TNN online ชายแดนรัสเซีย-ยูเครน เดือดอีก สองฝ่ายซ้อมรบหนัก กร้าวไม่หวั่นสงคราม

TNN ONLINE

World

ชายแดนรัสเซีย-ยูเครน เดือดอีก สองฝ่ายซ้อมรบหนัก กร้าวไม่หวั่นสงคราม

ชายแดนรัสเซีย-ยูเครน เดือดอีก สองฝ่ายซ้อมรบหนัก กร้าวไม่หวั่นสงคราม

การเจรจาทางการระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกเหนือวิกฤตยูเครน คาดว่าจะมีขึ้นเดือนมกราคมนี้ ขณะที่กองทัพยูเครนซ้อมรบด้วยอาวุธที่ผลิตในสหรัฐฯ ใกล้กับพื้นที่ขัดแย้ง

สถานีโทรทัศน์ ‘ดอม ยูเครน’ รายงานว่า กองทัพยูเครนได้ทำการซ้อมรบด้วยขีปนาวุธต่อต้านรถถัง แจฟเวลิน (Javelin) ที่ผลิตในสหรัฐฯ ในพื้นที่ขัดแย้งกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนภาคตะวันออกของ ท่ามกลางความตึงเครียดกับรัสเซียที่เพิ่มสูงขึ้น


โอเลคซี ดานิลอฟ เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงระดับสูงของยูเครน ระบุว่า ว่ากองกำลังรัสเซีย 122,000 นาย อยู่ห่างจากชายแดนยูเครน 200 กิโลเมตร


ดานิลอฟ บอกกับสำนักข่าว Reuters เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่ารัสเซียจำเป็นต้องมีทหารอย่างน้อย 500,000-600,000 นายที่ชายแดน เพื่อควบคุมสถานการณ์ ในกรณีที่เกิดการบุกรุกขึ้น และรัสเซียยังสามารถเพิ่มจำนวนทหารได้อย่างรวดเร็วและทุกเวลา เพียงแต่ต้องใช้เวลามากกว่า 24 ชั่วโมง ในการนำกองกำลังไปยังชายแดนเพื่อให้เพียงพอต่อการโจมตียูเครน


สำนักข่าว Reuters รายงานว่ายูเครน ซึ่งพยายามจะเข้าร่วมกับองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) นับตั้งแต่ปี 2018 ได้รับอาวุธและขีปนาวุธ Javelin ของสหรัฐฯ ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากรัสเซีย


อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า กองกำลังฝึกซ้อมการยิงสู้รบ ใกล้กับพรมแดนยูเครนเช่นกัน


---รัสเซียระดมทหารจ่อโจมตี---


ยูเครนกล่าวหารัสเซีย ว่าระดมกำลังทหารหลายหมื่นนายประชิดชายแดนตะวันออกเพื่อเตรียมพร้อมโจมตียูเครน ทำให้เกิดความกังวลว่าความขัดแย้งที่กำลังระบุในภูมิภาคดอนบาสส์ ทางตะวันออกของยูเครนอาจยกระดับไปสู่สงครามระหว่างเพื่อนบ้าน อย่างรัสเซียกับยูเครนได้


รัสเซียปฏิเสธว่าไม่มีแผนการบุกโจมตีแต่อย่างใด และกล่าวหากลับว่า ยูเครนกับสหรัฐฯ มีพฤติกรรมที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ และต้องการการรับประกันว่า NATO จะไม่ขยายอิทธิพลมาทางตะวันออก


หลังจากที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้ประชุมออนไลน์ร่วมกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ เกี่ยวกับวิกฤตยูเครนไปแล้ว ทางรัสเซียได้ยื่นขอเสนอด้านความมั่นคงในเอกสารร่างสองฉบับเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ฉบับหนึ่งส่งถึง NATO และอีกฉบับส่งถึงสหรัฐฯ ระบุว่า ไม่ให้ NATO ยอมรับยูเครนเป็นสมาชิก และรับประกันว่าจะไม่มีอาวุธหรือ กองทหารถูกส่งไปที่ยูเครนโดยตรง หรือไม่มีการตั้งฐานทัพในยูเครน และต้องการเจรจากับสหรัฐฯ โดยตรง


แต่ทาง NATO และผู้นำสหภาพยุโรป แสดงท่าทีหนุนหลังยูเครน ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของรัสเซีย และต้องการให้รัสเซียกลับสู่การเจรจา นอร์มังดี ฟอร์แมต ที่เป็นการเจรจา 4 ฝ่ายระหว่าง รัสเซีย ยูเครน ฝรั่งเศส และเยอรมนี พร้อมขู่จะคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ หากรัสเซียบุกยูเครน


---ชาติตะวันตกต้องหันไปเจรจากับรัสเซีย---


ก่อนหน้านี้ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า จะไม่มีการพบปะตัวต่อตัวระหว่างผู้นำรัสเซียกับผู้นำสหรัฐฯ จนกว่าจะเห็นรัสเซียมีความคืบหน้าทางวิธีการทูต และต้องการเห็นรัสเซียลดระดับ ย้ายกองกำลังออกจากชายแดนยูเครน เพื่อลดระดับความตึงเครียดลงก่อน


ขณะที่เยอรมนีระบุว่า ตะวันตกและรัสเซียจำเป็นต้องคืนสู่การเจรจากันต่อไป แม้จะเห็นต่างกันก็ตาม


แอนนาเลนา แบร์บอค รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ระบุว่า ชาติตะวันตกจำเป็นต้องกลับไปสู่โต๊ะเจรจากับรัสเซีย แม้ว่าข้อเรียกร้องของรัสเซีย ท่ามกลางการวางกองกำลังประชิดชายแดนยูเครน จะไม่สอดคล้องกับความต้องการของชาติตะวันตกก็ตาม เธอระบุว่า การเจรจากับรัสเซียเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ว่าจะภายใต้ นอร์มังดี ฟอร์แมต หรือ ระหว่าง NATO กับรัสเซียก็ตาม


---รัสเซีย-สหรัฐฯ เตรียมเจรจาต้นปีหน้า---


เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า เขาคาดว่าการเจรจาว่าการเจรจากับสหรัฐฯ เกี่ยวกับข้อเรียกร้องด้านความมั่นคงของรัสเซียจะเริ่มต้นขึ้นในเดือนมกราคม ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความขัดแย้งในยูเครน


ความคิดเห็นของเขามีขึ้นหลังจากคาเรน ดอนฟรีด ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการยุโรปและเอเชีย กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันอังคาร (21 ธันวาคม) ว่าเธอก็เข้าใจว่าการเจรจากับรัสเซียจะเริ่มในเดือนมกราคม และเตือนว่าข้อเสนอของรัสเซียบางรายการ "ไม่เป็นที่ยอมรับ"


ลาฟรอฟระบุว่า การเจรจารอบแรก ควรเป็นการหารือแบบทวิภาคีระหว่างตัวแทนของรัสเซียและสหรัฐฯ และจะตามมาด้วยการเจรจาระหว่างรัสเซียกับนาโต ซึ่งรัสเซียต้องการให้เกิดขึ้นในเดือนมกราคมด้วย


ลาฟรอฟเตือนสหรัฐฯ ว่า อย่าดึงการเจรจาใด ๆ ออกไป และย้ำว่าแม้ว่ารัสเซียจะไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้ง แต่ก็พร้อมที่จะดำเนินการเพื่อปกป้องตนเอง


เมื่อวันพุธ (22 ธันวาคม) สหภาพยุโรปได้ยื่นอุทธรณ์ต่อสหรัฐฯ และ NATO เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน โดยระบุในแถลงการณ์ว่า "วันนี้ ความมั่นคงของยุโรปอยู่ภายใต้การคุกคาม"


หลังจากนั้น แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และโจเซป บอร์เรลล์ ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรป ได้พูดคุยกันถึงข้อเสนอของรัสเซีย ทางการเบลเยียมระบุในแถลงการณ์ว่า พวกเขาตกลงว่าการอภิปรายใด ๆ เกี่ยวกับความมั่นคงของยุโรป จะเกิดขึ้นโดยประสานงานและมีส่วนร่วมของสหภาพยุโรป

—————

แปล-เรียบเรียง: สุภาพร เอ็ลเดรจ

ภาพ: Reuters

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง