TNN online ไข้ปริศนาระบาด! เด็กในอินเดียเสียชีวิตหลายสิบใน 7 วัน

TNN ONLINE

World

ไข้ปริศนาระบาด! เด็กในอินเดียเสียชีวิตหลายสิบใน 7 วัน

ไข้ปริศนาระบาด! เด็กในอินเดียเสียชีวิตหลายสิบใน 7 วัน

พบเด็กๆในหลายเขตของอินเดียป่วย "ไข้ปริศนา" ปวดข้อต่อ ปวดหัว มีอาการขาดน้ำและคลื่นไส้ เสียชีวิตแล้ว 4

วันนี้( 1 ก.ย.64) อินเดียกำลังฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดระบาดระลอก 2 ที่ทำให้ผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยพุ่งสูง ดังนั้นข่าวการเสียชีวิตจากไข้ปริศนาในหมู่เด็กๆจึงทำให้เกิดความวิตกกังวลในสังคม ขณะที่สื่อมวลชนเอง พาดหัวข่าวว่า “ไข้ปริศนา” กำลังระบาดตามชนบทอินเดีย แต่แพทย์ในหลายเขตที่มีผู้ป่วยโรคนี้ เชื่อว่า สาเหตุการเสียชีวิตน่าจะมาจากโรคไข้เลือดออก หรือการติดเชื้อจากไวรัสที่มีพาหะเป็นยุงอื่นๆมากกว่า ส่วนอาการของเด็กที่มาถึงมือหมอ จะมีปริมาณเกล็ดเลือดที่ต่ำ ซึ่งเป็นคุณลักษณะของโรคไข้เลือดออก

ดร.นีตา กุลเชษฐา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในเขตฟิโรซาบัด ระบุว่า “คนไข้ โดยเฉพาะเด็ก พอมาถึงโรงพยาบาลแล้วจะเสียชีวิตเร็วมาก” ซึ่งในเขตมีผู้เสียชีวิตแล้ว 40 คนในจำนวนนี้เป็นเด็ก 32 คน ในช่วงเวลาเพียงสัปดาห์เดียว

โรคไข้เลือดออก มียุงลายตัวเมียเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงดูดเลือดผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัส เชื้อจะเข้าไปฝังตัวภายในกระเพาะและต่อมน้ำลาย โดยมีระยะฟักตัว 8-12 วัน แล้วเมื่อยุงไปกัดคนอื่นๆ ต่อ เชื้อไว้รัสก็จะเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่โดนกัด

BBC รายงานว่า ไข้เลือดออกเกิดขึ้นในอินเดียมาหลายร้อยปีแล้ว และประจำถิ่นในอีกกว่า 100 ประเทศทั่วโลก แต่ 70% อยู่ในทวีปเอเชีย 

ปัจจุบัน พบว่ามีเชื้อไวรัสไข้เลือดออกอยู่ 4 สายพันธุ์ และเด็กก็มีโอกาสมากกว่าผู้ใหญ่ 5 เท่าที่จะเสียชีวิต หากติดโรคไข้เลือดออกเป็นครั้งที่สอง

องค์การอนามัยโลกรายงานว่า แต่ละปีจะมีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกรุนแรงเกือบ 100 ล้านคนทุกปี “แล้วเมื่อผสมผสานกับผลกระทบจากโควิด-19...ก็ยิ่งทำให้ประชากรเสี่ยงหนักเข้าไปอีก”

อย่างไรก็ดี ไม่แน่ชัดว่า โรคไข้ปริศนาที่เกิดขึ้นในรัฐอุตตรประเทศ แท้จริงแล้วเป็นโรคไข้เลือดออกหรือไม่

รัฐอุตตรประเทศมีประชากรมากที่สุดในอินเดีย กว่า 200 ล้านคน แต่ส่วนใหญ่มีสุขอนามัยที่ย่ำแย่ เด็กขาดสารอาหารเยอะและระบบสุขภาพที่ไม่ดีนัก จึงมักเกิดรายงานถึง “ไข้ปริศนา” แทบทุกปี หลังฤดูมรสุม

ยกตัวอย่าง การระบาดของโรคไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นที่พบครั้งแรกในรัฐอุตตรประเทศ เมื่อปี 1978 ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 6,500 คน นับแต่ค้นพบโรค แต่พอมาถึงปี 2013 การฉีดวัคซีน ก็ช่วยให้ผู้ป่วยลดลง 

ปี 2014 เอง นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจเด็กที่ป่วยด้วยโรคไข้สมองอักเสบ 250 คน และพบว่า 160 คนในนี้ มีแอนติบอดีต่อแบคทีเรียตัวก่อโรคไข้รากสาดใหญ่ หรือโรคสครับไทฟัส ซึ่งเกิดจากถูกหนูที่ติดเชื้อกัดด้วย แปลว่า โรคนี้ก็เกิดกับเด็กจำนวนมากเช่นกัน

เมื่อปี 2006 นักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบการระบาดของ “ไข้ปริศนา” ที่ทำให้เด็กเสียชีวิตในรัฐอุตตรประเทศเช่นกัน แต่ครั้งนั้น กลับพบว่าเด็กป่วยและเสียชีวิตจากการทานถั่วขี้เหล็ก ที่เติบโตมากในพื้นที่ทางตะวันตกของรัฐ สรุปคือ เป็นโรคที่เกิดจากอาหารเป็นพิษนั่นเอง

นักวิทยาศาสตร์จึงระบุว่า ไข้ปริศนาครั้งนี้ ต้องใช้การสอบสวนและการวิเคราะห์จีโนมในลักษณะที่คล้ายกับเมื่อปี 2006 เพื่อพิสูจน์ชัดว่า เป็นไข้เลือดออกธรรมดา หรือโรคอื่นกันแน่ และถ้าเป็นไข้เลือดออกจริง ก็สะท้อนว่า โครงการควบคุมยุงลายของรัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ จนทำให้เด็กเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง