TNN online ‘มงกุฎอิมพีเรียลสเตต’ มงกุฎแห่งราชวงศ์อังกฤษ

TNN ONLINE

World

‘มงกุฎอิมพีเรียลสเตต’ มงกุฎแห่งราชวงศ์อังกฤษ

‘มงกุฎอิมพีเรียลสเตต’  มงกุฎแห่งราชวงศ์อังกฤษ

หากเราได้ชมขบวนเคลื่อนพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 กษัตริย์ผู้ครองราชย์ยาวนานที่สุดแห่งราชวงค์สหราชอาณาจักร จากพระราชวังบักกิงแฮม ไปยังมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ นอกจากจะได้ชมภาพวินาทีทางประวัติศาสตร์แล้ว เรายังได้เห็นมงกุฎที่ส่องประกายแวววาว บนหีบพระบรมศพของพระองค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในมงกุฎเพชรของราชวงศ์สหราชอาณาจักร ที่เราอาจมักได้เห็นอยู่บ่อยครั้ง โดยมงกุฎองค์นี้มีชื่อว่า ‘มงกุฎอิมพีเรียลสเตต’

มงกุฎอิมพีเรียลสเตต’ เป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสหราชอาณาจักร ประดับด้วยอัญมณีเกือบ 3,000 เม็ด ได้เแก่ เพชร 2,868 เม็ด, ไข่มุก 273 เม็ด, แซฟไฟร์ 17 เม็ด, มรกต 11 เม็ด และทับทิมอีก 5 เม็ด ภายในจะมีหมวกกำมะหยี่สีม่วง ตรงขอบหมวกทำมาจากขนเออร์มิน ล้อมรอบด้วยกรอบที่ทำมาจากทอง, เงิน และแพลตตินัม มีขนาดน้ำหนัก 1.06 กิโลกรัม สูง 31.5 เซนติเมตร 


‘มงกุฎอิมพีเรียลสเตต’  มงกุฎแห่งราชวงศ์อังกฤษ


มงกุฎรุ่นนี้ สร้างขึ้นเมื่อปี 1937 โดยบริษัท ‘การ์ราร์ด แอนด์ โค’ เพื่อใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชบิดาของพระองค์ ได้รับการออกแบบให้มีขนาดที่เบา และมีขนาดที่พอดีกว่ามงกุฎอิมพีเรียลสเตต ในยุคของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ที่สร้างขึ้นในปี 1838 อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงสมัยการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้มีการปรับขนาดเพื่อให้มีความพอดีแก่อิสตรีมากขึ้น 


นอกจากนี้ ‘มงกุฎอิมพีเรียลสเตต’ ประกอบไปด้วยอัญมณีที่มีชื่อเสียงมากมาย โดยอัญมณีที่ฝังอยู่ตรงกลางบริเวณกางเขนยอดสุดของมงกุฎ คือ ‘แซฟไฟร์เซนต์เอ็ดเวิร์ด’ ที่เล่าขานกันว่า เป็นแซฟไฟร์ที่นำมาจากแหวนของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์เวสเซกซ์ 


ต่อมาเป็น ‘ทับทิมเจ้าชายดำ’ ฝังอยู่บริเวณกางเขนหน้าหมวกมงกุฎ ซึ่งได้ทูลเกล้าถวายให้แก่ ‘เอ็ดเวิร์ดแห่งวูดสต็อค’ หรือ ‘เจ้าชายดำ’ หลังการสู้รบในสเปนเมื่อปี 1367 


ใต้ลงมาจะเป็น ‘เพชรคัลลินัน 2’ ขนาด 317.4 กระรัต เป็นอัญมณีที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ซึ่งถูกเจียระไนมาจากเพชรคัลลินันที่ใหญ่ที่สุดที่เคยพบมา 


ส่วนบริเวณด้านหลัง คือ ‘แซฟไฟร์สจวต’ ขนาด 104 กระรัต เป็นอัญมณีที่มีชื่อต้นกำเนิดมาจากราชวงศ์สจวตแห่งสกอตแลนด์ หลังถูกนำออกนอกอาณาจักรโดยพระเจ้าเจมส์ที่ 2 เมื่อปี 1688 และกลับคืนสู่ราชวงศ์ในอีก 130 ปีให้หลัง ในสมัยพระเจ้าจอร์จที่ 4 ขณะที่ ไข่มุกที่ประดับอยู่บนมงกุฎเป็นของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 




ทั้งนี้ นักประวัติศาสตร์ กล่าวว่า หากย้อนกลับไปในช่วงยุคกลาง มงกุฎคือสิ่งบ่งบอกถึงความมั่นคั่ง และสถานะของบุคคลนั้น รวมถึงแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของอำนาจอธิปไตย เช่นเดียวกับ ‘มงกุฎอิมพีเรียลสเตต’ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนถึงอำนาจอธิปไตยของพระมหากษัตริย์ 


โดย ‘มงกุฎอิมพีเรียลสเตต’ จะถูกใช้หลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จออกจากมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งเป็นสถานที่ในการทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยระหว่างทำพิธี กษัตริย์จะทรงสวม ‘มงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด’ ซึ่งมีน้ำหนัก 2.23 กิโลกรัมแทน 


‘มงกุฎอิมพีเรียลสเตต’  มงกุฎแห่งราชวงศ์อังกฤษ



ในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เราจะเห็นพระองค์ทรงสวมมงกุฎอิมพีเรียลสเตตเป็นประจำทุกปีในพิธีเปิดรัฐสภา ซึ่งพระองค์จะนั่งบนบัลลังก์ทอง เคียงข้างเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ เพื่ออ่านแผนนิติบัญญัติที่สำคัญของรัฐบาลในปีหน้า 


โดยเมื่อปี 2018 พระองค์ได้เคยตรัสถึงความรู้สึกเวลาที่พระองค์ทรงสวมมงกุฎอย่างติดตลก ขณะทรงให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC ว่า “พระองค์ไม่สามารถที่จะก้มหน้าอ่านสุนทรพจน์ได้ จำเป็นต้องยกกระดาษขึ้น เพราะถ้าก้มหน้า พระศออาจจะหักได้”


ปัจจุบัน มงกุฎอิมพีเรียลสเตตถูกเก็บรักษาอยู่ที่หอคอยแห่งลอนดอน ร่วมกับมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ด และเครื่องราชกกุธภัณฑ์อื่น ๆ โดยตามประเพณีที่สืบทอดกันมา พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงสวมมงกุฎนี้ เมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อออกจากมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ รวมถึงพิธีเปิดรัฐสภา และจะใช้ในโอกาสพิธีทางการอื่น ๆ เฉกเช่นเดียวกับพระราชมารดาของพระองค์ 



ภาพ TNNWorld  





อัปเดตข่าวไฮไลต์และบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจ มาเป็นเพื่อนใน Line กับ TNN World คลิก https://lin.ee/LdHJXZt

ติดตาม TNN World ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ที่ 

Facebook : https://www.facebook.com/TNNWorld

Website : https://bit.ly/TNNWorldWebsite

Youtube : https://bit.ly/TNNWorldTodayYouTube

TikTok : https://bit.ly/TNNWorldTikTok


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง