TNN กรีซออกนโยบายทำงาน 6 วัน สวนกระแสโลกที่ลดเหลือ 4 วัน

TNN

World

กรีซออกนโยบายทำงาน 6 วัน สวนกระแสโลกที่ลดเหลือ 4 วัน

กรีซออกนโยบายทำงาน 6 วัน สวนกระแสโลกที่ลดเหลือ 4 วัน

กรีซสวนกระแสโลกออกนโยบายทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ ขณะที่ทั้งโลกพยายามลดวันทำงานให้เหลือ 4 วันต่อสัปดาห์เป็นเพราะอะไรกัน?

- นโยบายทำงาน 6วัน

นโยบายทำงาน 6 วัน อยู่ภายใต้กฎหมายการจ้างงาน ใช้กับธุรกิจในหลายภาคส่วน รวมถึงธุรกิจที่ดำเนินงาน 24 ชั่วโมง ทำให้ลูกจ้างมีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างในวันทำงานที่เพิ่มมา เพิ่มขึ้นอีก 40% ของค่าจ้างปกติ กล่าวคือ ถ้าปกติทำงานได้วันละ 100 ดอลลาร์ 1 สัปดาห์ได้เงิน 500 ดอลลาร์ แต่กฎหมายนี้จะทำให้ได้เงิน 640 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ เพราะวันทำงานที่ 6 ได้เงิน 140 ดอลลาร์

แต่กฎหมายนี้ไม่ได้บังคับให้ทุกคนใช้ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของบริษัทต่าง ๆ ว่าจะนำมาใช้หรือไม่ 

หากบริษัทบังคับใช้ก็ต้องใช้กับพนักงานทุกคน และต้องแจ้งพนักงานให้รู้ล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนเริ่มกะใหม่ และต้องทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน

ในฝั่งลูกจ้าง สามารถทำงานพาร์ตไทม์เสริมได้ รวมแล้วสูงสุด 13 ชั่วโมงต่อวัน และทำงานได้สูงสุด 65-78 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

กฎหมายดังกล่าวมีผลแล้วเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม หลังผ่านการอนุมัติเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายแรงงานฉบับใหม่

- ทำไมกรีซจึงอยากให้ชั่วโมงการทำงานของประชาชนเพิ่ม

แนวคิดในการออกกฎหมายนี้ คือเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของกรีซ ที่ยังไม่ฟื้นตัว หลังจากเผชิญวิกฤตทางการเงิน ที่เลวร้ายที่สุดในยุโรปในรอบหลายทศวรรษ

ตั้งแต่ปี 2010 ที่เจอปัญหาหนี้สิน มีชาวกรีซมากกว่า 500,000 คนอพยพออกนอกประเทศ ปัจจุบันปัญหาสังคมผู้สูงอายุ และปัญหาผู้อพยพทะลัก ซ้ำเติมปัญหาขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ ทำให้นโยบายใหม่นี้เป็นสิ่งสำคัญ

พวกเขาหวังว่า การที่แรงงานทำงานมากขึ้น จะทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้น พวกเขาเชื่อว่า ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจะทำให้กรีซสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น 

นอกจากนี้การออกกฎหมายทำงาน 6 วัน จะช่วยให้แรงงานบางส่วนที่ทำงานเกินเวลา ได้รายได้มากขึ้น

แม้จะฟังดูเหมือนมีข้อดีหลายข้อ แต่ก็มีหลายภาคส่วนที่วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายดังกล่าว 

- ปัญหาของการทำงาน 6 วัน


เลขาธิการเยาวชนทั่วไปของสมาพันธ์แรงงานชาวกรีก (GSEE) ระบุว่า กฎหมายส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ปัจจุบันชาวกรีซก็ทำงานมากกว่าชาวยุโรปโดยเฉลี่ยอยู่แล้ว

ทำให้แรงงานหลายพันคนในภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์, แพทย์และเจ้าหน้าที่ขนส่งมวลชน ออกมาเดินประท้วง เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2023 หนึ่งวันก่อนกฎหมายผ่าน 

นอกจากนี้ยังจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในระยะยาว ภาระค่ารักษาพยาบาลก็จะเพิ่มขึ้น และเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน

ขณะที่ถ้าเป็นผู้หญิงที่ต้องเลี้ยงลูก การทำงาน 6 วันก็จะทำให้ไม่มีเวลาดูแลลูก และอาจต้องลาออกจากงานไปเลย

ฉะนั้น GSEE เชื่อว่า ควรมีการพูดคุยกับลูกจ้างมากกว่านี้เพื่อหาทางออกที่ดีกว่า เพื่อให้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจไปได้ โดยไม่ต้องสังเวยคุณภาพชีวิตประชาชน
—————
ภาพ: Reuters

ข่าวแนะนำ