อเมริกาไม่ต้องการสงครามอีก เผยเหตุผลทำไมไบเดนไม่ส่งทหารเข้าสู่สมรภูมิรบยูเครน-รัสเซีย
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ใช้วิธีทางการทูตอย่างมากมายในการลงโทษรัสเซียที่รุกรานยูเครน ก่อนหน้านี้ รัฐบาลของเขา ได้ออกคำเตือนถึงโศกนาฏกรรมที่จะเกิดขึ้นจากการรุกรานมาโดยตลอด ซึ่งวันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าคำเตือนดังกล่าวเกิดขึ้นจริง และกล่าวว่า ความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศกำลังตกอยู่ในอันตราย
ประธานาธิบดีไบเดนยังมีความชัดเจนด้วยว่า ชาวอเมริกันไม่เต็มใจที่จะต่อสู้ แม้ว่ารัสเซียจะแสดงออกอย่างชัดเจน นอกจากนี้ เขาจะไม่ส่งทหารไปยูเครนเพื่อช่วยเหลือพลเมืองสหรัฐฯ แม้ว่าควรจะทำก็ตาม และได้เสนอให้ทหารที่รับราชการอยู่ในประเทศ เป็นที่ปรึกษาและผู้ตรวจสอบทางทหารแทน
ทำไมไบเดนถึงได้ขีดเส้นแดงเช่นนี้ ในวิกฤตนโยบายต่างประเทศที่ส่งผลกระทบมากที่สุดต่อดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา?
---ไม่มีผลประโยชน์ต่อความมั่นคงของชาติ---
ประการแรก ยูเครนไม่ได้เป็นเพื่อนบ้านของอเมริกา ไม่มีพื้นที่ติดกับชายแดนสหรัฐฯ และไม่มีฐานของกองทัพสหรัฐฯ, ไม่มีชื่ออยู่ในแผนยุทธศาสตร์สำรองน้ำมัน และไม่ได้เป็นคู่ค้าคนสำคัญ
อย่างไรก็ตาม การขาดผลประโยชน์ของชาตินั้น ไม่ได้หยุดยั้งอดีตประธานาธิบดีจากการใช้เลือดเนื้อและสมบัติของผู้อื่น ตลอดช่วงอดีตที่ผ่านมา
ปี 1991 จอร์จ เอช.ดับเบิ้ลยู.บุช ให้เหตุผลกับชาติพันธมิตรของเขา ในการขับไล่อิรักออกจากคูเวต เพื่อปกป้องหลักนิติธรรมที่ต่อต้านการปกครองของส่วนรวม ซึ่งเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของชาติระดับสูงของไบเดน ก็มีท่าทีเดียวกัน เมื่ออธิบายว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคามต่อหลักความสงบและความมั่นคงระหว่างประเทศ แต่พวกเขาเลือกจะตอบสนองด้วยสงครามทางเศรษฐกิจ ผ่านการคว่ำบาตรเพื่อตอบโต้ ไม่ใช่การปฏิบัติการทางทหาร
ปี 1995 บิล คลินตัน แทรกแซงทางทหารในสงคราม ภายหลังการล่มสลายของยูโกสลาเวีย และในปี 2011 บารัค โอบามา ก็ได้ทำแบบเดียวกันในสงครามกลางเมืองลิเบีย ซึ่งส่วนใหญ่ให้เหตุผลด้านมนุษยธรรม และสิทธิมนุษยชน
---ไบเดนไม่ต้องการแทรกแซงทางทหาร---
เพราะประธานาธิบดีไบเดนไม่ต้องการฝักใฝ่ฝ่ายใด
จริงอยู่ ที่กองทัพสหรัฐฯ พัฒนาอยู่ตลอด และไบเดนสนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารในช่วงทศวรรษ 1990 เพื่อรับมือกับความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในคาบสมุทรบอลข่าน และเขายังโหวตให้อเมริกาบุกอิรักในปี 2003 ตั้งแต่นั้นมาไบเดนก็ระมัดระวังการใช้อำนาจทางทหารมากขึ้น
เขาคัดค้านการเข้าแทรกแซงในลิเบียของโอบามา เช่นเดียวกับกองกำลังทหารของเขาในอัฟกานิสถาน เขาได้ออกมาปกป้องต่อคำสั่งการถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถานเมื่อปีที่แล้วอย่างเด็ดเดี่ยว แม้ว่าจะเกิดความวุ่นวาย และนำมาซึ่งภัยพิบัติด้านมนุษยธรรม
ไม่เพียงเท่านั้น นักการทูตระดับสูงของเขาอย่าง แอนโทนี บลิงเคน ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีมามากกว่า 20 ปี ได้กำหนดความมั่นคงของชาติให้หันมาต่อสู้กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง, รับมือภัยพิบัติทั่วโลก และแข่งขันกับจีนมากกว่าการเข้าแทรกแซงทหาร
---ชาวอเมริกันไม่ต้องการสงครามอีก---
เมื่อไม่นานมานี้ ผลการศึกษาจากสำนักข่าว AP และศูนย์วิจัยกิจการสาธารณะ หรือ AP-NORC พบว่า 72% ชาวอเมริกันชี้ว่า สหรัฐฯ ควรมีบทบาทเล็กน้อยในความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน หรือไม่ต้องเข้าไปยุ่งเลย
พวกเขา ยังบอกว่า สหรัฐฯ ควรให้ความสนใจในเรื่องของปัญหาปากท้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไบเดนต้องคำนึงถึง
ทั้งนี้ วิกฤตความขัดแย้งกำลังครอบงำสมาชิกสภานิติบัญญัติทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งต้องการให้มีการใช้มาตรการคว่ำบาตรที่เข้มงวดที่สุด โดยเสียงที่ดูน่าเชื่อถืออย่าง เท็ด ครูซ วุฒิสมาชิกจากรีพับลิกัน บอกว่า ไม่ต้องการให้ไบเดนส่งทหารอเมริกันเข้าสู่ยูเครน และ “เริ่มสงครามกับปูติน”
นอกจากนี้ วุฒิสมาชิกจากรีพับลิกันอีกคนหนึ่งอย่าง มาร์โก รูบิโอ บอกว่า สงครามระหว่างสองมหาอำนาจนิวเคลียร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ไม่เกิดผลดีกับใคร
---ไม่เสี่ยงให้เกิด ‘สงครามโลก’---
ไบเดน ไม่ต้องการจุดประกายให้เกิด ‘สงครามโลก’ โดยการเสี่ยงปะทะโดยตรงกับกองกำลังทหารสหรัฐฯ และรัสเซียในยูเครน และเขาก็เปิดใจเกี่ยวกับเรื่องนี้
“มันไม่เหมือนการรับมือกับผู้ก่อการร้าย” ไบเดน กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ NBC เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
“เรากำลังรับมือกับหนึ่งในประเทศที่มีกองกำลังทหารใหญ่ที่สุดในโลก และมันเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบาก และสิ่งต่าง ๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว” เขา กล่าว
---ไม่มีการรับผิดชอบตามสนธิสัญญา---
อย่างไรก็ตาม ไม่มีภาระผูกพันใดตามสนธิสัญญาที่บังคับให้สหรัฐฯ ต้องเสี่ยง ,การโจมตีประเทศใด ๆ ของนาโต เท่ากับโจมตีประเทศทั้งหมด ซึ่งอ้างตามพันธสัญญามาตรา 5 ที่ได้ผูกมัดให้สมาชิกทุกประเทศ ปกป้องซึ่งกันและกัน
ทว่ายูเครนไม่ใช่สมาชิกของนาโต ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้บลิงเคน อ้างเพื่ออธิบายว่า ทำไม่ชาวอเมริกันจะไม่ต่อสู้เพื่อค่านิยมที่พวกเขายกย่องอย่างแรงกล้า รวมถึงความขัดแย้ง ที่เกี่ยวข้องกับการที่ปูตินต้องการให้มีการรับรองว่ายูเครนจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมกับกองกำลังทหารของชาติพันธมิตร และนาโตจะทำการปฏิเสธยูเครน
สตีเฟน วอลต์ อาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์ดเวิร์ดและนักนโยบายต่างประเทศ แย้งว่าการปฏิเสธของการประนีประนอมโดยสหรัฐฯ และนาโต ไม่สมเหตุสมผลในทางปฏิบัติ เนื่องจากพวกเขาไม่เต็มใจที่วางกองกำลังทหารอยู่เบื้องหลัง
---หรือกติกาเปลี่ยนไป?---
อันที่จริง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ส่งทหารเข้าสู่ยุโรปและจัดกำลังทหารที่มีอยู่แล้ว เพื่อหนุนพันธมิตรนาโตที่ชายแดนยูเครนและรัสเซีย
นโยบายนี้ถูกร่างขึ้นโดยฝ่ายบริหาร เนื่องจากความพยายามสร้างความมั่นใจให้กับอดีตสาธารณรัฐโซเวียต ที่กังวลเกี่ยวกับเป้าหมายที่กว้างขึ้นของปูตินในการกดดันนาโตให้ถอยกองกำลังจากพื้นที่ตะวันออก
แต่การบุกรุกยูเครนในสัปดาห์นี้ ได้สร้างความกังวลใจว่า ความขัดแย้งจะขยายเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการรั่วไหลที่ไม่ตั้งใจ หรือจะเป็นการโจมตีโดยเจตนาจากรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างหลัง จะเป็นการยกระดับครั้งใหญ่ และอ้างถึงมาตราที่ 5 ในการปกป้องพันธมิตรนาโต จะทำให้สามารถดึงกองทัพสหรัฐฯ เข้าสู่สงครามได้
“ถ้าเขาเคลื่อนพลเข้าสู่ประเทศสมาชิกนาโต…เราก็จะปกป้องพันธมิตรของเรา” ไบเดน กล่าว
—————
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
ภาพ: Reuters