TNN online รัสเซีย-สหรัฐฯ เปิดโต๊ะเจรจาวิกฤตยูเครน หลังยังทวีความรุนแรง บทสรุปที่ราบรื่น หรือต้อง ‘เผชิญหน้า’

TNN ONLINE

World

รัสเซีย-สหรัฐฯ เปิดโต๊ะเจรจาวิกฤตยูเครน หลังยังทวีความรุนแรง บทสรุปที่ราบรื่น หรือต้อง ‘เผชิญหน้า’

รัสเซีย-สหรัฐฯ เปิดโต๊ะเจรจาวิกฤตยูเครน หลังยังทวีความรุนแรง บทสรุปที่ราบรื่น หรือต้อง ‘เผชิญหน้า’

จับตาเจรจาวิกฤตยูเครน รัสเซียเผยไม่คาดหวังหลังดูท่าทีสหรัฐฯ ด้านสหรัฐฯ ชี้ รัสเซียต้องเลือกว่าจะ "เจรจา" หรือ "เผชิญหน้า"

---เดินหน้าเปิดเจรจาครั้งใหม่---


รัสเซียมีกำหนดจะเจรจาด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ และองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ทวีความรุนแรงขึ้นจากวิกฤตยูเครน


รัสเซียมีกำหนดจะเจรจากับสหรัฐฯ ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ในวันนี้ และจะเจรจากับ NATO ในวันที่ 12 มกราคมที่ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ปิดท้ายด้วยการเจรจากับองค์กรเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรปที่ กรุงเวียนนา ของออสเตรีย ในวันที่ 13 มกราคม


ล่าสุด ตัวแทนของรัสเซียและสหรัฐฯ ได้เดินทางไปถึงนครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์แล้ว และได้พบปะพูดคุยกันเบื้องต้นที่งานเลี้ยงอาหารค่ำ 


---เจรจาที่รัสเซีย “ไม่คาดหวัง”---


สำนักข่าว Interfax รายงานว่า นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของรัสเซีย ระบุว่า หลังการสนทนากับนางเวนดี เชอร์แมน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ กว่า 2 ชั่วโมงนั้น พบว่าการพูดคุยกับสหรัฐฯ นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เหมือนการเจรจาทางธุรกิจมากกว่าการพูดคุยฉันมิตร แต่อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังจะคิดบวกต่อการเจรจาที่จะมีขึ้น


ลาฟรอฟ กล่าวถึงการเจรจาด้านความมั่นคงกับทั้ง 3 วงที่จะมีขึ้นว่า ไม่มีทางที่รัฐบาลมอสโกจะเป็นฝ่ายยอมอะลุ้มอล่วยให้กับเงื่อนไขและแรงกดดันของตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ 


ส่วนการบีบให้รัสเซียต้องเป็นฝ่ายยอมก่อน ภายใต้บรรยากาศของการข่มขู่คุกคามเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากไม่สอดคล้องกับการดำเนินนโยบายขั้นพื้นฐาน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัสเซีย โดยเฉพาะด้านความมั่นคงของชาติ 


รัฐบาลรัสเซียรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่งกับท่าทีของสหรัฐฯ และพันธมิตร จึงไม่คาดหวังอะไรมากกับการเจรจาทั้งสามรอบ


---ใช้การทูต vs เปิดฉากสงคราม---


ทางฝั่งสหรัฐฯ แอนโทนี บลินเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวในรายการ ”State of the Union” ของ CNN เมื่อวันอาทิตย์ (9 มกราคมว่า รัสเซียต้องเลือกระหว่างการเจรจาทางการทูตกับการเผชิญหน้า และยอมรับผลที่จะตามมา ซึ่งหมายถึงการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากสหรัฐฯ และชาติตะวันตก หากรัสเซียรุกรานยูเครน 


อีกทั้ง สหรัฐฯ กำลังทดสอบข้อเสนอว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียจะเตรียมไปในทิศทางใด


พร้อมกับเตือนว่า ผลลัพธ์เชิงบวกใด  จากการเจรจา จะขึ้นอยู่กับความเต็มใจของรัสเซียที่ลดระดับท่าทีที่ก้าวร้าว ที่เปรียบเสมือนกำลังเอาปืนจ่อหัวยูเครนลง และถอนตัวจากการคุกคามที่จะเกิดขึ้นกับยูเครนในปัจจุบัน


---วงเจรจาวิกฤตที่ไร้ยูเครน---


นักวิเคราะห์มองว่า ทั้งที่เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับยูเครนโดยตรง แต่ใน 3 วงเจรจากับรัสเซียที่จะมีขึ้น ยูเครนกลับได้เข้าร่วมเพียงวงเดียวที่กรุงเวียนนา ทำให้รัฐบาลยูเครนรู้สึกตื่นตระหนกอย่างเห็นได้ชัด 


คอสแตนติน เยลิเซียฟ อดีตเอกอัครราชทูตยูเครนประจำสหภาพยุโรป ระบุว่า รัสเซียกีดกันไม่ให้ยูเครนเข้าร่วมการเจรจาด้วยความตั้งใจ และทำเหมือนยูเครนเป็นตัวประกันของรัสเซีย เนื่องจากปูตินขู่ว่าจะบุกยูเครนหากการเจรจาไม่สำเร็จ 


ดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน ทวีตข้อความเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ไม่ควรมีการตัดสินใจเกี่ยวกับยูเครนหากไม่มียูเครนเข้าร่วมด้วย


ด้วยความกลัวว่าการเจรจาที่จะมีขึ้น จะเกิดผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย และก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็เคยระบุว่า สหรัฐฯ จะไม่เข้าแทรกแซงทางทหารหากรัสเซียรุกราน ยูเครนจึงดำเนินตามแนวทางการเจรจากับรัสเซียอย่างเงียบ  


รัฐบาลของประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน ได้ตัดสินใจไม่พึ่งพาการเจรจาที่นำโดยสหรัฐฯ ทั้งหมด และได้ประกาศแยกส่วนโครงการริเริ่มวิถีทางทูตของยูเครนกับรัสเซียเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา  


ส่วนแผน 10 ประการของยูเครน สื่อรัสเซียรายงานว่า แผนนี้ เริ่มต้นด้วย 3 ขั้นตอนการสร้างความมั่นใจได้แก่ การหยุดยิง การแลกเปลี่ยนนักโทษ และการเปิดจุดผ่านแดนสำหรับพลเรือนในแนวหน้าในยูเครนตะวันออก จากนั้นก็เข้าสู่ประเด็นทางการเมือง ขั้นแรกคือการหยุดยิงได้ดำเนินการไปแล้ว


---ความเห็นประชาชนและแนวหน้าในยูเครน---


ที่ภูมิภาคโดเนตส์ทางตะวันออกของยูเครน ซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งระหว่างกองกำลังของรัฐบาลยูเครนกับกองกองกำลังแบ่งแยกดินแดนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย 


ชาวเมืองคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Reuters ระบุว่า ยูเครนไม่สามารถเข้าร่วมการเจรจาได้ เพราะไม่ใช่ “รัฐอิสระ” และไม่มีอะไรต้องพูดกับคนเหล่านี้ เพราะพวกเขาไม่รักษาสัญญา เป็นเวลาแปดปีแล้วที่มีข้อตกลงมินสค์ แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย


AFP รายงานว่า ทหารแนวหน้าของกองทัพยูเครน ที่อยู่ระหว่างการต่อสู้ในสงครามยืดเยื้อกับกลุ่มติดอาวุธฝักใฝ่รัสเซียบางนาย ตั้งข้อสงสัยว่า การเจรจาจะช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรือไม่ เพราะการเจรจาครั้งก่อนล้มเหลวในการยุติสงครามที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 13,000 คน  


เขาคิดว่า การเจรจาดังกล่าวจะไม่ทำให้เรื่องแย่ลง แต่สำหรับนโยบายของปูติน นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง ที่จะไม่เปลี่ยนแปลงและการรับประกันว่ายูเครนจะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO จะไม่มีวันหยุดปูตินได้ เพราะเขาต้องการฟื้นคืนสหภาพโซเวียต ในเวอร์ชัน 2.0


New York Times รายงานว่า ภัยคุกคามยูเครนในปัจจุบันเกิดขึ้นหลังรัสเซียผนวกคาบสมุทรไครเมียเป็นของตนในปี 2014 และปลุกระดมให้เกิดการจลาจลแบ่งแยกดินแดนในสองจังหวัดทางตะวันออกของยูเครน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 13,000 คน


รัสเซีย ซึ่งนำทหารประชิดชายแดนยูเครนเกือบ 100,000 นาย ปฏิเสธมาตลอดว่า ไม่ได้เตรียมการรุกรานรุกรานยูเครน แต่ต้องการให้ชาติตะวันตกถอยห่างจากการสนับสนุนรัฐบาลยูเครน และหยุดการขยายอิทธิพลของ NATO และพันธมิตรมาทางตะวันวันออก รวมถึงห้ามรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก NATO

—————

เรื่องสุภาพร เอ็ลเดรจ

ภาพ: Reuters

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง