TNN online ยกเลิก "บัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต" ขอคืนค่าธรรมเนียมรายปีจากแบงก์ได้

TNN ONLINE

Wealth

ยกเลิก "บัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต" ขอคืนค่าธรรมเนียมรายปีจากแบงก์ได้

ยกเลิก บัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต ขอคืนค่าธรรมเนียมรายปีจากแบงก์ได้

ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับปรุงค่าธรรมเนียม บัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเดบิต กรณีผู้ใช้บริการยกเลิกการใช้บัตร ให้คืนค่าธรรมเนียมรายปี ตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรแก่ผู้ใช้บริการ โดยไม่ต้องให้ผู้ใช้บริการร้องขอ

วันนี้ (14 พ.ย.64) ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับปรุงค่าธรรมเนียมให้เป็นธรรมเพื่อลดภาระของประชาชน โดย "ค่าธรรมเนียม" บัตรเอทีเอ็ม หรือบัตรเดบิต กรณีผู้ใช้บริการยกเลิกการใช้บัตร ให้คืนค่าธรรมเนียมรายปี ตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรแก่ผู้ใช้บริการ โดยไม่ต้องให้ผู้ใช้บริการร้องขอ จากเดิมที่ไม่มีการคืนส่วนต่างหรือคืนเมื่อร้องขอเท่านั้น 

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกเอกสารถึงสถาบันการเงินทุกแห่ง เรื่องการคิดดอกเบี้ยและการเก็บค่าธรรมเนียม โดยมีรายละเอียดดังนี้

ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ยกระดับการกำกับดูแลการให้บริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม (market conduct) อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมอย่างเป็นธรรมและโปร่งใสเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเปรียบเทียบและเลือกใช้บริการที่ตรงกับวัตถุประสงค์ด้วยราคาที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการต่อระบบการเงินของไทยและสนับสนุนให้ผู้ให้บริการดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในระยะยาวนั้น

จากการหารือร่วมกับผู้แทนจากภาคประชาชนและผู้ให้บริการ รวมทั้งการศึกษาแนวทางการกำกับดูแลในต่างประเทศ ได้ข้อสรุปหลักการสำคัญ 4 ประการในการกำหนดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมของผู้ให้บริการ ประกอบด้วย

(1) ต้องสะท้อนต้นทุนจริงจากการให้บริการ 

(2) ต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้บริการจนเกินสมควรและคำนึงถึงความสามารถในการชำระของผู้ใช้บริการ

(3) ต้องไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำช้อน

(4) ต้องเปิดเผยอัตราค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว 

ในครั้งนี้ ธปท. ขอให้ผู้ให้บริการปรับปรุงแนวทางการคิดดอกเบี้ยและเรียกเก็บค่าธรรมเนียม สำหรับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีผู้ใช้บริการแพร่หลายในวงกว้าง โดยขอให้ผู้ให้บริการดำเนินการในระยะแรก ดังนี้

1. ค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (prepayment) สำหรับสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด

1.1 ให้คิดค่าปรับการไถ่ถอนก่อนกำหนดบนยอดเงินต้นคงเหลือ

1.2 ให้กำหนดช่วงระยะเวลาที่จะยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับการไถ่ถอน โดยอาจพิจารณาให้สอดคล้องกับประวัติการชำระหนี้และระยะเวลาการชำระหนี้ที่ผ่านมา

2. ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด

2.1 ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวด (installment) ที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระเฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดนั้น

2.2 ให้กำหนดช่วงระยะเวลาการผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (grace period) ในกรณีที่ลูกหนี้อาจมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด โดยสามารถกำหนดเป็นเกณฑ์ภายในของผู้ให้บริการได้

2.3 ให้แจงรายละเอียดของยอดหนี้ค้างชำระ เช่น เงินต้น ดอกเบี้ย ดอกเบี้ยผิดนัดชำระค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ ให้ลูกหนี้ทราบอย่างชัดเจน

ยกเลิก บัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต ขอคืนค่าธรรมเนียมรายปีจากแบงก์ได้

3. ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต

3.1 กรณีผู้ใช้บริการยกเลิกการใช้บัตร ให้คืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรแก่ผู้ใช้บริการโดยไม่ต้องให้ผู้ใช้บริการร้องขอ

3.2 กรณีต้องออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน ให้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน แต่หากกรณีที่ออกบัตรหรือรหัสทดแทนมีต้นทุสูงอาจพิจารณาจัดเก็บได้ตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ ขอให้ผู้ให้บริการนำหลักการและแนวทางการคิดดอกเบี้ยและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมข้างต้นไปประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์และบริการอื่น ๆ ด้วย โดยในระยะต่อไป ธปท. จะจัดให้มีการเปรียบเทียบข้อมูลอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของผู้ให้บริการแต่ละรายเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ใช้บริการ และเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เหมาะสมมากขึ้นด้วย

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/36OxgUb หรือหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน โทร. 1213 ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น.


ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาพจาก TNN ONLINE

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง