TNN online อัฟกานิสถาน กับวิกฤตความอดอยากใต้เงาตาลีบัน

TNN ONLINE

World

อัฟกานิสถาน กับวิกฤตความอดอยากใต้เงาตาลีบัน

อัฟกานิสถาน กับวิกฤตความอดอยากใต้เงาตาลีบัน

ผ่านมาหนึ่งเดือนกว่า ๆ แล้วตั้งแต่ตาลีบันยึดอำนาจในอัฟกานิสถาน ขณะนี้ เงินสดอยู่ในภาวะขาดแคลน และประเทศกำลังก้าวเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่

ณ พรมแดนอัฟกานิสถานที่ติดกับอุซเบกิสถาน รถไฟบรรทุกสินค้าแล่นผ่านสะพานแห่งหนึ่ง ล้อเหล็กบดกับรางเสียงดังชัดเจน เข้าสู่ “เอมิเรตอิสลามแห่งอัฟกานิสถาน" (Islamic Emirate of Afghanistan) ชื่อใหม่ที่ตาลีบันประกาศสถาปนาขึ้น


ธงขาว-ดำ ของตาลีบัน สะบัดไหวอยู่ถัดจากธงชาติของอุซเบกิสถาน พ่อค้าแม่ค้าบางส่วนแสดงความยินดีกับการคืนสู่อำนาจของตาลีบัน คนขับรถบรรทุกส่งข้าวสาลี บอกว่า ในอดีตที่ผ่านมา เขามักถูกบังคับให้ต้องจ่าย “ส่วย” แก่ตำรวจคอร์รัปชั่นทุกครั้งที่ขับรถผ่านจุดตรวจของพวกเขา


“แต่ตอนนี้ไม่มีแบบนั้นแล้ว” เขากล่าว “ผมสามารถขับรถไปได้ทุกที่จนถึงกรุงคาบูล โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินแม้แต่สตางค์แดงเดียว”


แต่อัฟกาฯ กำลังเจอวิกฤตเศรษฐกิจ


ผ่านมาหนึ่งเดือนกว่า ๆ แล้วตั้งแต่ตาลีบันยึดอำนาจในอัฟกานิสถาน ขณะนี้ เงินสดอยู่ในภาวะขาดแคลน และประเทศกำลังก้าวเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่


แหล่งข่าวในชุมชนธุรกิจ บอกนักข่าวว่า ระดับการค้าการขายลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะบรรดาผู้นำเข้าชาวอัฟกัน ไม่สามารถจ่ายเงินค่าสินค้าได้


มาอุลวี ซาอีด หัวหน้าศุลกากรของตาลีบันประจำเมืองท่าไฮราตัน ที่มีพรมแดนติดกับอุซเบกิสถานกล่าวว่า กลุ่มตาลีบันกำลังลดอัตราภาษีเพื่อส่งเสริมการค้า และต้องการกระตุ้นให้พ่อค้าผู้มั่งคั่งเดินทางกลับประเทศ “มันจะเป็นการสร้างงานให้ผู้คน และนักธุรกิจจะได้รับรางวัลในชีวิตหลังความตาย” เขากล่าว


ปากท้อง มันรอไม่ได้


ขับรถไปอีกประมาณ 1 ชั่วโมง คือเมืองมาซาร์-ไอ-ชารีฟ เมืองใหญ่อันดับ 4 ของอัฟกานิสถาน ดูผิวเผิน ชีวิตของผู้คนก็ยังคงดำเนินไปตามปกติ แม้ว่าหลายคนกำลังประสบปัญหาทางการเงิน


ส่วนในกรุงคาบูล เมืองหลวงของประเทศ เป็นอีกเมืองหนึ่งที่ยังรอให้ชีวิตใหม่ได้ก่อร่างสร้างตัว หลายอย่างขึ้นอยู่กับเจตจำนงและความตั้งใจแบบตามอำเภอใจของผู้นำชุดใหม่ของตาลีบัน แต่ความหิวโหยไม่สามารถรั้งรออะไรได้ ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในวิกฤตที่เลวร้ายที่สุดในหลาย ๆ อย่างของอัฟกานิสถาน ที่กำลังก่อตัวขึ้นในขณะนี้


สำหรับคนยากจนส่วนใหญ่ ซึ่งกว่าจะเก็บเงินเศษเล็กเศษน้อยรวมกันได้ 200-300 อัฟกานี หรือประมาณ 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อขจัดความอดอยาก ถือเป็นความท้าทายที่ใหญ่ที่สุด


หลายล้านชีวิตที่อาศัยอยู่ด้วยความยากจนข้นแค้นในประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือด้วยเงินก้อนโตจากต่างประเทศ เงินที่เหลืออยู่อาจพอช่วยพวกเขาได้บ้าง แต่ทุนสำรองที่อยู่ในธนาคารกลางประมาณ 9,000 ล้านดอลลาร์สหรฐฯ หรือราว 300,546 ล้านบาท ถูกสหรัฐฯ อายัด เพื่อป้องกันไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของตาลีบัน


มีงานก็มีเงิน ไม่มีก็อดข้าว


เช้ามืดก่อนแสงตะวันจับขอบฟ้า คนงานก่อสร้างหลายร้อยคน มารวมตัวกันที่ตลาดกลางแจ้งแห่งหนึ่งในกรุงคาบูล พร้อมเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์การก่อสร้าง เพื่อรองานไปวัน ๆ นั่นคือชีวิตผู้ใช้แรงงานหาเช้ากินค่ำพอประทังชีวิต มีงานก็มีเงินซื้อข้าวปลาอาหาร หากไม่มีงานวันนั้นคงต้องทนหิว เพราะหมายถึงอาจไม่มีเงินซื้อหาอาหารเพียงพอกับความต้องการ


โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในเมืองหยุดชะงักไป ธนาคารหลายแห่งปิดทำการ ที่แลกเงินตราต่างประเทศก็ปิด ทำให้จำนวนเงินสดที่เหลืออยู่ น้อยเต็มที


โชคชะตาที่ถูกปล้นไป


คนงานก่อสร้างถูกเลือกให้ไปทำงานจำนวนหนึ่ง ส่วนที่เหลือรู้สึกโกรธแค้นไม่พอใจ


นายฮายัต ข่าน คือหนึ่งในนั้น เขาโกรธมากที่โชคชะตาถูกปล้นไปโดยชนชั้นผู้นำที่ทุจริตคอร์รัปชั่น ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา


“กลุ่มคนที่มีฐานะร่ำรวย คิดถึงแต่ตัวเอง ไม่ได้ห่วงคนยากจน ผมไม่มีเงินพอแม้แต่ซื้อขนมปัง เชื่อไหม ผมไม่สามารถหาเงินได้แม้แต่ดอลลาร์เดียว และพวกคนร่ำรวยก็รับเงินช่วยเหลือจากชาติตะวันตกเข้ากระเป๋าตัวเอง”


“ไม่มีใครสนใจคนยากจนเลย เมื่อความช่วยเหลือจากต่างประเทศมาถึง พวกที่อยู่ในอำนาจให้ความช่วยเหลือกับญาติพี่น้องของพวกเขาเองก่อน ไม่ใช่คนยากจน”


อเมริกานั่นแหละ...โจร?


โมฮัมเหม็ด อันวาร์ ยังโชคดีที่มีงานทำในออฟฟิศ, หยุดฟังการสัมภาษณ์คนงานก่อสร้างของนักข่าว BBC จากนั้นก็แอบพูดเป็นภาษาอังกฤษ กล่าวหาว่า อเมริกาคือโจร


“ในนามพระอัลเลาะห์ เราเรียกร้องให้อเมริกาคืนทรัพย์สินเงินทองของเราที่พวกเขานำออกไปจากรัฐบาลอัฟกานิสถาน มันต้องถูกใช้เพื่อฟื้นฟูบูรณะประเทศ”


เมื่อถึงจุดนั้น เจ้าหน้าที่ตาลีบันคนหนึ่ง ซึ่งเป็นชายร่างกำยำไว้เคราสีดำเป็นพวง ก็เข้ามาแทรกแซง เขาบอกให้เราออกจากพื้นที่โดยบอกว่ามันอันตราย


นักข่าว BBC ไม่ได้รู้สึกว่าจะมีภัยคุกคามใด ๆ เกิดขึ้น แต่ก็นั่นแหละ มันไม่ใช่เวลาและสถานที่ที่จะมาโต้เถียง เขาถูกประกบโดยบอดี้การ์ดของตาลีบัน ที่สวมแว่นกันแดดแวววาววิบวับ ในสไตล์ทหารอเมริกัน และถือปืนไรเฟิลที่ผลิตโดยสหรัฐฯ


นักรบของตาลีบันเตร็ดเตร่อยู่ใจกลางเมืองหลวงของสาธารณรัฐที่พวกเขาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “รัฐอิสลาม” (Islamic emirate) ส่วนที่สนามบิน พวกเขาแต่งชุดทหารอเมริกา


ส่วนใหญ่ นักรบตาลีบันสวมชุดพื้นเมืองที่คุ้นตากันเป็นอย่างดีที่เรียกว่า ซาลวาร์ กามีซ หรือ salwar kameez และผ้าโพกหัวสีดำที่เต็มไปด้วยฝุ่น ทุกคนถือปืนไรเฟิล เห็นได้ทั่วไป


(shalwar เป็นส่วนของกางเกงแบบหลวมๆ ขาส่วนบนกว้าง แต่ส่วนล่างแคบถึงข้อเท้า จีบที่ขาหรือรอบเอวมีสายคาดรัดเอว มีความสะดวกในการสวมใส่ เพราะส่วนขาไม่รัดมาก เดินได้สะดวก ส่วน kameez เป็นเสื้อตัวยาวคลุมถึงเข่า ใส่สวมทับซาลวาร์ เสื้อตัวยาวนี้ผ่าด้านข้าง เปิดตะเข็บสองข้างตั้งแต่ช่วงสะดือลงมา ทำให้ผู้สวมใส่เคลื่อนไหวได้อย่างสะดวกสบาย)


เสียงกรีดร้องแห่งความสิ้นหวัง


“เสียงคร่ำครวญโศกเศร้าส่วนใหญ่ที่ผมได้ยินในกรุงคาบูลในสัปดาห์ที่แล้ว คือ ราคาอาหารและความสิ้นหวังท้อแท้ของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องดิ้นรนหาอาหารเลี้ยงลูก ๆ ของพวกเขา ราคาอาหารถีบตัวสูงขึ้น ผู้คนหลายล้านคนต่อสู้ดิ้นรนหาเลี้ยงปากท้องและครอบครัว” ผู้สื่อข่าว เล่า


องค์การอาหารโลก หรือ WFP ประเมินว่า ประมาณร้อยละ 93 ของชาวอัฟกัน ไม่มีอาหารกินเพียงพอ ซึ่งก่อนที่ตาลีบันบุกเข้ายึดประเทศเมื่อเดือนที่แล้ว อยู่ที่ 80% ถึงขนาดชาวอัฟกันบางส่วนที่พอมีทรัพย์สินมีค่าอยู่บ้าง ต้องนำออกมาขายเพื่อให้ได้เงินสดเพียงเล็กน้อย นำมาใช้จ่าย ส่วนใหญ่เพื่อซื้ออาหาร


แต่ละวันจะมีเกวียนขนสิ่งของที่พอจะมีราคาค่างวดจากบ้านเรือนประชาชน ไล่ไปตั้งแต่พรม หรือทีวี ที่พอขายได้ ไปจนถึงถ้วยโถโอชามและมีดพร้าสารพัด มีชายคนหนึ่งขายกระทั่งต้นยางแค่ต้นเดียว อย่างไรก็ตาม มีแต่คนนำของเก่าของมาขาย และกำลังซื้อน้อยเต็มที เพราะไม่มีเงินสด ตลาดมือสองที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ต่างพากันสิ้นหวัง


สถานการณ์อาจเลวร้ายลงอีก


ภัยคุกคามต่อเสรีภาพส่วนบุคคล, การศึกษาของเด็กผู้หญิงและสิทธิของสตรีในการทำงาน ถูกประณามจากทั่วโลก แต่โอกาสของการเข้านอนพร้อมกับความหิวโหย คือปัญหาเร่งด่วนกว่าอะไรทั้งหมดในขณะนี้ หลายประเทศที่ต้องการช่วยเหลือชาวอัฟกัน แต่ปฏิเสธที่จะช่วยตาลีบัน และทั้งหมดต่างก็เผชิญหน้ากับการกลืนไม่เข้าคลายไม่ออกครั้งใหญ่ จะช่วยอย่างไรไม่ให้ผ่านตาลีบัน


สำหรับประชาชนที่สามารถทำงานหาเงินได้ ก็พอมีอยู่มีกิน ตาลีบันต้องบริหารอัฟกานิสถานไปให้รอด แต่หลายฝ่ายในสหรัฐฯ, อังกฤษและประเทศอื่น ๆ ที่เคยต่อสู้กับตาลีบัน จะมองว่ามันยากที่ศัตรูเก่าของพวกเขาจะทำอะไรสำเร็จได้


สถานการณ์ตอนนี้ อาจเลวร้ายลงอีก โอกาสความทุกข์ยากที่จะเกิดกับประชาชนมีมากขึ้น, ผู้ลี้ภัยมากขึ้น, เด็กอดอยากขาดอาหารมากขึ้น, มีความเสี่ยงที่อัฟกานิสถานจะกลายเป็นรัฐล้มเหลวอีกครั้ง และท้ายที่สุดก็กลายเป็นสวรรค์ของกลุ่มหัวรุนแรง ที่จะใช้โอกาสแบบนี้เข้ามาซ่องสุมกำลังกันอีก ปัญหาก็จะวนกลับไปที่เดิมซ้ำซาก


ขายทุกอย่าง เพื่อหนีออกจากประเทศ


มีครอบครัวหนึ่งระดมเงินได้มากพอ แฟลตที่พักของพวกเขาแทบจะว่างเปล่า สิ่งของมีค่าต่าง ๆ ถูกขายเกลี้ยงในตลาดมือสอง เพื่อระดมเงินให้พวกเขาได้ใช้จ่ายระหว่างเดินทางออกจากอัฟกานิสถาน ไปยังปากีสถาน


แม่ ซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ เป็นคนหาเลี้ยงครอบครัวเพียงคนเดียว ด้วยการสอนนักเรียนวิศวกรรมไฟฟ้า ซึ่งเป็นนักเรียนชายล้วน เพราะฉะนั้น กลุ่มตาลีบันจึงห้ามเธอทำงานนี้ และยังห้ามลูกสาวคนเล็กของเธอเรียนหนังสือด้วย


เธอพูดอย่างสำรวมมีสติ แต่เสียงของเธอสั่นเครือด้วยการสะอื้น เมื่อถูกถามเธอว่ามันยากแค่ไหนที่เธอจะพาครอบครัวออกจากบ้าน


“ฉันเศร้าและเสียใจมาก หัวใจของฉันร้อนรุ่มดังถูกไฟเผาผลาญตั้งแต่วันที่ตัดสินใจทิ้งบ้านมา ฉันทำได้อย่างไร แต่ฉันจะทำอะไรได้?”


“หากพวกเรายังอยู่ที่บ้าน ฉันไม่คิดว่า พวกเขาจะปล่อยให้พวกเราออกไปทำงาน หรืออนุญาตให้พวกเราได้เรียนหนังสือกัน แล้วฉันจะเลี้ยงครอบครัวได้อย่างไร? ตัวฉันทนได้กับความหิวโหย แต่คงไม่สามารถทนเห็นลูก ๆ อดอยากได้”


ความฝันของพวกเขามักเปราะบางอยู่เสมอในรัฐที่เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งไม่สามารถอยู่รอด เมื่อไม่มีผู้สนับสนุนต่างชาติเหมือนเดิม


อาหาร, ความมั่นคงและความหวัง คือวิกฤตใหม่ของอัฟกานิสถาน


พวกเขาจากไปด้วยความสิ้นหวังและความโกรธ

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง