TNN online ‘วิเคราะห์อนาคตเกาหลีใต้’ ภายใต้การบริหารของ ‘ยุน ช็อกยอล’ ท่ามกลางความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี

TNN ONLINE

World

‘วิเคราะห์อนาคตเกาหลีใต้’ ภายใต้การบริหารของ ‘ยุน ช็อกยอล’ ท่ามกลางความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี

‘วิเคราะห์อนาคตเกาหลีใต้’ ภายใต้การบริหารของ ‘ยุน ช็อกยอล’ ท่ามกลางความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี

เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา เกาหลีใต้ได้ประธานาธิบดีคนใหม่ คนที่ 20 ของประเทศ ซึ่งได้แก่ ‘ยุน ช็อกยอล’ อดีตอัยการสูงสุด ตัวแทนผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคพลังประชาชน (People Power Party) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของรัฐบาลมุน แจอิน

‘ยุน ช็อกยอล’ สามารถเอาชนะด้วยผลคะแนนโหวต 48.5% เฉือนคะแนนคู่แข่งจากพรรครัฐบาลอย่าง อี แจมยอง ไปเพียงแค่ 0.7% เท่านั้น ซึ่งนับได้ว่า เป็นการแข่งขันที่สูสีที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองเกาหลีใต้ เตรียมดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ในเอเชีย เป็นเวลา 5 ปี 


ท่ามกลางชัยชนะที่ได้มา ก่อนเข้ารับพิธีสาบานตนในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ กลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และจับตามองในตัวยุนมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ช่วงหาเสียง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านต่างประเทศ นโยบายด้านอนุรักษ์นิยม และอื่น ๆ รวมไปถึงชื่อเสียงของตนและครอบครัว จนทำให้หลายคนต่างสนใจว่าอนาคตของเกาหลีใต้จะเป็นอย่างไร ภายใต้การบริหารของ ‘ยุน ช็อกยอล’ ร่วมวิเคราะห์ไปกับ อ.เสกสรร อานันทศิริเกียรติ 


---เดินหน้านโยบาย สร้างความสัมพันธ์กับนานาชาติ---


อ.เสกสรร อานันทศิริเกียรติ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมไทยคดีศึกษาแห่งสาธารณรัฐเกาหลี หรือ KATS วิเคราะห์ถึงแนวโน้มอนาคตทิศทางการบริหารภายใต้รัฐบาลของยุน ช็อก-ยอล ว่า มี 2 เรื่องที่ยุน แสดงท่าทีชัดเจน ได้แก่ นโยบายด้านต่างประเทศ และความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือที่เข้มข้นขึ้น 


“จริง ๆ มี 2 เรื่องใหญ่ ที่จะส่งผลต่อเกาหลีใต้เอง และทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออก เรื่องแรกก็คือ นโยบายต่างประเทศ ยุน ช็อก-ยอล มีท่าทีที่ชัดเจนมากว่า จะสนับสนุนสหรัฐฯ ซึ่งตั้งแต่ตอนหาเสียงเลย คุณยุนก็ประกาศสโลแกนบอกว่า เปลี่ยนรัฐบาล คือเขาอยากจะเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างที่รัฐบาลปัจจุบันของมุน แจ-อิน ทำไว้ เพราะฉะนั้นเลยทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ของเกาหลีเหนือ ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ความสัมพันธ์กับจีน ความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น จะเปลี่ยนทิศทางไปทั้งหมด” อ.เสกสรร กล่าว 


“คนแรกที่โทรหาคุณยุนตั้งแต่รู้ว่าได้รับเลือกตั้ง ก็คือ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ คนที่ 2 คุณยุนก็บอกว่าจะคุยกับนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ซึ่งนี่ก็แสดงท่าทีเลยว่า เกาหลีใต้จะมีแนวโน้มเข้าหาสหรัฐฯ มากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะผละออกจากจีน แม้ว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจะโทรไปแสดงความยินดี”  


นอกจากนี้ อ.เสกสรร ยังกล่าวต่อไปว่า ตอนนี้เราเห็นสัญญาณแล้วว่า ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศของยุน ช็อก-ยอล ให้สัมภาษณ์ว่า ความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นจะต้องดีขึ้น และจะฟื้นคืน โดยจะกลับไปยึดข้อตกลงเมื่อปี 2015 ซึ่งรัฐบาลปาร์ค กึน-ฮเย ได้ทำขึ้น เพื่อรำลึกครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์เกาหลีใต้กับญี่ปุ่น ในสนธิสัญญาดังกล่าว เป็นการบอกว่า ข้อพิพาทใด ๆ ก็ตาม จะสิ้นสุดตามข้อตกลงนี้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ศาลสูงของเกาหลีใต้บอกว่า บริษัทญี่ปุ่นต้องชดใช้ สำหรับ Comfort Women (นางบำเรอ) ก็เป็นอันยกเลิกไป เรื่องนี้ค่อนข้างจะชัดเจน และคุณยุนเอง ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งก็จะเห็นว่า พยายามที่จะฟื้นสัมพันธ์กับญี่ปุ่น 


---‘แสวงหาความมั่นคง’ บนคาบสมุทรเกาหลี---


นับแต่ยุน ซ็อกยอลชนะเลือกตั้ง เขาประกาศจะสร้างความแข็งแกร่งให้กับกองทัพ เพื่อรับมือจากการยั่วยุต่าง ๆ จากสาเหตุวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน รวมไปถึงการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ที่เกิดขึ้นถึง 7 ครั้ง ภายในเดือนเดียว


“จริง ๆ นโยบายคุณยุน นอกจากเรื่องต่างประเทศแล้ว จริง ๆ ที่ชัดเจนมากเลยก็คือ การป้องกันประเทศซึ่งอาจจะอยู่รวมกันได้ ผู้แทนที่ไปก็จะเป็นแคนดิเดตของรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของเกาหลีใต้คนต่อไป สิ่งที่คุณยุนประกาศเลย นโยบายนี้ เรียกว่า ‘Extended Deterrence’ คือ ป้องปรามแบบขยายเต็มที่เลย คือสมัยคุณมุนจะใช้การทูตเป็นหลักในเกือบทุกเรื่อง เพราะฉะนั้น เราจะไม่ค่อยเห็นความขัดแย้งเท่าไหร่” อ.เสกสรร กล่าว  


อ.เสกสรร กล่าวอีกว่า ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านใกล้ชิด ก็คือ ‘เกาหลีเหนือ’ เป็นสิ่งที่ทุกคนสนใจ ก็มีแนวโน้ม และก็มีท่าทีแล้วว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จะเข้มข้นมากขึ้น แต่เข้มข้นในทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เพราะว่า เกาหลีเหนือเองก็มองว่า ถ้าเกาหลีใต้เลือกทางนี้แล้ว เป็นเพื่อนกับทั้งสหรัฐฯ เป็นเพื่อนกับทั้งญี่ปุ่น ท้ายที่สุดคนที่ลำบากคือ เกาหลีเหนือ เพราะจะถูกปิดล้อมโดยรอบจากฝั่งทางขวา เพราะฉะนั้น เราจะเห็นคาบสมุทรเกาหลีเป็นแนวกันชนเลยของความขัดแย้งครั้งนี้ 


ทั้งนี้ ยิ่งเกิดวิกฤตรัสเซียกับยูเครน เกาหลีเหนือที่อยู่ตรงกลาง ต้องแสดงท่าทีที่ชัดเจนขึ้น ส่งผลให้ทั้ง 2 ฝ่าย ต่างบังคับให้ตนต่างผลักเข้าหากันสู่แนวหน้า แนวรบ เป็นแนวกันชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นความยากของคาบสมุทรเกาหลีที่จะดำเนินไปด้วยกันต่อ และที่ผ่านมาเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธ ตั้งแต่ต้นปีก็ประมาณ 7 ครั้ง ภายในเดือนเดียว ทำให้ทุกคนต่างให้ความสนใจว่า เกาหลีเหนือทดสอบไปทำไม? และทดสอบเพื่ออะไร? โดย อ.เสกสรร ได้อธิบายถึงเหตุผลไว้อยู่ 2 ข้อหลัก 


“อย่างแรก ก็คือ ส่งสัญญาณว่า กองทัพเกาหลีเหนือก็พร้อมที่จะรบทุกเมื่อ ทุกเวลา อันที่สอง แสดงให้เห็นว่าเกาหลีเหนือมีความสามารถเพียงพอ ที่จะสู้กับใครก็ได้ในโลกใบนี้ เพราะระยะพิสัยในขีปนาวุธมันกินพื้นที่ในทุกรัฐของสหรัฐฯ เพราะฉะนั้น ก็แปลว่า ถ้าเรามองจากทางขวา แล้วกลับมามองเป็นทางใต้ลงมา แปลว่า ไปได้ถึงออสเตรเลีย ไปได้ถึงทุกประเทศในอาเซียน เราอยู่ในพิสัยขีปนาวุธของเกาหลีเหนือด้วย เพราะฉะนั้น อันนี้ เป็นโจทย์ที่น่าคิดมากเลยทีเดียว” อ.เสกสรร กล่าว 


เมื่อถามว่า ความตึงเครียดจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน รวมไปถึงความสัมพันธ์เกาหลีเหนือ จะมีแนวโน้มให้เกิดโอกาสปะทะกันบนคาบสมุทรเกาหลีหรือไม่? อ.เสกสรร ได้อธิบายว่า 


มีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาแบบนี้ ที่บริษัทเกาหลีใต้ที่อยู่ในรัสเซียจำนวนมาก คิดเรื่องที่จะย้ายฐานการผลิต เริ่มเห็นแล้วว่า ถ้าอยู่ต่อไปก็จะมีความลำบาก ไม่ว่าจะเรื่องมาตรการคว่ำบาตร, คมนาคม และชีวิตของพนักงาน หลายบริษัทอาจจะต้องออกมาจากรัสเซีย และไปที่อื่น ซึ่งไม่แน่ใจว่า จะเป็นที่ไหน อาจจะเป็นญี่ปุ่น, สหรัฐฯ หรืออาเซียน นี่เป็นผลกระทบระยะสั้นที่จะเกิดขึ้น แต่ในระยะยาว 5 ปีข้างหน้า มีความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะกันมากขึ้น เพราะต่างคนจะต่างยิงอาวุธของตัวเองใส่กัน 


“ท้ายที่สุด มันจะนำไปสู่ ‘ภาวะเขาควาย’ ที่ว่า เลือกที่จะยิง อีกคนก็ต้องยิงด้วย แทนที่จะเลือกป้องกัน เพราะว่า ประชาชนเขาไม่ยอม มันจะกลายเป็นเร่งกันไป เร่งกันมาแบบนี้ A ทำ B ก็ต้องทำ แบบนี้ก็จะเกิดสงคราม หรือ ความขัดแย้งทางทหารได้ง่ายขึ้น” 


---‘ชนะการเลือกตั้ง’ จากความเบื่อรัฐบาล---


แม้ยุน ซ็อกยอล จะถูกวิพากษ์วิจารณ์หนัก แต่เขาก็สามารถคว้าชัยได้อย่างฉิวเฉียด เพราะ คนเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ เริ่มเบื่อรัฐบาลของมุน แจอิน นอกจากนี้ ยังมีนโยบายต่าง ๆ ที่ออกมาเพื่อเอาใจเสียงส่วนใหญ่


“เรื่องใหญ่สุด คือ คนเบื่อรัฐบาล คนเบื่อและก็ต้องการเปลี่ยน เพราะฉะนั้นแคมเปญรณรงค์เลือกตั้งของคุณยุน ชัดเจนคือ เปลี่ยนรัฐบาล อย่างอื่นเปลี่ยนไหม ไม่รู้ แต่เปลี่ยนรัฐบาลแน่นอน เพราะว่า…”


หนึ่ง นโยบายต่างประเทศ คุณยุนมองว่า มุน แจอินทำให้ประเทศอ่อนแอ ก็เลยจะต้องเสริมพลังขึ้นมา 


สอง เรื่องเศรษฐกิจ นโยบายรัฐบาลคุณมุน ส่วนใหญ่จะเน้นสวัสดิการ ตอนนี้เจอโควิดเข้าไป ก็เลยเป็นความยากว่า แล้วจะไปหาเงินจากไหน มาอุดหนุนสวัสดิการ คุณยุนก็เลยบอกว่า ต้องเปลี่ยนใหม่ 

รัฐต้องทำน้อย ๆ ให้เอกชนทำเยอะ ๆ แล้วให้เอกชนนำ รัฐหนุน เพราะฉะนั้น นโยบายคุณยุนหลักเลย คือ ลดอุปสรรค ที่จะทำให้เอกชนลงทุน หรือ อะไรต่าง ๆ ให้เอกชนทำไปเลย ปรับปรุงกฎระเบียบ 

เน้นการสร้าง Start-Up ทำวิจัยและพัฒนาขนาดใหญ่ เพื่อทำให้เอกชนและเกาหลีใต้ มีขีดความสามารถที่จะทำในประเทศ และก็ทำต่างประเทศด้วย และก็ฟื้นฟูนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขึ้นมา


---จ่อยุบกระทรวงทางเพศ และยกเลิกการนับอายุดั้งเดิม---


นโยบายที่ถูกพูดถึงอย่างมาก และเป็นที่น่าสนใจ คือการที่ผู้นำคนใหม่ ประกาศว่า จะยุบกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัว และยกเลิกการนับอายุแบบดั้งเดิมของเกาหลี 


“จริง ๆ เรื่องนี้คุณยุน แกใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการหาเสียง เพราะทีมงานแกรู้ว่าจุดที่จะชี้ขาดผู้ชนะในครั้งนี้ อยู่ที่ ผู้ชายอายุ 20 ปี เพราะผู้ชายอายุ 20 ปี จะต้องเกณฑ์ทหาร แกก็จะเพิ่มเบี้ยเลี้ยงทหาร และก็พูดเรื่องนี้ เพื่อเอาใจ เพราะผู้ชายเหล่านี้ มองว่า รัฐบาลมุน แจอิน ให้สิทธิพิเศษ เอาอกเอาใจผู้หญิงมากเกินไป ก็เลยเกิดกระแสโต้กลับ ก็เลยได้เสียงตรงนี้มา ด้วยการประกาศว่าจะยุบกระทรวงทางเพศ” อ.เสกสรร กล่าวถึงประเด็นยุบกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัว


อ.เสกสรรร กล่าวอีกว่า ถ้าคุณยุนจะยุบก็ไม่มีทางยุบได้ง่าย เพราะว่าตอนนี้เสียงของพรรคคุณยุน ที่อยู่ในสภามีน้อย ซึ่งพรรครัฐบาลของมุน แจอิน เป็นพรรคที่ได้เสียงข้างมาก จาก 300 เสียง ได้ 172 เสียง เพราะฉะนั้น ถ้าจะผลักดันแก้กฎหมาย เปลี่ยนกระทรวงก็จะต้องผ่านสภา แปลว่า ไม่สามารถทำได้ง่าย 


“จะเลือกตั้งสภาครั้งต่อไปก็อีก 2 ปีข้างหน้า ใน 2 ปีแรก มั่นใจเลยว่า คุณยุนจะอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า ‘เป็ดง่อย’ คือ ทำอะไรไม่ได้เลย อะไรที่ต้องผ่านสภา จะยากไปหมด”


ส่วนนโยบายการยกเลิกนับอายุแบบดั้งเดิมของเกาหลี อ.เสกสรร อธิบายไว้ว่า เรื่องนี้ก็เป็นมรดกตกทอดจากยุคอาณานิคมผสมกับขงจื๊อ ให้คุณค่าเรื่องชีวิต วิธีนับอายุแบบเกาหลี คือนับตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ 9 เดือน คือนับเป็น 1 ปี คลอดออกมาแล้ว ก็นับอีกเป็น 1 ปี


“มันเป็นปัญหาทำให้แก่เกินไว พอแก่เกินไว มันทำให้มีผลต่อเรื่องการเข้าเรียน การสมัครงาน การรับสิทธิพิเศษต่าง ๆ จากภาครัฐ ที่มากกว่านั้น ในเวลานี้ สังคมเกาหลีใต้ก้าวสู่ระดับโลกแล้ว ที่ทุกคนรู้จักประเทศนี้แล้ว ยังจะมานับอายุแบบนี้ ผมว่าคนข้างนอกไม่เข้าใจ อันนี้อาจจะเป็นสิ่งดี สิ่งเดียว ที่คุณยุนมีตอนนี้ คือ ยกเลิกระบบที่ไม่สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไป” อ.เสกสรร กล่าว 


---จับตาภารกิจ หลังพิธีสาบานตน---


เมื่อถามว่า หลังการเข้ารับพิธีสาบานตนของยุน ช็อกยอล ประเด็นใดในเกาหลีใต้ภายใต้การบริหารผู้นำคนนี้ ควรเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง และภารกิจแรก ๆ ที่ยุน ช็อกยอล จะดำเนินการคืออะไร?


อ.เสกสรร กล่าวว่า ที่ใกล้สุดตอนนี้ และแสดงเจตนาออกมาแล้ว คือ การย้ายทำเนียบประธานาธิบดี พยายามที่จะย้ายจากที่ตั้งเดิม ซึ่งมีภูเขาอยู่ข้างหลัง มีแม่น้ำอยู่ข้างหน้า ซึ่งเป็นตามหลักฮวงจุ้ย คือ ข้างหน้าเป็นน้ำ ข้างหลังเป็นเขา คุณยุนจะย้ายโดยอ้างว่า มันเป็นตึกเก่า ไม่สะดวกเวลาป้องกันประเทศ ก็จะย้ายไปอยู่บริเวณยงซาน


ยงซานเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์สงครามเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นแหล่งขายไฟฟ้า ที่สำคัญคือเป็นที่ตั้งฐานทัพของสหรัฐฯ ในเกาหลี ตรงนี้ ที่ทำให้เป็นข้อวิจารณ์หลักว่า คุณยุนมีท่าทีที่นิยมอเมริกามากเกินไปหรือเปล่า จะย้ายไปอยู่ใกล้ฐานทัพ


“เพราะฉะนั้น ก็มีคนวิจารณ์ว่าจะย้ายไปทำไม ย้ายหรือไม่ย้าย มีประโยชน์ไม่ต่างกัน ผมเข้าใจว่าคุณยุนพยายามที่จะแย้งคุณมุนว่า คุณมุนมีนโยบายอยากจะย้าย ทำเนียบประธานาธิบดีมาอยู่ที่บริเวณจัตุรัสกวางฮวามุน หน้าพระราชวังคยองบก และย้ายไม่สำเร็จ คุณยุนก็เลยจะหาจุดขายตัวเองมาทำเรื่องนี้ ซึ่งตอนนี้ก็เป็นข่าวโด่งดังพอสมควร ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด” อ.เสกสรร กล่าว 

—————

เรื่อง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์

ภาพ: JUNG YEON-JE / AFP

ข่าวแนะนำ