TNN online จลาจลโค่นรัฐบาลคาซัคสถาน สาเหตุเกิดจากอะไร?

TNN ONLINE

World

จลาจลโค่นรัฐบาลคาซัคสถาน สาเหตุเกิดจากอะไร?

จลาจลโค่นรัฐบาลคาซัคสถาน สาเหตุเกิดจากอะไร?

ที่คาซัคสถานเกิดการจลาจลที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 10 ปี สาเหตุเกิดจากอะไร และสถานการณ์ล่าสุดเป็นอย่างไรบ้าง

สาเหตุเกิดจาก ประชาชนไม่พอใจที่รัฐบาลขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี  ล่าสุด รัฐบาลคาซัคสถานประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 15 วัน และขอให้องค์การพันธมิตรทางทหารที่นำโดยรัสเซีย ส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยควบคุมสถานการณ์แล้ว


---จลาจลเลวร้ายสุดในทศวรรษ---


เหตุจลาจลในคาซัคสถานเลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 10 ปี เริ่มขึ้น หลังจากรัฐบาลขึ้นราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ แอลพีจี ซึ่งประชาชนทางภาคตะวันตกนิยมใช้เติมรถยนต์ ประชาชนจึงออกมาประท้วงในหลายเมือง พวกเขามองว่า เป็นการขึ้นราคาอย่างไม่เป็นธรรม เพราะคาซัคสถานเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันและก๊าซ ที่มีแหล่งพลังงานสำรองมากมาย


การประท้วงที่เริ่มจากภาคตะวันตกเมื่อวันที่ 2 มกราคม ก่อนจะลามไปหลายเมืองทั่วประเทศ


ที่เมืองอัลมาตี เมืองหลวงทางการเงินและเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของคาซัคสถาน, ตำรวจปราบจลาจลปิดถนน ขว้างแก๊สน้ำตาและระเบิดแสง (flashbang grenade, stun grenade) สกัดผู้ประท้วง แต่กลุ่มผู้ประท้วงไม่หวั่น บุกตรงเข้าปะทะกับตำรวจอย่างดุเดือด และยังจุดไฟเผารถหลายคันรวมถึงรถตำรวจ จนเกิดควันไฟคละคลุ้งไปทั่ว


มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเสียชีวิต 8 นายและบาดเจ็บจำนวนมากในหลายเมือง ขณะที่ผู้ประท้วงอย่างน้อย 200 คนถูกจับกุม


---วางเพลิงวอดบ้านผู้นำ---


ก่อนที่จะเกิดการปะทะกันในเมืองอัลมาตี ผู้ประท้วงหลายพันคนเดินขบวนไปตามถนนหลายสาย และตะโกนประณามอดีตประธานาธิบดีนูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟ ผู้นำคาซัคสถานคนก่อนพวกเขาปะทะกับตำรวจปราบจลาจล พร้อมกับมีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด ผู้ประท้วงได้วางเพลิงเผาอาคารสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมถึงอาคารสำนักงานนายกเทศมนตรีเมืองอัลมาตีด้วย


รัฐบาลประกาศขยายสถานการณ์ฉุกเฉินจากเมืองอัลมาตีและในภาคตะวันตก ไปถึงกรุงนูร์-ซุลตัน หรือชื่อเดิมอัสตานา ซึ่งเป็นเมืองหลวงแล้ว รวมถึงเมืองสำคัญ ๆ ในหลายเมืองและอีกหลายจังหวัด มีรายงานว่าอินเตอร์เน็ตถูกตัดใช้ไม่ได้ทั่วประเทศ ขณะที่บ้านพักของประธานาธิบดีคาซืม โจมาร์ต โตคาเยฟ และสำนักงานนายกเทศมนตรีเมืองอัลมาตีถูกผู้ประท้วงวางเพลิง


รายงานระบุว่ามีเสียงปืนดังไม่หยุดใกล้กับสำนักนายกเทศมนตรี มีเสียงระเบิดดังหลายครั้งทั่วย่านใจกลางเมืองอัลมาตี


นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า กลุ่มผู้ประท้วงประมาณ 45 คนบุกรุกสนามบินอัลมาตีเมื่อเย็นวันพุธตามเวลาท้องถิ่น ทำให้พนักงานสนามบินต้องอพยพผู้โดยสารด้วยตัวเอง


---ขอความช่วยเหลือมหามิตร---


เหตุจลาจลบานปลายจนรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี ทำให้รัฐบาลคาซัคสถานเอาไม่อยู่ ต้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ


ประธานาธิบดีโตคาเยฟ ผู้นำคาซัคสถาน ขอความช่วยเหลือจากองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน หรือ CSTO กลุ่มประเทศพันธมิตรทางทหารที่นำโดยรัสเซีย ให้เข้ามาช่วยควบคุมสถานการณ์จลาจลและฟื้นคืนเสถียรภาพให้แก่คาซัคสถาน


ทางด้านนายกรัฐมนตรีอาร์เมเนีย นิโคล ปาชินยาน ในฐานะประธานกลุ่ม CSTO ตอบรับคำขอของคาซัคสถานแล้ว และจะส่งทหารรักษาสันติภาพที่นำโดยรัสเซีย ไปช่วยแต่จะอยู่ในคาซัคสถานในเวลาที่จำกัด


---รัฐบาลลาออกก็ยุติวิกฤตไม่ได้---


ขณะนี้คาซัคสถานเหมือนไม่มีรัฐบาล แม้ว่าประธานาธิบดีโตคาเยฟ ได้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีรักษาการ หลังจากที่นายกรัฐมนตรีอัสการ์ มามิน นำรัฐบาลลาออกทั้งคณะ เนื่องจากคุมสถานการณ์ไม่อยู่แล้วก็ตาม


ด้านประธานาธิบดีโตคาเยฟโทษความไม่สงบที่เกิดขึ้น เป็นฝีมือของแก๊งค์ก่อการร้ายที่ได้รับการฝึกมาจากต่างประเทศ และเตือนผู้ประท้วงว่า รัฐบาลจะออกมาตรการเข้มมากกว่านี้เพื่อตอบกลับผู้ประท้วง


ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโตคาเยฟได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศนาน 15 วันตั้งแต่เมื่อวานนี้ (5 มกราคม) ประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกบ้านยามวิกาล และห้ามการชุมนุม


---ความกดดันสะสม ที่ปะทุออกมา---


การประท้วงครั้งนี้ถือเป็นภัยคุกคามใหญ่สุด ที่รัฐบาลที่ก่อตั้งโดยประธานาธิบดีนูร์ซุลตัน นาซาร์บาเยฟเคยเผชิญ นาซาร์บาเยฟ ผู้ก่อตั้งคาซัคสถานลงจากตำแหน่งเมื่อปี 2019 จากนั้นได้แต่งตั้งนายคาซึม-โยมาร์ต โตคาเยฟ ที่จงรักภักดีต่อเขาเป็นประธานาธิบดีสืบทอดอำนาจต่อไป


นาซาร์บาเยฟ วัย 81 ปี ปกครองคาซัคสถานมาตั้งแต่ปี 1991 เป็นประธานาธิบดีคนแรกนับตั้งแต่คาซัคสถานแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต ยังควบคุมประเทศในตำแหน่งประธานสภาความมั่นคงและผู้นำแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญ ที่ให้สิทธิพิเศษในการกำหนดนโยบายเฉพาะและมีเอกสิทธิ์คุ้มครองไม่ต้องถูกดำเนินคดี


เมื่อปี 2019 หลังการลาออกของนายนาซาร์บาเยฟเพียงไม่กี่ชั่วโมง รัฐสภาของคาซัคสถานได้ลงมติรับรองการเปลื่ยนชื่อเมืองหลวงของประเทศจากกรุงอัสตานา (Astana) เป็นกรุงนูร์ซุลตัน)


ด้าน เคท มัลลินสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียกลางในกรุงลอนดอน ชี้ว่า สาเหตุที่การประท้วงบานปลาย เพราะชาวคาซัคสถานไม่ใช่แค่ไม่พอใจเพียงเรื่องการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี แต่เพราะความไม่พอใจที่สะสมมานานแล้ว จากความล้มเหลวของรัฐบาลคาซัคสถานที่ไม่สามารถเริ่มการปฏิรูปประเทศเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวคาซัคสถานทุกระดับ และปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยได้


ขณะที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า กำลังติดตามสถานการณ์ในคาซัคสถานอย่างใกล้ชิด

—————

แปล-เรียบเรียง: เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ และ สุภาพร เอ็ลเดรจ

ภาพ: Reuters



ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง