TNN online ประชุมสมัชชาใหญ่ UN ร้อนแรง ชาติ EU หนุนฝรั่งเศสจู่โจมสหรัฐฯ

TNN ONLINE

World

ประชุมสมัชชาใหญ่ UN ร้อนแรง ชาติ EU หนุนฝรั่งเศสจู่โจมสหรัฐฯ

ประชุมสมัชชาใหญ่ UN ร้อนแรง ชาติ EU หนุนฝรั่งเศสจู่โจมสหรัฐฯ

การประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติปีนี้ ร้อนแรงตั้งแต่เริ่มต้น จากวิกฤตทางการทูตระหว่างฝรั่งเศส และสามชาติไตรภาคี ‘ออคุส’ ขณะที่สหภาพยุโรป หรือ EU หนุนหลังฝรั่งเศส ตั้งคำถามแหลมคมต่อสหรัฐฯ นี่คือ “อเมริกาคนเดิมที่กลับมาแล้ว” ตามที่ประธานาธิบดี “ไบเดน” เคยประกาศไว้ จริงหรือ

การประชุมสมัชชาใหญ่ UN ประจำปีนี้ ได้เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่โควิด-19 ระบาดทั่วโลก ที่ผู้นำโลกเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมแบบพบหน้า


ชาติ EU ได้แสดงท่าทีสนับสนุนฝรั่งเศส ก่อนที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน มีกำหนดจะกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่ UN ในช่วงสายของวันนี้ ตามเวลาท้องถิ่น ตรงกับเวลาประมาณ 21.00 น. คืนนี้ (21 กันยายน) ตามเวลาในบ้านเรา


วิกฤตการทูตจากข้อตกลงออคุส ที่เป็นความร่วมมือของสามชาติคือ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ทำให้สหภาพยุโรปออกโรงป้องฝรั่งเศสที่ได้รับผลกระทบอย่างมหาศาลจากข้อตกลงดังกล่าว


EU ออกโรงป้องฝรั่งเศส


นายชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป แถลงต่อสื่อมวลชนที่สำนักงานใหญ่ UN ที่นิวยอร์กเมื่อวันจันทร์ (20 กันยายน) ว่า หลักการพื้นฐานของการเป็นพันธมิตรคือความโปร่งใสและความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งทั้งหมดต้องไปด้วยกัน แต่สิ่งที่เราสังเกตเห็นคือ การขาดความโปร่งใสและความซื่อสัตย์


มิเชลกล่าวว่า ชาวยุโรปต้องการความชัดเจนและพยายามทำความเข้าใจว่าอะไรคือเจตนาของการประกาศนี้


ข้อตกลงออคุสนั้น จะทำให้ยุโรปพยายามมากขึ้นในการสร้างแสนยานุภาพการป้องกันตนเองด้วย และความเคลื่อนไหวของยุโรปนั้นจะไม่ถือเป็นการต่อต้านพันธมิตร เพราะหากยุโรปแข็งแกร่งขึ้น ย่อมหมายความว่าพันธมิตรของยุโรปก็แข็งแรงขึ้นเช่นกัน


อเมริกาคนเดิมกลับมาแล้ว?


ประธานคณะมนตรียุโรปยังตั้งคำถามระหว่างแถลงข่าวด้วยว่า อเมริกา “คนเดิม” กลับมาแล้วจริงหรือ ซึ่งเป็นคำที่ไบเดนเคยประกาศให้โลกได้รับรู้ว่า รัฐบาลของเขาเป็นการกลับมาของอเมริกาที่เป็นคนเดิม ก่อนหน้ายุคอดีตประธานาธิบดีทรัมป์


มิเชลกล่าวว่า “กับทรัมป์ อย่างน้อยก็มีความชัดเจนมาก ทั้งน้ำเสียง สาระ และภาษา ชัดเจนมากว่า EU ไม่ใช่หุ้นส่วนหรือพันธมิตรที่มีประโยชน์ในความเห็นของเขา”


ด้านโซฟี วิลเมส รัฐมนตรีต่างประเทศเบลเยี่ยม กล่าวว่า การตัดสินใจเรื่องสัญญาเรือดำน้ำนั้น เหมือนฟ้าผ่าลงที่ฝรั่งเศสก่อน แต่ก็ผ่าลงที่ยุโรป และสำหรับโลกในระดับภูมิยุทธศาสตร์ด้วย ยุโรปจำเป็นต้องมีปากมีเสียงมากกว่านี้และแสดงออกมาในเวทีโลก


ด้านโจเซฟ บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของ EU กล่าวหลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ EU ควบคู่ไปกับการประชุม UNGA ว่า รัฐมนตรีต่างประเทศ EU ได้แสดงความเป็นอันหนึ่งใจเดียวกันกับฝรั่งเศส และได้เรียกร้องให้ชาติสมาชิกอียูร่วมมือกันให้มากขึ้นในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก


ทั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนว่า ความขัดแย้งระหว่างออสเตรเลียกับฝรั่งเศสซึ่งเป็นสมาชิก EU ครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อการเจรจาการค้ารอบต่อไป ระหว่าง EU กับออสเตรเลีย ที่จะมีขึ้นในวันที่ 12 ตุลาคมนี้หรือไม่


ฝรั่งเศสเรียกร้อง EU คิดหนักเกี่ยวกับสหรัฐฯ


ฌอง อีฟส์ เลอ ดริยอง รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติในนิวยอร์กเช่นกัน ได้เรียกร้องให้ EU คิดให้หนักเกี่ยวกับพันธมิตรหลังเกิดความขัดแย่งเรื่องเรือดำน้ำ


เลอ ดริยอง กล่าวว่า ประเด็นแรกคือการละเมิดความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างพันธมิตร เขาจึงเรียกร้องให้ยุโรปคิดอย่างหนัก


ก่อนหน้านี้ เลอ ดริยอง กล่าวหาสหรัฐฯว่าทรยศ และออสเตรเลียแทงข้างหลัง และเขายังประณามอีกครั้งว่าการประกาศพันธมิตรไตรภาคีของประธานาธิบดีไบเดนเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมานั้น เป็นการประกาศที่โหดเหี้ยม


เขาย้ำว่า ความเป็นพันธมิตรฝรั่งเศส-อเมริกานั้นหมายถึงความโปร่งใส่ การอธิบาย การพูดหารือกัน ซึ่งทั้งหมดต้องการการอธิบายอย่างชัดเจนในวันนี้


นอกจากนี้ เลอ ดริยอง ยังประณามทิศทางที่นำไปสู่การเผชิญหน้ากับจีนของสหรัฐฯด้วยและกล่าวว่าเสียใจที่ยุโรปถูกตัดออกจากยุทธศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิกของสหรัฐฯ


ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย บรรลุข้อตกลงพันธมิตรสามฝ่ายออคุส เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อผนึกกำลังต้านอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อข้อตกลงลงที่ออสเตรเลียลงนามกับฝรั่งเศสในปี 2016 เพื่อซื้อเรือดำน้ำ 12 ลำมูลค่า 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.3 ล้านล้านบาท มีอันต้องถูกยกเลิกไป


ออสเตรเลียอ้างว่า ข้อตกลงเรือดำน้ำแบบดั้งเดิมที่ทำไว้กับฝรั่งเศสนั้นไม่เพียงพอต่อการทำให้ศักยภาพเรือดำน้ำของออสเตรเลียทันสมัยในหลายทศวรรษต่อจากนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดกับจีน ออสเตรเลียจึงหันไปร่วมมือกับสหรัฐฯในการสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์แทน


ข้อตกลงใหม่กับสหรัฐฯจะทำให้ออสเตรเลียกลายเป็นชาติที่เจ็ดของโลกที่จะมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์


นอกจากนี้ ออคุสยังครอบคลุมการแบ่งปันศักยภาพด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีใต้น้ำอื่น ๆ ระหว่างสามชาติไตรภาคีด้วย



ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง