้าน รวมถึงบังคับให้ผู้หญิงแต่งกายในชุดตามศาสนาอิสลามอย่างมิดชิด


ไม่เพียงเท่านั้น องค์กรนิรโทษกรรมสากล เคยระบุว่า นักรบตาลีบันอยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่ครอบครัวชนกลุ่มน้อย เสียชีวิตยกครัว 9 คน


ควรยอมรับรัฐบาลตาลีบันหรือไม่


ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้กระทรวงต่างประเทศอิตาลี ออกมาประกาศว่าอิตาลีจะไม่ทำการรับรองรัฐบาลตาลีบัน และขอให้รัฐบาลต่างประเทศ ไม่ให้การรับรองรัฐบาลตาลีบันด้วย


แต่ขณะเดียวกันได้ขอให้ชาวอัฟกันได้รับการสนับสนุนด้านการเงิน ที่ถูกอายัดเอาไว้ แต่ไม่ใช่หมายความว่าให้การสนับสนุนการเงินแก่กลุ่มตาลีบัน เนื่องจากว่าหากการเงินอัฟกานิสถานล่มสลาย ก็จะยิ่งนำมาสู่ปัญหาผู้อพยพชาวอัฟกันมหาศาล


ลุยจิ ดิ ไมโอ ระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้การรับรองรัฐบาลตาลีบัน เพราะมีผู้ก่อการร้ายที่ต่างชาติหมายหัวถึง 17 คน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่าง ๆ อีกทั้งสิทธิของสตรีและเด็กผู้หญิงก็ถูกกีดกันอย่างมาก


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง