TNN online เงินบาทพลิกแข็งค่า ! นักลงทุนแห่เก็งกำไร

TNN ONLINE

Wealth

เงินบาทพลิกแข็งค่า ! นักลงทุนแห่เก็งกำไร

เงินบาทพลิกแข็งค่า ! นักลงทุนแห่เก็งกำไร

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ที่ระดับ 32.74 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้น หลังจากราคาทองคำปรับตัวขึ้น-เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าเก็งกำไร จับตาประกาศจีดีพีสศช.ไตรมาส 3-โควิดระบาดระลอกใหม่ในยุโรป

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.74 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 32.82 บาทต่อดอลลาร์ จากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ รวมถึง ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่เห็นได้ชัดว่า เริ่มมีการกลับเข้ามาเก็งกำไรฝั่งเงินบาทแข็งค่า 


ซึ่งในสัปดาห์นี้ หากการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยดีขึ้นต่อเนื่อง อาทิ GDP ออกมาดีกว่าคาด หรือ ชุดข้อมูล BOT RAT ส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ก็มีโอกาสที่จะเห็นฟันด์โฟลว์ไหลเข้าหุ้นและบอนด์ระยะสั้น 


ทั้งนี้ แนวรับเงินบาทขยับลงมาที่โซน 32.50-32.60 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งผู้นำเข้ายังรอซื้อเงินดอลลาร์ ส่วนแนวต้านจะอยู่ในช่วง 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ และเชื่อว่าระดับดังกล่าวอาจมีฝั่งผู้เล่นต่างชาติรอที่จะเพิ่มสถานะถือครองเงินบาท หลังเริ่มเห็นบทวิเคราะห์ของต่างชาติที่ปรับมุมมองมาเชื่อว่าเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นได้


อนึ่งเงินบาทก็อาจจะไม่ได้แข็งค่าไปมาก เพราะโดยรวม เงินดอลลาร์อาจเริ่มแกว่งตัว Sideway หากตลาดกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น จากภาพความขัดแย้ง จีน-สหรัฐฯ ที่อาจลดความร้อนแรงลง แต่เรามองว่า ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในโซนยุโรป อาจเป็นปัจจัยที่กดดันค่าเงินยูโร (EUR) และหนุนให้เงินดอลลาร์ทรงตัวในระยะสั้นต่อได้ 


มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.50-33.00 บาทต่อดอลลาร์   ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.65-32.80  



สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก กระตุ้นให้ตลาดกลับมากังวลปัญหาเงินเฟ้อและการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง


สำหรับสัปดาห์นี้ ตลาดจะรอลุ้นการประชุมสุดยอดผู้นำระหว่างสหรัฐฯ กับจีน (Biden-Xi Virtual Meeting) ซึ่งอาจช่วยลดความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสองประเทศได้ โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้


ฝั่งสหรัฐฯ ตลาดจะรอลุ้นภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนตุลาคม ที่อาจโตถึง +1.1% จากเดือนก่อนหน้า หนุนโดยความต้องการใช้จ่ายที่ฟื้นตัวต่อเนื่องหลังผู้คนกลับไปทำงานและใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น 


นอกจากนี้ยอดค้าปลีกยังได้แรงหนุนจากยอดการใช้จ่ายที่เกี่ยวกับสินค้าพลังงานซึ่งเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน ทั้งนี้ตลาดจะรอจับตา มุมมองของบรรดาเจ้าหน้าเฟด ต่อแนวโน้มการทยอยขึ้นดอกเบี้ย หลังอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาด 


ที่สำคัญตลาดจะรอจับตาการประชุมระหว่างผู้นำสหรัฐฯกับจีน (Biden-Xi Virtual Meeting) ซึ่งหากการประชุมเจรจา มีความราบรื่นอาจส่งผลให้ ทั้งสองประเทศเตรียมลดภาษีการค้าที่เคยได้ปรับขึ้นก่อนหน้าและช่วยลดความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศลง 


ซึ่งภาพดังกล่าวอาจส่งผลดีต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดได้บ้าง ดังจะเห็นได้จากการที่หุ้นที่มีความอ่อนไหวการประเด็นการค้าของจีน (Morgan Stanley’s China Trade Sensitive Basket) ปรับตัวขึ้นได้ดีกว่าดัชนี S&P500 ในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ภาพดังกล่าวอาจช่วยหนุนให้เงินหยวนของจีน (CNY) สามารถแข็งค่าขึ้นได้บ้าง


ด้านยุโรป  ตลาดยังคงกังวลปัญหาเงินเฟ้ออยู่  หากรายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ของอังกฤษในเดือนตุลาคมพุ่งขึ้นสูงกว่า 3.9% ที่ตลาดคาดการณ์ไว้ จะหนุนให้ตลาดกลับมาเชื่อว่าธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้เร็วขึ้น 


นอกจากนี้ หากยอดค้าปลีกสามารถโตกว่า +0.8% จากเดือนก่อนหน้าได้ ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาคาดหวังการขึ้นดอกเบี้ยเร็วของ BOE และอาจหนุนให้เงินปอนด์ (GBP) กลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง พร้อมกับบอนด์ยีลด์ฝั่งอังกฤษที่อาจปรับตัวสูงขึ้น 


อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าติดตามสำหรับฝั่งยุโรป คือ สถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ของ COVID ซึ่งเริ่มส่งผลให้บางประเทศกลับมาใช้มาตรการ Lockdown เพื่อควบคุมการระบาด โดยสถานการณ์การระบาดที่เลวร้ายอาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจยุโรปพลิกกลับมาชะลอลงมากกว่าคาดได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้


สำหรับเอเชีย  ผู้เล่นในตลาดจะจับตาแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน ท่ามกลางปัญหาหนี้ของภาคอสังหาฯของจีน รวมถึงปัญหาการระบาดของ COVID ระลอกใหม่ ซึ่งตลาดมองว่าอาจทำให้เศรษฐกิจยังคงชะลอตัว สะท้อนผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในเดือนตุลาคม อาทิ ยอดค้าปลีกที่จะโตเพียง +3.7%y/y ชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า 


ส่วนในฝั่งญี่ปุ่นตลาดเริ่มมองเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจฟื้นตัวได้ดี หลังการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ทำให้ตลาดคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจหดตัวราว -0.7% จากไตรมาสก่อน เมื่อเทียบเป็นรายปี และเศรษฐกิจอาจโตดีขึ้นในไตรมาสที่ 4 


ทั้งนี้การทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนตุลาคมอยู่ที่ระดับ 0.1% ซึ่งจะหนุนการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไปของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)  อนึ่ง ธนาคารกลางอื่นๆ อาทิ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) รวมถึง ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.0% และ 3.5% ตามลำดับ เพื่อช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป


ฝั่งไทยตลาดจะรอลุ้นอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 หลังจากที่เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ทำให้มีโอกาสที่เศรษฐกิจอาจหดตัวน้อยกว่าที่ตลาดประเมินไว้ที่ -2.6%y/y 


นอกจากนี้ในวันเดียวกัน ตลาดจะจับตารายงานชุดข้อมูลเศรษฐกิจ BOT RAT (Regional Activity Tracker) ของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งจะช่วยสะท้อนแนวโน้มเศรษฐกิจได้เร็วขึ้น 


ซึ่งหากทั้งรายงาน GDP รวมถึง BOT RAT สะท้อนภาพการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย เราเชื่อว่าภาพดังกล่าวอาจช่วยหนุนให้นักลงทุนต่างชาติทยอยเข้ามาลงทุนหุ้นไทยมากขึ้น และบางส่วนอาจเริ่มปรับมุมมองว่า เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นได้




เงินบาทพลิกแข็งค่า ! นักลงทุนแห่เก็งกำไร


ที่มา : ธนาคารกรุงไทย


ภาพประกอบข่าว :  ธนาคารกรุงไทย


ข่าวแนะนำ