TNN online สหรัฐฯ ปิดธนาคารเงินคริปโต “ซิกเนเจอร์ แบงก์” ประกาศแผนคุ้มครองเงินฝากประชาชน

TNN ONLINE

World

สหรัฐฯ ปิดธนาคารเงินคริปโต “ซิกเนเจอร์ แบงก์” ประกาศแผนคุ้มครองเงินฝากประชาชน

สหรัฐฯ ปิดธนาคารเงินคริปโต “ซิกเนเจอร์ แบงก์” ประกาศแผนคุ้มครองเงินฝากประชาชน

สหรัฐฯ ประกาศแผนคุ้มครองเงินฝากของประชาชน ที่ฝากเงินไว้กับซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ และซิกเนเจอร์ แบงก์ ยืนยันสามารถเข้าถึงเงินฝากได้เต็มจำนวน



สั่งปิด “Signature Bank”


สหรัฐฯ สั่งปิด “ซิกเนเจอร์ แบงก์” ธนาคารที่เน้นปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมคริปโตเคอร์เรนซี หลังจากที่ลูกค้าแห่ถอนเงินออกจากธนาคารจำนวนมาก ทำให้มีความเสี่ยงเชิงระบบ นับเป็นการล้มของธนาคารครั้งใหญ่เป็นอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ และเกิดขึ้นหลังสหรัฐฯ สั่งปิด “ซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์” หรือ SVB เพียง 2 วัน 


ทางสถาบันค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ หรือ FDIC ได้เข้าควบคุมสินทรัพย์ของ “ซิกเนเจอร์ แบงก์” ที่มีอยู่ราว 1.1 แสนล้านดอลลาร์ และเงินฝากประมาณ 88.6 หมื่นล้านดอลลาร์นับถึงสิ้นปีที่แล้ว


“ซิกเนเจอร์ แบงก์” เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีสำนักงานทั้งในนิวยอร์ก คอนเนกติกัต แคลิฟอร์เนีย เนวาดา และนอร์ทแคโรไลนา รวมถึงมีธุรกิจอื่น ๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์และธนาคารดิจิทัล 


ข้อมูลระบุว่า นับถึงเดือนกันยายนปีที่แล้ว เกือบ 1 ใน 4 ของเงินฝากภายใต้การดูแลของ “ซิกเนเจอร์ แบงก์” มาจากคริปโตเคอร์เรนซี แต่ธนาคารระบุเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า เงินฝากที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซีลดลง 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ


ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น 2 วัน หลังจาก สำนักงานคุ้มครองทางการเงินและนวัตกรรมแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย สั่งยุติการดำเนินงานของธนาคาร ซิลิคอน วัลเลย์ หรือ SVB ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่เน้นให้บริการกับผู้ประกอบกิจการสตาร์ตอัพ ในซิลิคอน วัลเลย์ เนื่องจากวิกฤตสภาพคล่อง และการไม่ประสบความสำเร็จในการระดมเงิน 2,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 77,692 ล้านบาท เพื่อเพิ่มทุน


ธนาคาร ซิลิคอน วัลเลย์ ให้บริการกับธุรกิจสตาร์ตอัปและบริษัทไฮเทคในซิลิคอน วัลเลย์ มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษหลังปี 1980 


ก่อนการล่มสลายในครั้งนี้ ถือเป็นสถาบันการเงินขนาดใหญ่อันดับที่ 16 ของสหรัฐฯ มีสินทรัพย์ 209,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.27 ล้านล้านบาท) และการปิดธนาคาร ซิลิคอน วัลเลย์ หรือ SVB ถือเป็นการล่มสลายของสถาบันการเงินครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่ธนาคารวอชิงตัน มิวชวล เมื่อปี 2008




เตรียมมาตรารับมือการปิดธนาคาร


FDIC ให้เหตุผลในการสั่งปิดธนาคาร ซิลิคอน วัลเลย์ว่า เพื่อคุ้มครองเงินฝากของประชาชน และขอให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลาง เข้ามาจัดการทรัพย์สินต่อ 


สถาบันคุ้มครองเงินฝากแถลงว่าจะขายสินทรัพย์ของธนาคาร เพื่อนำเงินมาจ่ายให้แก่เจ้าของบัญชีและเจ้าหนี้ โดยเจ้าของบัญชีเงินฝากซึ่งมีหลักประกัน จะสามารถเข้าถึงเงินฝากส่วนที่ได้รับความคุ้มครอง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.7 ล้านบาท) ต่อ 1 บัญชี ภายในวันที่ 13 มีนาคม


ส่วนลูกค้าที่ไม่ได้รับการประกันเงินฝาก ทางเจ้าหน้าที่จะนำเงินที่ได้มาจากการขายสินทรัพย์ของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ มาจ่ายให้


อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังสหรัฐฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระบุว่า บัญชีเงินฝากของทั้ง “ซิกเนเจอร์ แบงก์” และ SVB จะได้รับการดูแล และจะไม่เสียหายจนกลายเป็นภาระของผู้จ่ายภาษี


ล่าสุด สถาบันค้ำประกันเงินฝากของสหรัฐฯ ได้ตั้งธนาคารที่ทำการแทนขึ้นเมื่อวานนี้  (12 มีนาคม) ทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงเงินในบัญชีได้ ซึ่งทั้งผู้ฝากเงินและผู้กู้ของ “ซิกเนเจอร์ แบงก์” จะกลายเป็นลูกค้าของธนาคารแห่งใหม่โดยอัตโนมัติ ขณะที่ลูกค้าของ SVB จะสามารถเข้าถึงบัญชีเงินฝากได้ในวันนี้ (13 มีนาคม)


นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ประกาศว่าจะจัดตั้งโครงการ "Bank Term Funding Program" เพื่อปกป้องสถาบันการเงินต่าง ๆ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการล้มละลายของซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ 


โครงการดังกล่าวจะเสนอเงินกู้อายุ 1 ปีให้กับธนาคารพาณิชย์, สถาบันรับฝากเงิน, เครดิตยูเนียน และสถาบันการเงินประเภทอื่น ๆ




รัฐบาลสหรัฐฯ ยังเชื่อมั่นระบบธนาคารในประเทศ 


เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า รัฐบาลยังคงเชื่อมั่นต่อกลไกภาคการธนาคารของประเทศว่ามีความยืดหยุ่นเพียงพอ และหน่วยงานการตรวจสอบที่เกี่ยวข้องมีกลไกซึ่งมีประสิทธิภาพเพียงพอ เพื่อบริหารจัดการกับสถานการณ์ลักษณะนี้ 


อย่างไรก็ตาม เธอยอมรับว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นกับธนาคาร ซิลิคอน วัลเลย์ หรือ SVB นั้นน่าวิตกกังวล 


ขณะที่ เซซิเลีย รูส ที่ปรึกษาด้านนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยืนยันว่า หลังวิกฤติการเงินเมื่อปี 2008 ภาคการเงินและการธนาคารของสหรัฐฯ มีการปฏิรูปมากขึ้น รวมถึงมีการทดสอบภาวะวิกฤตทางการเงินอย่างสม่ำเสมอ รัฐบาลจึงยังคงเชื่อมั่นว่า จะไม่เกิดปรากฏการณ์ซ้ำรอยเมื่อ 15 ปีที่แล้ว


ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ก็ระบุว่า เขาจะดำเนินการแก้ไขวิกฤตการณ์ธนาคารในช่วงเช้าวันนี้ (13 มีนาคม) ตามเวลาท้องถิ่น ท่ามกลางสถานการณ์ที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ได้ประกาศแผนช่วยเหลือลูกค้าที่ฝากเงินในธนาคาร และป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง จากการล้มละลายแบบเฉียบพลันของธนาคารหลายแห่ง


นอกจากนี้ ผู้นำสหรัฐฯ ยังระบุด้วยว่า ขอให้ชาวอเมริกันและนักธุรกิจทุกคนในสหรัฐฯ เชื่อมั่นได้ว่า เงินในธนาคารของทุกคนจะยังคงอยู่ไม่หายไปไหน




เสียงตอบรับหลังรัฐบาลประกาศมาตรการคุ้มครอง


มีรายงานว่า ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์พุ่งขึ้นกว่า 300 จุดในช่วงเช้าวันนี้ ขานรับข่าวธนาคารกลางสหรัฐฯ และกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศมาตรการคุ้มครองเงินฝากของประชาชนที่ฝากเงินไว้กับซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์


 ณ เวลา 06.34 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์พุ่งขึ้น 302 จุด หรือ +0.94% แตะที่ 32,467 จุด  


ขณะที่ ราคาบิตคอยน์ดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 22,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเช้าวันนี้ หลังมีรายงานว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ และกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศมาตรการคุ้มครองเงินฝากของประชาชนที่ฝากเงินไว้กับซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ และซิกเนเจอร์ แบงก์ 


ณ เวลา 07.38 น. ตามเวลาไทย ราคาบิตคอยน์พุ่งขึ้น 845 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.95% แตะที่ 22,242 ดอลลาร์สหรัฐ

————

แปล-เรียบเรียง: สุภาพร เอ็ลเดรจ

ภาพ: GETTY IMAGES


ข้อมูลอ้างอิง: 

1, 2


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง