ย้อนอดีตเกาหลีใต้-ญี่ปุ่น ไม่ถูกกัน? หลังผู้นำญี่ปุ่นเยือนเกาหลีใต้กระชับความสัมพันธ์ส่งท้ายก่อนลงจากตำแหน่งในเดือนนี้
-การเยือนก่อนลงจากตำแหน่ง-
ประธานาธิดียุน ซอกยอล ของเกาหลีใต้ เปิดทำเนียบต้อนรับนายกรัฐมนตรี ฟุมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ที่อยู่ระหว่างการเยือนเกาหลีใต้อย่างเป็นทางการในฐานะผู้นำประเทศ ก่อนที่นายคิชิดะจะลงจากตำแหน่งในเดือนนี้
ทันทีที่เดินทางมาถึง ผู้นำญี่ปุ่นได้ลงนามลงบนสมุดเยี่ยมด้วยข้อความว่า เขาขอภาวนาให้มิตรภาพระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ยังคงแนนแน่นเช่นนี้ตลอดไป
นอกจากนี้ นายคิชิะยังได้เน้นย้ำถึงความจําเป็นในการปรับปรุงความสัมพันธ์ทวิภาคีกับเกาหลีใต้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้ส่งความเห็นอกเห็นใจต่อชาวเกาหลีใต้ทุกคนที่ต้องทนทุกข์ทรมานในช่วงที่ตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นในปี 1910 – 1945
ด้านประธานาธิบดียุน ซอกยอล เรียกร้องให้ทั้ง 2 ประเทศรักษาความสัมพันธ์ในเชิงบวกและความร่วมมือที่ผู้นำทั้ง 2 ได้สร้างขึ้น และยังยกให้ “ปีหน้า” เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่จะก้าวกระโดดไปข้างหน้าเพื่อฉลองความร่วมมือครบรอบ 60 ปี นอกจากนี้ ทางฝั่งรองที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของเกาหลีใต้ ได้แแถลงว่าหนึ่งในความร่วมมือสำคัญของ 2 ประเทศคือการยืนหยัดเพื่อต่อต้านและหยุดภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือที่มีรัสเซียเป็นผู้สนับสนุน และในวันนี้ (7 กันยายน) นายกรัฐมนตรี ฟุมิโอะ คิชิดะ ได้เดินทางออกจากเกาหลีใต้ หลังจากเสร็จสิ้นการหารือและร่วมรับประทานอาหารค่ำกับประธานาธิบดีเกาหลีใต้เมื่อคืนที่ผ่านมา
-ชาวเกาหลีใต้บางคนเกลียดญี่ปุ่น-
ในระหว่างที่ผู้นำทั้ง 2 ประเทศกำลังหารือกัน บริเวณด้านหน้าทำเนียบรัฐบาลมีกลุ่มชาวเกาหลีใต้ออกมารวมตัวประท้วงเพื่อต่อต้านการมาเยือนของนายคิชิดะ โดยมีการชูป้ายสัญลักษณ์และข้อความที่แสดงการต่อต้าน ทั้งการบอกว่าผู้นำเกาหลีใต้คือกบฎต่อประเทศ หรือ การประณามผู้นำญี่ปุ่นว่าเป็นผู้บิดเบือนประวัติศาสตร์ รวมไปถึงการประณามเรื่องญี่ปุ่นอ้างสิทธิเหนือครอบครองหมู่เกาะด๊กโดที่เป็นข้อพิพาท ซึ่งแม้ว่า 2 ประเทศจะเป็นพันธมิตรในเอเชียที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ แต่ย้อนกลับไปในช่วงที่เกาหลีใต้ต้องตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นเมื่อปี 1910 - 1945 กลับเป็นช่วงที่ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศลดต่ำลงจนถึงขีดสุด
เกาหลีใต้กล่าวว่ากองทัพญี่ปุ่นบังคับใช้แรงงานชาวเกาหลีในช่วงสงคราม รวมไปถึงยังมีการใช้ความรุนแรงทางเพศต่อหญิงชาวเกาหลีในขณะนั้นด้วย ซึ่งความทุกข์ทรมานของผู้หญิงในสมัยนั้นทำให้ในปี 2011 ทางการเกาหลีใต้ได้สร้างรูปปั้นที่มีชื่อว่า “โซ นยอ ซัง” ที่หมายถึง “รูปปั้นของหญิงสาว” ตั้งไว้เพื่อเป็นการระลึกถึงความเจ็บปวดของผู้หญิงที่กลายเป็นเหยื่อทางเพศของทหารจักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งรูปปั้นแรกนั้นถูกตั้งไว้ที่กรุงโซลในลักษณะนั่งหันหน้าจ้องไปทางสถานทูตญี่ปุ่นประจำกรุงโซลตลอดเวลา ซึ่งหลายครั้งที่รัฐบาลญี่ปุ่นเคยเรียกร้องให้ทำลายรูปปั้นนี้ทิ้ง แต่รัฐบาลเกาหลีใต้โดยเฉพาะครอบครัวของเหยื่อในขณะนั้นปฏิเสธการทำลายรูปปั้นโดยให้เหตุผลว่าญี่ปุ่นไม่เคยยอมรับเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้น
จนกระทั่งในปี 2015 เกาหลีใต้และญี่ปุ่นบรรลุข้อตกลงที่ญี่ปุ่นได้ออกแถลงการณ์คําขอโทษอย่างเป็นทางการต่อผู้หญิงตกเป็นทาสทางเพศในช่วงสงคราม โดยญี่ปุ่นได้มอบเงิน 1 พันล้านเยน (9.23 ล้านดอลลาร์) ให้กับกองทุนเพื่อช่วยเหลือเหยื่อ ต่อมาในปี 2017 เกาหลีใต้ได้ออกกฎหมายเพื่อปกป้องรูปปั้นของหญิงสาวที่ไม่มีใครจะสามารถไปทำลายได้ ทำให้จนถึงปัจจุบันรูปปั้นนี้ยังคงสามารถพบได้ในอีกหลายเมืองของเกาหลีใต้ แต่ในปี 2018 นายมุนแจอิน ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ในสมัยนั้นก็ประกาศยุบกองทุนช่วยเหลือเหยื่อจากฝั่งญี่ปุ่น เนื่องจากเขามองว่าไม่เพียงพอที่ชดเชยความทุกข์ทรมานของเหยื่อในตอนนั้นได้และเป็นเหตุให้ความสัมพันธ์ของเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่ในขณะนั้น นายชินโซะ อาเบะ เป็นนายกรัฐมนตรี ตกต่ำลงอีกครั้ง
แม้จะมีความพยายามในการกลับมาสานสัมพันธ์เรื่อยมา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความไม่ลงรอยกันของ 2 ประเทศยังเกิดขึ้นเสมอมาผ่านหลากหลายเหตุการณ์ที่ย้ำเตือนอยู่เสมอว่าชาวเกาหลีใต้ไม่ชอบญี่ปุ่น
อย่างในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่แล้วที่กรุงโตเกียว ผู้ชมชาวเกาหลีใต้เรียกร้องให้คณะผู้จัดงานนำ “ธงอาทิตย์อุทัย” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจักรวรดิญี่ปุ่นลง โดยเกาหลีใต้ยังได้ทำเรื่องไปถึงคณะกรรมการโอลิมปิกสากลให้แบนการใช้ธงดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่าเป็นสัญลักษณ์ของแผลเป็นและความเจ็บปวด
หรืออย่างในกรณีของเกมส์เดอะซิมส์ 4 Snowy Escape ผู้เล่นชาวเกาหลีใต้เรียกร้องให้บริษัทเกมส์นำ “ศาลเจ้าญี่ปุ่น” ที่ปรากฏอยู่ในเกมส์ออกไป เนื่องจากนี่คืออีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่ในสมัยจักรวรรดิญี่ปุ่นได้บังคับให้ชาวเกาหลีใต้ทุกคน ต้องทำความเคารพศาลเจ้านี้ จนในที่สุดก็ทนกระแสเรียกร้องไม่ไหวทางบริษัทต้องนำศาลเจ้านี้ออกจากเกมส์
ขณะที่ในภาพยนตร์เรื่อง The Wailing ที่กำกับโดย นาฮงจิน ที่เป็นชาวเกาหลีใต้ ก็กำหนดให้ชายชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในภาพยนตร์คือคนแปลกหน้าในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่เขาจะทำตัวดูน่าสงสัยและลึกลับตลอดเวลา จนสุดท้ายตัวละครนี้ก็กลายเป็น “ตัวร้าย” หลักของเรื่องที่ทำลายครอบครัวชาวเกาหลีใต้ที่อยู่ในภาพยนตร์ ซึ่ง นาฮงจิน ยอมรับว่าเขาได้รวมแนวคิดเรื่องประวัติศาสตร์ที่ขัดแย้งกันระหว่างเกาหลีและญี่ปุ่นไว้อยู่ในภาพยนตร์จริง ๆ