TNN เปิดวิธี "เอาชีวิตรอด" หากโลกเกิดสงครามนิวเคลียร์

TNN

World

เปิดวิธี "เอาชีวิตรอด" หากโลกเกิดสงครามนิวเคลียร์

เปิดวิธี เอาชีวิตรอด หากโลกเกิดสงครามนิวเคลียร์

ถ้าโลกเกิด “สงครามนิวเคลียร์” ขึ้นมาจริง ๆ ประชาชนอย่างเราต้องทำอย่างไร ? TNN World ขอเปิด “วิธีเอาตัวรอด” กลางสงครามนิวเคลียร์และผลกระทบที่จะตามมา

  • อาวุธนิวเคลียร์คืออะไร? 


“อาวุธนิวเคลียร์” คือ อุปกรณ์ที่ใช้ปฏิกิริยานิวเคลียร์เพื่อสร้างการระเบิด โดยอุปกรณ์นิวเคลียร์มีตั้งแต่อุปกรณ์พกพาขนาดเล็กไปจนถึงอาวุธขนาดใหญ่อย่างขีปนาวุธ ซึ่งการระเบิดนิวเคลียร์อาจเกิดขึ้นโดยมีการเตือนไม่กี่นาทีล่วงหน้าหรือไม่มีการเตือนเลยก็ได้

  • ถ้าต้องยืนอยู่กลางสงครามนิวเคลียร์จะรู้สึกอะไรได้บ้าง? 

ทันทีที่เกิดสงครามนิวเคลียร์โดยเฉพาะหากมีการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลงในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งจะเกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ ตามมาในช่วงเวลาเพียงไม่กี่นาที

-แสงวาบ หรือ (Bright Flash) ที่อาจทําให้ตาบอดชั่วคราวได้ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งนาที

-คลื่นระเบิด (Blast Wave) หรืออากาศที่รายล้อมจุดแก่นกลางระเบิดใหญ่ ที่ความรุนแรงของมันอาจทำให้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บได้ อีกทั้งมันอาจทำให้โครงสร้างของอาคารที่แม้ตั้งอยู่ห่างออกไปเป็นกิโลเมตรได้รับความเสียหายด้วย

-รังสี (Radiation) สามารถทําลายเซลล์ของร่างกายได้ การสัมผัสกับรังสีจํานวนมากอาจทําให้เกิดความเจ็บป่วย

-ไฟ และ ความร้อน (Fire and Heat) ที่อาจทำให้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บเป็นแผลไฟไหม้และอาจกระทบโครงสร้างอาคาร

-คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแรงสูง (Electromagnetic pulse : EMP) สามารถทําลายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้หลายกิโลเมตรจากจุดระเบิด

-ฝุ่นกัมมันตรังสี (Fallout) ที่เกิดขึ้นจากการระเบิดของอาวุธนิวเคลียร์ ประกอบด้วยเศษหินหรืออิฐที่ตกลงมาซึ่งอาจทําให้ได้รับบาดเจ็บ หากนึกภาพไม่ออกมันคือกลุ่มควันคล้ายรูป “เห็ด” เวลาเราเห็นในภาพยนต์หรือในแอนนิเมชั่นนั่นเอง

โดยฝุ่นกัมมันตรังสีนับเป็นปรากฏการณ์ที่ “อันตรายที่สุด” ในช่วง 1 ชั่วโมงแรกหลังมีการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ แต่กว่ากลุ่มควันเหล่านั้นจะตกลงสู่พื้นดินและก่อความเสียหายอีกครั้งต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 15 นาที และช่องว่างของเวลาตรงนี้ก็เป็นเวลาที่เหมาะสมที่เราจะรีบหาวิธีป้องกันการสัมผัสกับกัมมันตรังสีรุนแรง

ซึ่งเว็บไซต์ ready.gov ในความดูแลของกระทรวงความมั่นคงภายในสหรัฐฯ ได้แนะนำโดยการจำหลัก “หาที่หลบ-อยู่ด้านใน-ติดตามข่าว” ให้ดี

  • หาที่หลบ

การ “หาที่กำบัง” ที่อยู่ใกล้กับเรามากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นอาคารหรือบ้านพักเพื่อป้องกันรังสีรวมไปถึงเศษฝุ่นจากการระเบิด แต่ไม่ควรหลบในรถยนต์หรือรถบ้านเคลื่อนที่เพราะมันไม่ใช่ที่กำบังที่เหมาะสมในสถานการณ์นี้ ซึ่งสถานที่ที่ดีที่สุดคือการหลบที่ชั้นใต้ดิน หรือ บริเวณศูนย์กลางของอาคารขนาดใหญ่ งดเข้าใกล้กำแพง ผนัง หรือ หลังคา กรณีที่อยู่ด้านนอกแล้วไม่สามารถหาที่หลบได้ควร “นอนคว่ำหน้า” เพื่อป้องกันผิวที่จะสัมผัสความร้อนและเศษหิน หรืออิฐที่ลอยมา


  • อยู่ด้านใน

อยู่ด้านในอาคารอย่างน้อย 24 ชั่วโมงหลังเกิดการระเบิด หรือ จนกว่าทางการจะประกาศพร้อมกับปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

หากมี “ครอบครัว” แล้วอยู่กันคนละที่ “อย่าเพิ่งมารวมตัวกัน” แต่ควรอยู่ในที่กำบังของตนเองเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับรังสีที่เป็นอันตราย หรือ หากเลี้ยงสัตว์ควรนำสัตว์เข้ามาหลบด้านในอาคารด้วย

เมื่อได้ที่หลบภัยควร “ถอดเสื้อผ้า” และ “ล้างมือล้างหน้า” เพื่อป้องกันผิวหนังของเราที่อาจสัมผัสกับรังสี หรือหากเป็นไปได้ควรอาบน้ำหรือเอาผ้าชุบน้ำเช็ดตามร่างกายและเส้นผม
อาหารควรทานเฉพาะที่มีซองปิดมาอย่างดีเพื่อป้องกันการบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนรังสี

  • ติดตามข่าว

เปิด “ทุกช่องทางสื่อสาร” ให้พร้อมเพื่อรับข้อมูลที่ควรทราบจากรัฐบาล เช่น เมื่อไหร่ที่ควรออกมา หรือ ควรไปที่ไหนต่อ

วิทยุทรานซิสเตอร์ หรือ แบบใช้มือหมุน จะกลายเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากในช่วงเกิดเหตุฉุกเฉินเช่นนี้ เพราะการใช้สัญญาณโทรศัพท์ หรือ สัญญาณอินเตอร์เน็ต มีสิทธิที่จะถูกตัดขาดได้เนื่องจากปัญหาเรื่องของไฟฟ้าดับหรือระบบโทรคมนาคมล่ม ซึ่งวิธีการใช้วิทยุเพื่อสื่อสารหลายประเทศที่พัฒนาแล้วยอมรับว่ามันคืออุปกรณ์ที่เป็นประโยชน์อย่างมากในยามฉุกเฉิน


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง