TNN online CDC สหรัฐฯ เตือนอย่าพึ่งตระหนกฝีดาษลิง แม้หลายชาติแห่ซื้อวัคซีนและยารักษา

TNN ONLINE

World

CDC สหรัฐฯ เตือนอย่าพึ่งตระหนกฝีดาษลิง แม้หลายชาติแห่ซื้อวัคซีนและยารักษา

CDC สหรัฐฯ เตือนอย่าพึ่งตระหนกฝีดาษลิง แม้หลายชาติแห่ซื้อวัคซีนและยารักษา

การกระบาดของโรคฝีดาษลิงในหลายภูมิภาคทั่วโลกสร้างความกังวลว่า จะทำให้สถานการณ์ต่างๆ กลับมาเลวร้ายลงหรือไม่ หลังจากที่การระบาดของโควิด-19 กำลังจะคลี่คลาย ผู้เชี่ยวชาญจาก CDC หรือ ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐฯ ชี้ว่า ฝีดาษลิง ไม่ใช่ โควิด-19 ที่แม้จะสามารถระบาดได้ผ่านทางเดินหายใจก็จริง แต่ก็ระบาดง่ายเหมือนโควิด-19

ดร.เจนนิเฟอร์ แมคควิสตัน เจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ CDC เตือนประชาชนว่า อย่าตื่นตระหนกจนเกินไป เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของฝีดาษลิง โดยย้ำว่าแม้จะสามารถติดต่อทางอากาศได้ แต่ก็ไม่ง่ายเหมือนโควิด-19  เพราะผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงต้องมีรอยโรคในลำคอหรือในปาก จึงจะสามารถแพร่เชื้อไวรัสผ่านละอองทางเดินหายใจได้ และต้องอยู่ใกล้ ๆ กับคนอื่นเป็นเวลานาน


ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยฝีดาษลิง 9 คน บินจากไนจีเรียไปยังประเทศอื่นๆ เป็นเวลานาน ก็ไม่ได้ทำให้ใครติดเชื้อบนเครื่องบิน และไม่ได้ติดง่ายขนาดที่ว่า หากผู้ป่วยเดินผ่านใครสักคนในร้าขายของชำ แล้วพวกเขาจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ พร้อมย้ำกับผู้สื่อข่าว CNBC ว่า โรคฝีดาษลิง ไม่ใช่ โควิด-19


---แล้วฝีดาษลิงติดต่อกันได้อย่างไร ง่ายแค่ไหน?---


แม้ว่าจะไม่ได้มีการบันทึกไว้ว่าโรคฝีดาษลิงแพร่ระบาดโดยการมีเพศสัมพันธ์ แต่ก็สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ของเหลวในร่างกาย และเสื้อผ้าหรือผ้าปูที่นอนได้


ไมเคิล สกินเนอร์ (Michael Skinner) นักไวรัสวิทยาที่ Imperial College ในกรุงลอนดอน บอกกับ AP ว่า ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่า ชายหลายคนในอังกฤษติดเชื้อได้อย่างไร แต่โดยธรรมชาติแล้ว ความสัมพันธ์ทางเพศที่มีการสัมผัสใกล้ชิดนั้น คาดว่าจะทำให้มีโอกาสแพร่เชื้อได้มากขึ้น


จิมมี่ วิธเวิร์ธ (Jimmy Whitworth) ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศที่ London School of Hygiene and Tropical Medicine บอกกับ Reuters ว่า การติดเชื้อฝีดาษลิงรายใหม่ ๆ นั้น มีความผิดปกติอย่างมาก แต่ก็แนะนำว่าไม่ต้องเป็นกังวล


อย่างไรก็ตามแม้ว่าโรคนี้จะไม่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วประเทศเหมือนโควิด แต่ก็เป็นการแพร่ระบาดของโรคที่ร้ายแรง ดังนั้นควรหาทางรับมือกับปัญหานี้อย่างจริงจัง


---ฝีดาษลิงระบาดไปที่ไหนบ้าง?---


องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดคะเนว่าทุก ๆ ปีมีผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงหลายพันรายในหลายประเทศในแอฟริกา โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศคองโก ซึ่งมีรายงานผู้ติดเชื้อปีละ 6,000 ราย และที่ไนจีเรียซึ่งมีผู้ติดเชื้อปีละประมาณ 3,000 ราย ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามีผู้ติดเชื้ออีกมากที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้


นอกจากนี้ ยังมีรายงานผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงนอกแอฟริกา รวมถึงในสหรัฐฯ และอังกฤษ โดยปกติแล้วการติดเชื้อดังกล่าวนี้มักเชื่อมโยงกับการเดินทางไปแอฟริกาหรือมีการสัมผัสจับต้องกับสัตว์ที่มาจากพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้


ในปี 2003 มีผู้ป่วย 47 รายในสหรัฐฯ ที่ได้รับการยืนยันหรือน่าจะเป็นไปได้ว่าเป็นโรคฝีดาษลิง โดยได้รับเชื้อ “แพร์รี่ด็อก” ซึ่งเป็นสัตว์ฟันแทะที่มีลักษณะคล้ายกับหนู ที่นำเข้ามาจากประเทศกานา


อย่างไรก็ตาม การระบาดล่าสุด นับเป็นครั้งแรกที่โรคฝีดาษลิงแพร่ระบาดในหมู่คนที่ไม่ได้เดินทางไปแอฟริกา และมีรายงานการติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดขึ้นในหมู่ชายรักชาย


---ยุโรปพบผู้ติดเชื้อที่ไหนบ้าง---


ส่วนที่ยุโรป มีรายงานการติดเชื้อในประเทศอังกฤษ อิตาลี โปรตุเกส สเปน และสวีเดน


สเปนพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงในประเทศเพิ่มเป็น 55 คนแล้ว ต้องรีบสั่งซื้อวัคซีนป้องกันที่มีชื่อว่า อิมวาเนกซ์ เพื่อมาแจกจ่ายให้ประชาชน ขณะที่ โปรตุเกสก็พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีกนับสิบคน


หลายประเทศในยุโรปเริ่มฉีดวัคซีนต้านฝีดาษลิงให้ประชาชนแล้ว ทำให้องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เตือนยุโรปว่า อย่าแย่งกันซื้อวัคซีนป้องกันฝีดาษลิง เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อยังต่ำมากในยุโรป ไม่เช่นนั้นจะทำให้วัคซีนขาดแคลนได้ คาดว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะยังสูงขึ้นอีก แต่ผู้เชี่ยวชาญสาธารณสุขเชื่อว่าความเสี่ยงยังคงต่ำ


ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งยุโรป (European Center for Disease Prevention and Control) ระบุว่า ผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อควรกักตัว ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากสัมผัสจับต้องกับผู้ติดเชื้อ ควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ หรือโรคฝีดาษ เบลเยียมกลายเป็นชาติแรกที่ออกมาตรการเข้มงวด ต้องกักตัวผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง 21 วัน


มีรายงานล่าสุด ว่ามีอีกอย่างน้อย 3 ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงรายแรก ประกอบด้วย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยผู้ป่วยเพิ่งเดินทางไปเยือนแอฟริกาตะวันตก ทำให้เป็นชาติแรกในภูมิภาคที่พบผู้ติดเชื้อ ขณะที่อีก 2 ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อรายแรกคือ สาธารณรัฐเชค และสโลเวเนีย ทำให้ตอนนี้รวมแล้วมี 18 ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อนอกภูมิภาคแอฟริกา


WHO คาดว่าจะพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงทั่วโลกเพิ่มขึ้นอีก แม้ในประเทศที่แทบจะไม่เคยพบโรคนี้มาก่อน


---เจาะลึกโรคฝีดาษลิง---


ฝีดาษลิง หรือ Monkeypox เป็นเชื้อไวรัสจากลิงที่ถูกพบเป็นครั้งแรกในปี 1958 และได้แพร่ระบาดอยู่ในสัตว์ป่าและบางครั้งก็แพร่ระบาดไปสู่มนุษย์ด้วย


โรคฝีดาษลิง อยู่ในตระกูลไวรัสเดียวกันกับไข้ทรพิษ หรือโรคฝีดาษในมนุษย์ แต่มีอาการไม่รุนแรงนัก ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย หนาวสั่น และเหนื่อยล้าเท่านั้น ส่วนผู้ป่วยที่อาการหนักมากอาจจะมีผื่นขึ้นและมีรอยบาดที่ใบหน้าและมือ ซึ่งสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้


ไวรัสนี้จะพัฒนาในร่างกายมนุษย์ประมาณ 5 วันถึง 3 สัปดาห์ หลังการติดเชื้อ คนส่วนใหญ่จะสามารถฟื้นตัวภายในเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ในอัตราส่วน 1 ใน 10 คน และดาดว่าอาการของโรคนี้จะรุนแรงกว่าในหมู่เด็ก


---แล้วคนไทยควรวิตกแล้วหรือยัง?---


กรมควบคุมโรคไทยยืนยันว่า โรคฝีดาษลิงยังมาไม่ถึงประเทศไทย แม้ว่าองค์การอนามัยโลกยอมรับว่า การระบาดของฝีดาษลิงนอกประเทศถิ่นกำเนิดในแอฟริกา ถือว่าไม่ปกติ เพราะผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่เคยไปแอฟริกาเลย


ฝีดาษลิงนั้น เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีอาการมากมาย แต่ลักษณะทางกายภาพที่เห็นชัดที่สุด คือ ผื่นคันบริเวณใบหน้า มือและเท้า ที่อาจมีขนาดเล็กใหญ่แล้วแต่กรณี โดยผื่นคันเหล่านี้ อาจเกิดหนอง และแตกจนกลายเป็นแผลได้ หากสัมผัสและเการุนแรง หรือไม่ก็ตกสะเก็ดแล้วหายไปเองก็มี


ขณะที่ อัตราการเสียชีวิตของฝีดาษลิงนั้น ถือว่าต่ำกว่าฝีดาษในมนุษย์มาก เพราะอยู่ที่ 1-10% เท่านั้น และปัจจุบัน วัคซีนและยารักษาฝีดาษใช้ได้ผล

—————

แปล-เรียบเรียง: สันติ สร้างนอก และ สุภาพร เอ็ลเดรจ

ภาพ: Reuters



ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง