โฆษก กต.เผย แพทองธารบินโดฮา ปูทางเจ้าภาพ ACD ปีหน้า
โฆษก กต. ยืนยัน ‘แพทองธาร’ บินโดฮา ปูทางเจ้าภาพ ACD ปีหน้า เผยนานาชาติตอบรับไทยหวังเข้าคณะมนตรีสิทธิยูเอ็น ย้ำเปิดรับธุรกิจสหรัฐฯ ไม่ว่า ปธน.รีพับลิกันหรือเดโมแครต
วันที่ 26 กันยายน 2567 นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เกี่ยวกับภารกิจของผู้แทนไทย ในห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 79 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่
กิจกรรมที่หนึ่ง คือ การพบหารือกับสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (USABC) ซึ่งเป็นกลุ่มนักธุรกิจชั้นนำและมีอิทธิพลกับนักการเมืองของสหรัฐอเมริกา เป็นพันธมิตรสำคัญและเก่าแก่ ฝ่ายไทยยืนยันต้อนรับและต้องการให้มีการค้าการลงทุนจากสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น ฝ่ายไทยจึงได้ให้ความมั่นใจกับสหรัฐฯ ในการเปิดต้อนรับสำหรับธุรกิจตามแนวนโยบายรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง แม้จะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีไทย ก็เป็นไปได้ตามรัฐธรรมนูญโดยรวดเร็ว รัฐบาลใหม่ผลักดันประเด็นวาระใหม่และทันสมัย เช่น การลดขั้นตอนขอตรวจลงตรา (วีซ่า) การดึงดูดผู้เชี่ยวชาญและมีทักษะอย่างดิจิทัลโนแมดเข้ามาในประเทศไทย ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยกับการค้าการลงทุน อย่างความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับ 19 ประเทศ ห่วงโซ่อุปทานทางการค้า สภาพที่ตั้งภูมิรัฐศาสตร์กลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เชื่อมโยงกับภูมิภาคอื่นได้โดยง่าย โครงการแลนด์บริดจ์ ความร่วมมืออินโด-แปซิฟิก (IPEF) ซึ่งฝ่ายไทยพร้อมร่วมมือกับสหรัฐฯ อย่างเต็มที่ ไม่ว่าผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่จะมาจากพรรคเดโมแครตหรือพรรครีพับลิกันก็ตาม ซึ่งมีผลด้วยดี ทั้งสองฝ่ายพอใจกับการหารือวันนี้
กิจกรรมที่สอง คือ การประชุมระดับรัฐมนตรี กรอบความร่วมมือภูมิภาคเอเชีย (ACD) ประจำปี ซึ่งถือเป็นกรอบความร่วมมือไทยเป็นผู้ก่อตั้งความร่วมมือนี้เมื่อปี ค.ศ. 2002 และเป็นวิสัยทัศน์ของไทยกว่า 22 ปี ให้เป็นกรอบความร่วมมือเดียวในการรวมประเทศในเอเชียมาร่วมพูดคุยและสร้างอำนาจต่อรองในภูมิภาคเอเชียได้ ในครั้งนี้เป็นการรับรองปฏิญญาโดฮา นั่นคือการทูตเพื่อกีฬา (Sports Diplomacy) ซึ่งทุกฝ่ายสามารถพูดคุยกันด้วยความใกล้ชิดระหว่างประชาชน โดยไม่อ้างอิงประเด็นอ่อนไหวทั้งหลาย เพื่อเตรียมสำหรับการประชุมระดับผู้นำ ACD ณ กรุงโดฮา ซึ่ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมด้วยตนเอง ฝ่ายไทยชื่นชมอิหร่านและกาตาร์ แจ้งความพร้อมในการเป็นประธานและจัดการประชุม ACD ในปีหน้าต่อไป ฝ่ายไทยเน้นย้ำประเด็นการเงินเพื่อการพัฒนา (Financing for Development) เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา สะท้อนความสำคัญของการเงินเพื่อการพัฒนาตามการสนทนาในกรอบของสหประชาชาติ ทุกฝ่ายชื่นชมไทยที่หยิบยกประเด็นสำคัญ และไทยจะเป็นจิ๊กซอว์ประเด็นวาระของประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับการสะท้อนในเวทีโลก
กิจกรรมที่สาม คือ คณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ จัดกิจกรรมหาเสียงให้ไทยเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) ซึ่งมีผู้แทนต่างประเทศเข้าร่วมเกือบร้อยคน และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ฝ่ายไทยเน้นย้ำถึงการมีบทบาทสร้างสรรค์ในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน เสียงที่เราต้องการคือ 97 เสียง เรามีความหวังค่อนข้างมากที่จะได้รับเสียงในการเลือกตั้งในวันที่ 9 ตุลาคมนี้ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
“เท่าที่เข้าร่วมในงาน ทุกคนก็ประสงค์ให้ไทยได้รับเสียงที่เราต้องการ จุดเด่นของเราเป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งทำให้เราเห็นปัญหาต่าง ๆ เรามีบันทึกสิทธิมนุษยชนค่อนข้างดี นำเรื่องที่จับต้องได้ เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิสตรี เด็ก และกลุ่มเปราะบาง เข้าไปสะท้อนในคณะมนตรีนี้ ตลอดจนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเราก็ยังเป็นภาคี 8 ใน 9 อนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนด้วย” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว
ข่าวแนะนำ