TNN online ศรีลังกา เกิดอะไรขึ้น? สรุปไทม์ไลน์วิกฤตเศรษฐกิจเลวร้ายบานปลายถึงขั้นปธน.ลาออก

TNN ONLINE

World

ศรีลังกา เกิดอะไรขึ้น? สรุปไทม์ไลน์วิกฤตเศรษฐกิจเลวร้ายบานปลายถึงขั้นปธน.ลาออก

ศรีลังกา เกิดอะไรขึ้น? สรุปไทม์ไลน์วิกฤตเศรษฐกิจเลวร้ายบานปลายถึงขั้นปธน.ลาออก

สรุปไทม์ไลน์ "ศรีลังกา" เกิดอะไรขึ้น? จากเหตุการณ์เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจเลวร้าย บานปลายจนถึงขั้นประธานาธิบดีศรีลังกาประกาศลาออก

ศรีลังกา ประเทศที่มีประชากรราว 22 ล้านคน กำลังได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศอย่างรุนแรง ซึ่งมีการจำกัดการนำเข้าน้ำมัน อาหาร และยา ผลักดันให้เกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงสุด นับตั้งแต่ได้รับเอกราชเมื่อปี 1948

สรุปไทม์ไลน์ "ศรีลังกา" เกิดอะไรขึ้น?

ศรีลังกาเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนอาหารอย่างหนัก 

ประเทศศรีลังกา ต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุด ประชาชนจำนวนมากต้องไปเข้าแถวยาวเพื่อรอซื้อร้านขายแก๊สหุงต้ม ซึ่งมีราคาพุ่งขึ้นไปเป็นเกือบ 5,000 รูปี หรือประมาณ 14 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จากเดิมอยู่ที่  2,675 รูปี เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา 

ศรีลังกาประกาศน้ำมันหมดประเทศเหลือใช้แค่วันเดียว

ศรีลังกาเหลือน้ำมันสำรองใช้อีกเพียงวันเดียวเท่านั้น และขอให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับความยากลำบากในช่วงสองเดือนข้างหน้านี้ 

ขณะที่ การนำเข้าน้ำมันเบนซินและดีเซล ด้วยวงเงินสินเชื่อจากอินเดีย จะทำให้จัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงได้ ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า 

นอกจากนี้ ศรีลังกายังต้องการเงินตราต่างประเทศโดยด่วน 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 2,600 ล้านบาท เพื่อนำไปชำระค่านำเข้าสินค้าจำเป็น ในอีกไม่กี่วันเช่นกัน

ศรีลังกา ประสบปัญหาขาดแคลนทุนสำรองระหว่างประเทศ

จากกรณีที่ ศรีลังกา ประสบปัญหาขาดแคลนทุนสำรองระหว่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถนำเข้าสินค้าจำเป็นได้ นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดของประเทศ กระทบประชาชน 22 ล้านคนต้องเผชิญกับความยากลำบากในการใช้ชีวิต

ศรีลังกา ต้องเผชิญวิกฤตพลังงานรุนแรง ขณะนี้น้ำมันเบนซินในคลังสำรองเหลืออยู่ราว 4,000 ตัน ซึ่งเพียงพอสำหรับการใช้ไม่ถึง 1 วัน 

ชาวศรีลังกาต่อคิวยาวเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรในเมืองหลวง แม้ว่าปั๊มส่วนใหญ่จะไม่มีน้ำมันมาหลายวันแล้ว ระบบขนส่งสาธารณะก็ใกล้จะระงับให้บริการ เนื่องจากไม่มีน้ำมันเพียงพอ 

ศรีลังกาเตรียมหยุดพิมพ์ธนบัตรรูปี หลังเงินเฟ้อพุ่งเกือบร้อยละ 60

นายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห ของศรีลังกา กล่าวต่อรัฐสภาว่า เตรียมจะหยุดพิมพ์ธนบัตรรูปีเข้าสู่ระบบ เพื่อจัดการกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ซึ่งมีแนวโน้มจะแตะร้อยละ 60 

ดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อ เดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.6 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากค่าขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 128 จากเดือนก่อนหน้า และราคาอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 80 ท่ามกลางภาวะขาดแคลนธัญพืชและน้ำมันดิบอย่างรุนแรง

ขณะนี้ศรีลังกากำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรง โดยขาดแคลนเงินดอลลาร์สำหรับซื้อเชื้อเพลิง รวมถึงนำเข้าสินค้าจำเป็น เช่น อาหาร ปุ๋ย ยารักษาโรค และก่อนหน้านี้ ต้องพิมพ์เงินรูปีเพื่อจ่ายเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐ 

นายกรัฐมนตรีศรีลังกา ระบุด้วยว่า รัฐบาลตั้งเป้าที่จะได้รับการอนุมัติเงินกู้ระยะเวลา 4 ปี จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งเป็นไปตามแผนที่จะแก้วิกฤต

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่ IMF เดินทางไปหารือกับผู้แทนของศรีลังกา ซึ่งยังไม่บรรลุข้อตกลง ท่ามกลางความหวังว่าศรีลังกาจะได้รับการอนุมัติเบื้องต้นในการรับความช่วยเหลือทางการเงิน

ศรีลังกายอมรับประเทศ "ล้มละลาย" วิกฤตถึงปีหน้า

ศรีลังกาจะยังคงเผชิญความยากลำบากหลายประการในปี 2566 และแผนการเร่งด่วนของรัฐบาลคือควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งอาจจะพุ่งสูงแตะร้อยละ 60 ภายในสิ้นปี 2565

ทั้งนี้ ศรีลังกาขอความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และกลุ่มมิตรประเทศ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้าย ซึ่งก่อปัญหาขาดแคลนเชื้อเพลิง ยารักษาโรค อาหาร ก๊าซ และสิ่งจำเป็นอื่น ๆ

วิกรมสิงเห ได้แถลงต่อรัฐสภา โดยยอมรับว่า ประเทศศรีลังกาอยู่ในสถานะล้มละลาย เป็นความเจ็บปวดรุนแรงจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งจะยืดเยื้อไปจนถึงสิ้นปีหน้าเป็นอย่างน้อย 

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประชากรศรีลังกา 22 ล้านคน ต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูง และการตัดลดกระแสไฟฟ้านานวันละหลายชั่วโมง เนื่องจากรัฐบาลไม่มีเงินตราต่างประเทศนำเข้าสินค้าจำเป็น

ศรีลังกาขอความช่วยเหลือด้านพลังงาน

ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ของศรีลังกาได้พูดคุยกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เพื่อขอความช่วยเหลือด้านพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ศรีลังกาขาดแคลนอย่างหนัก นอกจากนี้ยังขอความช่วยเหลือด้านการท่องเที่ยว โดยขอให้มีการเปิดเที่ยวบินระหว่างมอสโกและโคลัมโบขึ้นอีกครั้ง เพื่อให้ศรีลังกา มีรายได้จากภาคเที่ยวอีกทางหนึ่ง 

ซึ่งการหารือครั้งนี้ ผู้นำทั้งสองประเทศเห็นพ้องกันในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีในภาคส่วนต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว, การค้า และวัฒนธรรม 

สถานการณ์ศรีลังกาวุ่นวายต่อเนื่อง ประชาชนปักหลักชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาล

ส่วนสถานการณ์ในศรีลังกากลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาล ยังคงปีกหลักประท้วงทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่บริเวณใกล้อาคารรัฐสภา โดยที่พวกเขาเรียกว่าเป็น “การผลักดันครั้งสุดท้าย” ในความพยายามขับไล่รัฐบาลของประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา  

ชาวศรีลังกา ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการขาดแคลนเชื้อเพลิง, พลังงาน, อาหารและสินค้าจำเป็นอื่น ๆ ติดต่อกันมานานหลายสัปดาห์ ส่วน คณะแพทย์ ประเมินว่า ระบบสาธารณสุขโดยรวมของประเทศ อาจล่มสลายได้ในเร็วๆนี้

รัฐบาลศรีลังกา ขอรับการช่วยเหลือจากรัสเซียให้จัดหาเชื้อเพลิง

ส่วนความเคลื่อนไหว ของประธานาธิบดีราชปักษา โดยเฉพาะการขอรับการสนับสนุนทางการเงินจากหลายประเทศ ประสบความล้มเหลว จนไม่สามารถยุติปัญหาการขาดแคลน หรือหยุดการประท้วงตามท้องถนนที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ

ขณะที่รัฐบาลศรีลังกา ขอรับการช่วยเหลือจากรัสเซียให้จัดหาเชื้อเพลิงและเปิดเที่ยวบินเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อให้ศรีลังกาผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้

แบงก์ชาติศรีลังกาขึ้นดอกเบี้ยร้อยล่ะ 1 หวังสกัดเงินเฟ้อพุ่ง

ธนาคารกลางศรีลังกา (CBSL) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1% (7 ก.ค.) โดยมีเป้าหมายที่จะสกัดกั้นเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และควบคุมการคาดการณ์เงินเฟ้อด้วย

ทั้งนี้ CBSL ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Standing Lending Facility Rate) ขึ้น 1% สู่ระดับ 15.50% และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Standing Deposit Facility Rate) สู่ระดับ 14.50%

คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า การปรับนโยบายในครั้งนี้จะช่วยให้การคาดการณ์เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายในระยะกลาง ขณะเดียวกันก็จะช่วยควบคุมแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เกิดจากการพุ่งขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ" 

ชาวศรีลังกาหลายพันคนบุกเข้าบ้านพักของประธานาธิบดี 

ชาวศรีลังกาหลายพันคนบุกเข้าบ้านพักของประธานาธิบดี (9 ก.ค.) เรียกร้องให้ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ของศรีลังกาลาออก หลังสามารถเจาะวงล้อมการรักษาความปลอดภัยไปได้ 

ก่อนหน้านี้ ผู้ชุมนุมได้มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 31 คน รวมถึงตำรวจ 2 นาย ทั้งนี้ มี 2 คนในจำนวนผู้บาดเจ็บมีอาการสาหัส 

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีรานีล วิกรมสิงห์เห ได้เรียกประชุมหัวหน้าพรรคเร่งด่วน เพื่อหารือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และแนวทางยุติปัญหาต่าง ๆ 

อย่างไรก็ตาม มาตรการเคอร์ฟิวที่เคยกำหนดก่อนหน้านี้ ในหน่วยงานตำรวจหลายแห่ง ทางพื้นที่ตะวันตกของศรีลังกาถูกยกเลิก 

นักการเมืองหลายคน ชี้ว่า การใช้เคอร์ฟิวดังกล่าว เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและกล่าวว่า ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงใด ที่มีเหตุผลต่อการกำหนดใช้มาตรการดังกล่าว 

ประธานาธิบดีศรีลังกา ขอลาออกจากตำแหน่ง

สถานการณ์ในประเทศศรีลังกายังไม่สงบ หลังกลุ่มผู้ประท้วงหลายพันคนรวมตัว บุกเข้าล้อมทำเนียบที่พักของประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ในกรุงโคลัมโบ เพื่อกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่สามารถแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจที่ตกต่ำสุดในรอบ 74 ปี  

ขณะที่นายราชปักษา ได้รับการอารักขาออกจากที่พักไปไม่นานก่อนที่กลุ่มผู้ประท้วงจะบุกเข้าด้านในอาคาร  ซึ่งฝ่ายความมั่นคง ย้ำว่านายราชปักษายังเป็นประธานาธิบดีศรีลังกา และขณะนี้อยู่ในความคุ้มครองของกองทัพอย่างปลอดภัย

ล่าสุดนายมหินทา ยาปา อาเบย์วาร์เดนา ประธานรัฐสภาของศรีลังกา เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีราชปักษา ได้แจ้งความประสงค์ขอลาออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครยืนยันเบาะแสของ นายราชปักษา ท่ามกลางกระแสข่าวว่าเขาอยู่ทั้งที่สนามบินและท่าเรือในกรุงโคลอมโบเพื่อเตรียมลี้ภัยหนีออกนอกประเทศ   

ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีศรีลังกาเตรียมลาออกจากตำแหน่ง

รัฐสภาแห่งศรีลังกาออกแถลงการณ์ ว่าประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา เตรียมลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 13 ก.ค. นี้ ขณะที่นายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห ก็จะขอลาออกจากตำแหน่งเช่นกัน  เพื่อให้มีการถ่ายโอนอำนาจอย่างราบรื่น ด้วยเหตุนี้ รัฐสภาและรัฐบาลขอให้ประชาชนอยู่ในความสงบและเคารพกฎหมาย

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการประท้วงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ลุกลามบานปลายเป็นการที่มวลชนสามารถฝ่าการปะทะและแนวรั้วกั้นของเจ้าหน้าที่ จนเข้าไปภายในบ้านพักประจำตำแหน่งของประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี ตลอดจนอาคารรัฐสภาหลังเก่า ที่ตั้งอยู่ในเขตใจกลางกรุงโคลัมโบได้สำเร็จ และมีการจุดไฟเผาทำลายบ้านพักของทั้งคู่ด้วย 

สถานีโทรทัศน์ศรีลังกา และสื่อออนไลน์ แพร่ภาพผู้ประท้วงจำนวนมากฝ่าแนวรักษาความปลอดภัยเข้าไปในทำเนียบประธานาธิบดี ซึ่งเป็นทั้งสำนักงานและบ้านพัก หลายคนเข้าไปกางป้ายประท้วงจากระเบียง บ้างลงไปเล่นน้ำในสระว่ายน้ำ 

อพยพคณะผู้นำศรีลังกาและครอบครัว

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอพยพคณะผู้นำศรีลังกาและครอบครัวออกไปยังสถานที่แห่งอื่นล่วงหน้าแล้ว

แม้ยังไม่มีการแสดงท่าทีอย่างเป็นทางทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีเรื่องการลาออกจากตำแหน่ง แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งของสถานการณ์ในศรีลังกา ซึ่งทวีความตึงเครียดต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปีนี้ 

จากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ จนโครงสร้างทั้งหมดล่มสลาย ถึงขั้นไม่มีเงินชำระหนี้ เกิดวิกฤตข้าวยากหมากแพง รวมถึงขาดแคลนเชื้อเพลิง รัฐบาลต้องสั่งหยุดขายน้ำมันให้กับยานพาหนะส่วนบุคคล  สั่งปิดสถานศึกษาและหน่วยราชการเพื่อประหยัดน้ำมัน



ภาพจาก AFP


   


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง