TNN ทูต G7 แบนร่วมพิธีรำลึกนางาซากิ เพราะญี่ปุ่นไม่เชิญอิสราเอล

TNN

World

ทูต G7 แบนร่วมพิธีรำลึกนางาซากิ เพราะญี่ปุ่นไม่เชิญอิสราเอล

ทูต G7 แบนร่วมพิธีรำลึกนางาซากิ เพราะญี่ปุ่นไม่เชิญอิสราเอล

พิธีรำลึกระเบิดปรมาณูถล่มนางาซากิในวันนี้ กลายเป็นประเด็นทางการเมือง และนี่อาจทำให้ความสัมพันธ์ของกลุ่ม G7 ถึงกับร้าวฉาน - เนื่องจากญี่ปุ่นไม่เชิญทูตอิสราเอลเข้าร่วมงาน - ทำให้เอกอัครราชทูตกลุ่ม G7ประกาศแบนไม่เข้าร่วมพิธีรำลึกนี้ด้วยเช่นกัน

ปกติแล้วในทุก ๆ วันที่ 9 สิงหาคม ที่เมืองนางาซากิ จะมีการทำพิธีรำลึกถึงเหตระเบิดปรมาณู Fat Man จากสหรัฐฯ ที่ทิ้งลงมาในปี 1945 เพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ..  ปีนี้ก็มีพิธีรำลึกครบ 79 ปี 


แต่ปีนี้ พิธีรำลึก กลับถูกบดบังด้วยประเด็นทางการเมือง โดยที่บรรดาเอกอัครราชทูตของประเทศกลุ่ม G7 หรือประเทศ ไม่เข้าร่วมพิธีรำลึกในวันนี้ เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจ ที่ทางการเมืองนางาซากิ ไม่เชิญผู้แทนจากอิสราเอลเข้าร่วมพิธีด้วย


ทางการเมืองนางาซากิ ระบุว่า การตัดสินใจไม่เชิญเอกอัครราชทูตอิสราเอลเข้าร่วมนั้น เป็นเพราะความกังวลด้านความปลอดภัย แต่นักการทูตท่านอื่น ๆ กลับมองว่า การที่ทางการเมืองนางาซากิตัดสินใจแบบนี้ เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณผิด ๆ เพราะเหมือนเป็นการตัดสินว่า “อิสราเอล เทียบเท่า รัสเซีย”


ชิโระ ซูซูกิ นายกเทศมนตรีเมืองนางาซากิ กล่าวกับนักข่าวเมื่อวันพฤหัสบดี ว่า เขาจะยึดมั่นในการตัดสินใจนี้ และแสดงความหวังว่า เอกอัครราชทูตเหล่านี้ จะเข้าร่วมพิธีในปีหน้า และย้ำว่า การที่ไม่เชิญทูตอิสราเอล ไม่ใช่เหตุผลทางการเมืองจริง ๆ แต่เราต้องการจัดพิธีรำลึกให้เป็นไปอย่างราบรื่น สงบ และจริงจัง แต่ก็ยอมรับว่านี่เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบาก 


นักข่าวถามว่า เขาได้ปรึกษารัฐบาลกลางหรือไม่ ซูซูกิ บอกว่า ทั้ง 2 ฝ่ายได้แบ่งปันข้อมูลกันอยู่เสมอรายวัน – ขณะที่รัฐบาลกลางบอกว่า ไม่ได้อยู่ในจะที่จะแสดงความเห็นอะไรได้


ขณะที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสันติ ออกมาบอกว่า ทางการเมืองนางาซากิ ควรเชิญทุกประเทศ รวมถึงรัสเซีย เบลารุส และอิสราเอล ในพิธีรำลึก  ไม่ว่าพวกเขาจะมีส่วนร่วมกับความขัดแย้งใด ๆ หรือไม่   -  เพราะเป้าประสงค์ของพิธีนี้ คือ เรื่องสันติ 


ส่วนในพิธีรำลึกที่เมืองฮิโรชิมา เมื่อ 3 วันก่อน ในวันที่ 6 สิงหาคม – ได้เชิญทูตอิสราเอลเข้าร่วมในงานด้วย 


โดย ฮิเดฮิโกะ ยูซากิ  ผู้ว่าการเมืองฮิโรชิมา ก็ได้เรียกร้องให้ผู้นำโลกหยุดการพึ่งพาอาวุธนิวเคลียร์เป็นเครื่องมือในการป้องปราบ และดำเนินการเลิกใช้ในทันที ไม่ใช่แค่เป็นความคิดเพ้อฝัน เพื่อกำจัดความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ ท่ามกลางความขัดแย้งในยูเครน ตะวันออกกลาง และความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออก


เขาบอกว่า ชาติที่ติดอาวุธนิวเคลียร์ และผู้ที่สนับสนุนการป้องปราบด้วยอาวุธนิวเคลียร์ มีเจตนาเพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อมนุษย์คิดค้นอาวุธขึ้นมา พวกเขาใช้มันโดยไม่มีข้อยกเว้น ตราบเท่าที่ยังมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ พวกเขาจะต้องใช้มันอีกครั้งแน่นอนสักวันหนึ่ง


ซึ่งฮิโรชิมาเอง เผชิญกับระเบิดปรมาณูลูกแรกจากสหรัฐฯ  ในชื่อ “ลิตเติลบอย”   สังหารผู้คนมากถึง 140,000 คน และ 3 วันต่อมา ได้ทิ้งระเบิดลูกที่ 2 ถล่มเมืองนางาซากิ สังหารผู้คนมากกว่า 70,000 คน ต่อมาในวันที่ 15 สิงหาคม ญี่ปุ่นยอมแพ้ และถือเป็นการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง