TNN online แกะรอย "ฝีดาษลิง" โรคนี้มีจุดเริ่มต้นอย่างไร? ก่อนแพร่ระบาดไปทั่วโลก

TNN ONLINE

World

แกะรอย "ฝีดาษลิง" โรคนี้มีจุดเริ่มต้นอย่างไร? ก่อนแพร่ระบาดไปทั่วโลก

แกะรอย ฝีดาษลิง โรคนี้มีจุดเริ่มต้นอย่างไร? ก่อนแพร่ระบาดไปทั่วโลก

แกะรอย "ฝีดาษลิง" โรคนี้มีจุดเริ่มต้นอย่างไร ก่อนแพร่ระบาดไปทั่วโลก WHO ประกาศเตือนระดับสูงสุดเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

เนื่องจาก โรคฝีดาษลิง (monkeypox) แพร่ระบาดไปทั่วโลก ซึ่งกระตุ้นให้มีการแย่งชิงวัคซีนกัน ทีมข่าว TNN ช่อง 16 พาไปแกะรอย เพื่อติดตามว่า ฝีดาษลิง ระบาดไปอย่างไร ตั้งแต่ปรากฏโฉมครั้งแรกในแอฟริกาช่วงทศวรรษที่ 1970

เมื่อวันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้การระบาดของฝีดาษลิง ซึ่งมีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 16,000 คน จาก 75 ประเทศทั่วโลก และจนถึงตอนนี้ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 คน “เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” ซึ่งเป็นการเตือนระดับสูงสุด

โรคฝีดาษลิง ซึ่งใช้ชื่อนี้เพราะพบครั้งแรกในลิงตัวหนึ่ง คล้ายคลึงกับไวรัสไข้ทรพิษ ที่ถูกกำจัดหมดไปจากโลกแล้วในปี 1980 แต่อาการรุนแรงน้อยกว่ามาก ปัจจุบันนี้ ฝีดาษลิงกำลังระบาดออกนอกแอฟริกา แต่ฝีดาษลิงสายพันธุ์ที่กำลังระบาดนอกแอฟริกาขณะนี้ รุนแรงน้อยกว่า 2 สายพันธุ์ที่รู้จักกันก่อนหน้านี้

ปี 1970 : พบฝีดาษลิงในมนุษย์ครั้งแรก 

ฝีดาษลิงในมนุษย์ พบครั้งแรกในเด็กชายอายุ 9 ปี เมื่อปี 1970 ในประเทศซาอีร์ ซึ่งปัจจุบันนี้ คือประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โรคนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่นในแอฟริกากลางและตะวันตกไปแล้ว ซึ่งมีรายงาน 11 ประเทศพบผู้ติดเชื้อ โดยไวรัสตัวนี้ แพร่เชื้อผ่านการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่เป็นหนู หรือมนุษย์

ปี 2003 : พบการระบาดครั้งแรกนอกแอฟริกา

ในเดือนมิถุนายน 2003 โรคฝีดาษลิงไปโผล่ในสหรัฐฯ นับเป็นครั้งแรกที่พบนอกแอฟริกา โดยเชื่อว่าโรคนี้แพร่ระบาด หลังจากหนู ซึ่งนำเข้าสหรัฐฯจากประเทศกานา แพร่เชื้อให้ “แพรรีด็อก” (Prairie dog) หรือ “กระรอกดิน” ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือ ซีดีซี รายงานพบผู้ติดเชื้อ 87 คน แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต

ปี 2017 : ฝีดาษลิง เป็นโรคประจำถิ่นในไนจีเรีย

ปี 2017 เกิดการระบาดครั้งใหญ่ในไนจีเรีย โดยมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 200 คน และอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 3 จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก จากนั้น ในอีก 5 ปีต่อมา มีรายงานพบผู้ติดเชื้อกระจายไปทั่วโลกในกลุ่มนักเดินทางที่เดินทางออกจากไนจีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอังกฤษ, อิสราเอล, สิงคโปร์และสหรัฐฯ   

เดือนพฤษภาคม 2022 : ผู้ป่วยฝีดาษลิงนอกแอฟริกาเพิ่มมากขึ้น

ในเดือนพฤษภาคม 2022 มีการตรวจพบผู้ป่วยจำนวนมากในหลายประเทศนอกแอฟริกา ในหมู่ประชาชนที่ไม่ได้เดินทางเกี่ยวข้องกับภูมิภาคนี้ ส่วนใหญ่เกิดการระบาดอยู่ในกลุ่ม “ชายรักชาย” โดยมียุโรปกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดครั้งใหม่  

วันที่ 20 พฤษภาคม อังกฤษตรวจพบผู้ติดเชื้อ 20 คน ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มชายรักชาย ซึ่งในวันเดียวกันนี้ WHO ยืนยันพบผู้ติดเชื้อ 80 คนทั่วโลก รวมทั้งออสเตรเลีย, เบลเยียม, แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, โปรตุเกส, สเปนและสวีเดน

ปลายเดือนพฤษภาคม 2022 : เริ่มฉีดวัคซีน

ในวันที่ 23 พฤษภาคม สหรัฐฯ แถลงว่า กำลังเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันฝีดาษลิงด้วย ให้ประชาชนที่ติดต่อใกล้ชิดกับผู้ป่วยฝีดาษลิง จากนั้น ในอีก 3 วันถัดมา สหภาพยุโรป หรืออียู ระบุว่า กำลังดำเนินการสั่งซื้อวัคซีน เช่นเดียวกับที่เคยทำกับไวรัสโควิด-19

เดือนมิถุนายน 2022 : พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 1,000 คน

ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส กล่าวว่า มีผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงที่ยืนยันแล้วมากกว่า 1,000 คน จาก 29 ประเทศ ซึ่งไวรัสฝีดาษลิงไม่เคยระบาดมาก่อน

21 มิถุนายน อังกฤษประกาศแผนการเสนอฉีดวัคซีนให้กลุ่มชายรักชาย และชายที่มีความสัมพันธ์ได้ทั้งสองเพศ ที่มีคู่นอนหลายคน 

ผู้เชี่ยวชาญของ WHO ประชุมกันเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน เพื่อหารือภัยคุกคามดังกล่าว แต่ก็มีมติให้โรคฝีดาษลิงยังไม่เข้าองค์ประกอบที่จะประกาศให้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลก

กรกฎาคม 2022 : พบผู้ติดเชื้อ 14,000 คนใน 70 ประเทศ

วันที่ 8 กรกฎาคม หน่วยงานสาธารณสุขในฝรั่งเศส เริ่มรณรงค์ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันล่วงหน้าให้ประชาชนที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งรวมทั้งกลุ่มชายรักชาย, คนข้ามเพศ และกลุ่มที่ทำงานด้านการให้บริการทางเพศ

วันที่ 14 กรกฎาคม ซีดีซีของสหรัฐฯ รายงาน พบผู้ติดเชื้อมากกว่า 11,000 คนในประมาณ 60 ประเทศ ซึ่งปกติไม่เคยพบการระบาดของฝีดาษลิง ส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป, สหรัฐฯและแคนาดา โดยจำนวนผู้ติดเชื้อในนิวยอร์ก เพิ่มขึ้นสองเท่าภายในสัปดาห์เดียว เป็นหลายร้อยคน จากนั้นก็ปรากฏภาพประชาชนเข้าแถวยาวเหยียดเพื่อรอรับวัคซีน ที่ยังมีไม่เพียงพอ

20 กรกฎาคม เทดรอส ประกาศว่า มีรายงานมาที่ WHO ว่าพบผู้ป่วยฝีดาษลิงเกือบ 14,000 คนในปีนี้ จากมากกว่า 70 ประเทศ และมีผู้เสียชีวิต 5 คน ทั้งหมดอยู่ในแอฟริกา เขากล่าวว่า มีอยู่ 6 ประเทศที่รายงานพบผู้ติดเชื้อคนแรกในสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่บางประเทศการเข้าถึงการวินิจฉัยโรคและวัคซีนอย่างจำกัด ทำให้ยากที่จะติดตามและหยุดยั้งการระบาดของโรค

องค์การอนามัยโลก เรียกประชุมผู้เชี่ยวชาญครั้งใหม่ในวันที่ 21 กรกฎาคม เพื่อพิจารณาว่าจะประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลกหรือไม่ และในวันเสาร์ที่ผ่านมา เทดรอสประกาศให้การระบาดของฝีดาษลิง “เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” (Public Health Emergency of International Concern : PHEIC) เมื่อเงื่อนไขเข้าองค์ประกอบ

องค์การอนามัยโลก มีการประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ มาแล้ว 6 ครั้งก่อนหน้านี้ ซึ่งประกอบด้วย

ปี 2009 : ไวรัสไข้หวัดหมู เอช1เอ็น1 (H1N1)

การระบาดใหญ่ถูกพบครั้งแรกในเม็กซิโก และระบาดข้ามพรมแดนเข้าสู่สหรัฐฯและพื้นที่อื่น ๆ ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว 

พฤษภาคม 2014 : ไวรัสโปลิโอ

มีการประกาศหลังจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโปลิโอรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และมีการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโปลิโอ นอกเหนือจากโควิด-19 แล้ว ก็มีโรคโปลิโอเท่านั้น ที่ยังถูกประกาศให้เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศอยู่ในขณะนี้

สิงหาคม 2014 : อีโบลา

การระบาดในแอฟริกาตะวันตก แต่ก็มีระบาดเข้าสู่ยุโรปและสหรัฐฯ 

กุมภาพันธ์ 2016 : ไวรัสซิกา 

การระบาดใหญ่เริ่มต้นขึ้นในบราซิล และส่งผลกระทบอย่างหนักในทวีปอเมริกา มีการประกาศให้ไวรัสซิกา ซึ่งเกิดจากยุง เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

กรกฎาคม 2019 : อีโบลา

มีการประกาศให้โรคอีโบลา เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เป็นครั้งที่ 2 จากการระบาดในเมืองคีวู ทางตะวันออกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก หรือดีอาร์ซี

มกราคม 2020 : โควิด-19 

การประกาศเกิดขึ้นเมื่อไวรัสโควิด-19 ระบาดออกนอกจีนแผ่นดินใหญ่ ที่พบการระบาดครั้งแรก ซึ่งตอนนั้น มีผู้ติดเชื้อไม่ถึง 100 คน และไม่มีผู้เสียชีวิต การประกาศไวรัสโควิด-19 เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ มีขึ้นหลังการประชุมคณะกรรมการสถานการณ์ฉุกเฉิน 3 ครั้งเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสดังกล่าว 

การประชุมเมื่อวันที่ 22 มกราคม และ 23 มกราคม 2020 มีมติว่า ไวรัสโควิด-19 ยังไม่เข้าข่ายเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน

เวลาล่วงเลยมาจนถึงวันที่ 11 พฤษภาคม จึงมีการประกาศให้โควิด-19 เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ซึ่งเทดรอด ระบุว่า สถานการณ์เลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายประเทศตระหนักถึงอันตรายที่เกิดขึ้น


ภาพจาก รอยเตอร์


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง