World-in-depth: “โมนิกา ลูวินสกี้” เด็กฝึกงานชื่อก้องโลกแห่งทำเนียบขาว
รู้จัก “โมนิกา ลูวินสกี้” นักศึกษาฝึกงานที่เลื่องลือที่สุดแห่งทำเนียบขาว
ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เป็นประเด็นถกเถียงอย่างมากสำหรับ “นักศึกษาฝึกงาน” ของช่องยูทูปชื่อดังช่องหนึ่ง ที่ได้ใช้งานล่วงเวลา ใช้ให้ทำงานหนัก นอกจากเวลาปกติ ยังต้องรอสแตนด์บายถึงตี 3 และไม่ได้รับค่าตอบแทนแม้แต่สตางค์แดงเดียว ตรงนี้ เลยเป็นประเด็นว่า นี่เป็นการ “ใช้แรงงานทาสแบบฟรี ๆ” ชัด ๆ
แน่นอน นักศึกษาที่ไปฝึกงานส่วนมาก ไม่กล้ามีปากมีเสียง เพราะกลัวจะไม่ได้เกรดและอยู่ยาก ยิ่งเป็นสังคมไทยที่มีลักษณะ “Compromise” ด้วยยิ่งแล้วใหญ่
แต่ไม่ใช่กับ “โมนิกา ลูวินสกี้” นักศึกษาฝึกงานที่เป็นที่เลื่องลือที่สุดแห่งทำเนียบขาว เพราะ “กรณีอื้อฉาว” ของเจ้าหล่อน ถึงขนาดเป็นประเด็นให้มีการยื่น “ถอดถอน (Impeachment)” ประธานาธิบดี บิล คลินตัน มาแล้ว!
ร่วมติดตามเรื่องราวสุดเผ็ดซี๊ดเปรี้ยวปรี๊ดมะนาวทั้งสวนไปด้วยกัน
--- ฉันเปล่านะ เขามาเอง ---
แน่นอน เรื่องอื้อฉาวนี้มีความยาวและสลับซับซ้อนในการเล่าอย่างมาก แต่หากให้เข้าใจง่าย ๆ นั่นคือ “โมนิกา ลูวินสกี้” ในวัย 20 ต้น ๆ ไปฝึกงานที่ทำเนียบขาว อยู่ฝ่ายหัวหน้าเจ้าหน้าที่ (Head of Staffs) [เทียบได้กับรองประธานาธิบดี] และได้ทำให้เกิดความใกล้ชิดกับ บิล คลินตัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเวลานั้นมากยิ่งขึ้น
แน่นอน ความสัมพันธ์ลึกซึ้งก็เกิดขึ้น แม้ในภายหลังได้มีการเปิดเผยว่า เป็นเพียงการสำเร็จความใคร่ภายนอกเท่านั้น กระนั้น เรื่องนี้กลับแดงขึ้นมา จากการหลุดว่ามีเพื่อนร่วมงานของลูวินสกี้นาม ลินดา ทริปป์ ได้บันทึกเทปลับที่ชี้ให้เห็นสัมพันธ์ลึกซึ้งของทั้งสองได้
สิ่งนี้ได้ทำให้มีการขยายผลต่อมาโดย เคนเน็ธ สตาร์ อัยการอิสระที่พยายามทำคดีไวท์วอเตอร์ของคลินตันอยู่ จึงได้ทีขี่แพะไล่ ทำการแสดงหลักฐานนี้ และทำให้เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณชนว่า มีเหตุการณ์สุดฉาวนี้เกิดขึ้นในทำเนียบขาว
เรื่องนี้ใหญ่โตไปจนถึงมีการยื่น “ถอดถอน” ต่อคลินตัน และได้มีข่าวฉาวในลักษณะนี้ของเขาออกมาอีกเรื่อย ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นผู้ที่ประสบแบบเดียวกับลูวินสกี้มากพอสมควร
แต่ทั้งสองข้อกล่าวหานี้ ภายหลังก็เป็นอันตีตกไป
แน่นอน ลูวินสกี้ตกเป็นจำเลยสังคม มีการด่าทอและขว้างปาสิ่งต่าง ๆ จนกระทบจิตใจอย่างรุนแรง ทำให้เธอไม่กล้าออกไปไหนนานมากกว่า 10 ปี
--- ยินยอมที่ไม่ยินยอม ---
เมื่อไม่นานมานี้ สังคมได้หันเหไปทางกระแส “Woke” มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการแสดงพลัง “เพื่อนหญิงพลังหญิง” เพื่อหวังขจัดความ “ชายเป็นใหญ่” ออกไปเสียสิ้น อาทิ กระแส #MeToo
ลูวินสกี้ เป็นหนึ่งในหัวเรือที่เรียกร้องสิ่งดังกล่าว โดยการชี้ว่า การที่เธอมีสัมพันธ์กับคลินตันนั้น นอกจากเรื่อง “สมยอม (Consent)” ยังมีเรื่องของ “ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ” อีกด้วย
ไม่นานมานี้ หล่อนได้ออกมาเปิดเผยผ่านบทความใน Vanity Fair ว่าทำเนียบขาวนั้น ไม่ต่างอะไรกับ “House of Gaslight” เป็นที่ ๆ ผู้มีอำนาจน้อยกว่าต่างได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสม และโบ้ยให้รู้สึกว่าตนนั้นเป็นฝ่ายผิด โดยมีใจความท่อนหนึ่งว่า
"ความหมายของคำว่า ‘ยินยอมพร้อมใจ’ ในพจนานุกรมน่ะหรือ? ก็คือการอนุญาตให้บางอย่างเกิดขึ้น แต่คำว่าบางอย่างนี้ก็กินความรวมไปถึงหลายเรื่อง เช่น พลวัตรของอำนาจ ตำแหน่งของเขา และอายุของฉันด้วย เขาเป็นเจ้านายของฉันและชายผู้ทรงอำนาจที่สุดในโลก แถมยังมีอายุมากกว่าฉัน 27 ปี น่าจะมีประสบการณ์ชีวิตมามากพอที่จะรู้ดีกว่าฉันด้วยซ้ำ"
หรือก็คือ ตอนนั้นเธอยังเด็ก ยังไร้เดียงสา และเกรงกลัวต่ออำนาจ จึงได้เลือกตัดสินใจไปแบบนั้น เป็น “การยินยอมที่ไม่พร้อมจะยินยอม ณ ตอนนั้น” ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการยินยอมที่ยินยอมแต่อย่างใด
ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องแบบนี้เป็นการตัดสินที่ยากมาก ว่าความยินยอมนั้น มี “เครื่องบ่งชี้ (Markers)” อย่างไร เพราะในขั้นแรกมีการยินยอม แต่หากระหว่างทางเกิดไม่ยินยอม แบบนี้เรียกว่ายินยอมหรือไม่? ยังไม่นับรวมกับการยินยอมและกรรมนั้นได้ลุล่วง หากแต่มีการ “พลิกลิ้น” ไม่ยินยอมในภายหลัง แบบนี้ถือว่าไม่ยินยอมหรือไม่?
แต่กรณีของลูวินสกี้นี้ “กรรมได้ลุล่วง” ไปแล้ว และหล่อนยังเคยออกมาดีเฟนด์ให้คลินตันว่าไม่มีอะไรในกอไผ่อีกด้วย ซึ่งตรงนี้ หล่อนเองก็ยอมรับว่า “เสียใจที่ทำพลาดไป” อยู่เนือง ๆ
--- เส้นแบ่งของการฝึกงานและแรงงาน ---
เมื่อมาถึงตรงนี้ จะเห็นได้ว่า ในเรื่องของการฝึกงานนั้น ไม่ว่าจะแซ่บหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่เป็นปัญหา นั่นคือ เรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เป็นส่วนใหญ่
แน่นอน การฝึกงานเพื่อต้องการเกรด เจ้าของบริษัทที่ไปฝึกงานย่อมเป็นผู้ “กุมอนาคต” นักศึกษาฝึกงานไว้ให้อยู่มือ จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด
ดังนั้น จึงไม่แปลกใจ ที่นักศึกษาฝึกงานจะต้อง “รีดเค้นศักยภาพ” ออกมาให้ได้มากที่สุด เพียงเพื่อต้องการตัวอักษร “P” ในทรานสคริปต์
ตรงนี้ จึงเกิดคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่การฝึกงาน จะได้รับการนับว่าเป็น “แรงงาน” ในอีกรูปแบบหนึ่ง
—————
แปล-เรียบเรียง: วิศรุต หล่าสกุล
ภาพ : Reuters
ข้อมูลอ้างอิง: