TNN online กสิกรไทย-กรุงศรีคาดกนง.ตรึงดอกเบี้ยพยุงเศรษฐกิจไทย

TNN ONLINE

Wealth

กสิกรไทย-กรุงศรีคาดกนง.ตรึงดอกเบี้ยพยุงเศรษฐกิจไทย

กสิกรไทย-กรุงศรีคาดกนง.ตรึงดอกเบี้ยพยุงเศรษฐกิจไทย

กสิกรไทย-กรุงศรีคาดกนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ในการประชุมวันนี้ แม้ว่าเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นจากราคาพลังงานพุ่ง-สินค้าเกษตรรับผลกระทบน้ำท่วม ขณะที่การบริโภคในประเทศฟื้นตัวช้า จับตาโควิดหลังเปิดประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันนี้ ( 10 พ.ย.)  คาดว่าคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% หลังจากเศรษฐกิจไทยมีปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศและการคลายล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น อีกทั้งยังส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาดซึ่งจะส่งผลดีต่อการจ้างงาน แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในปีนี้อาจยังคงมีจำกัด แต่ก็มีทิศทางที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงหลังจากนี้


ขณะที่เงินเฟ้อจะเร่งสูงขึ้นอย่างมากจากราคาพลังงาน แต่โดยรวมระดับเงินเฟ้อของไทยคาดว่าจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ กนง.ที่ 1-3% โดยยังมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะสูงขึ้นต่อเนื่อง หากราคาน้ามันดิบในตลาดโลกขยับขึ้นเหนือระดับ 90 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรลและไม่ย่อตัวลงมาอย่างที่คาด ซึ่งจะสร้างความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. 


ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อไทยเดือน ก.ย. เร่งตัวสูงขึ้นที่ 1.7% หลังจากมาตรการลดค่าน้ำาค่าไฟสิ้นสุดลงประกอบกับราคาน้ามันเร่งสูงขึ้น อย่างไรก็ตามคาดว่าทั้งปี 64 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1.2% ภาครัฐจะยังคงตรึงราคาน้ามันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เพื่อลดผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน แต่หากราคาน้ามันดิบโลกยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปและไม่ย่อตัวลงในปีหน้า ส่งผลให้ในระยะข้างหน้าอัตราเงินเฟ้อไทยอาจพุ่งสูงขึ้นเกินกว่ากรอบเป้าหมายได้ และส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อสูงสวนทางเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ เป็นความท้าทายให้กนง.พิจารณา

          

ด้านวิจัยกรุงศรี ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนต.ค.สูงสุดในรอบ 5 เดือน แต่อุปสงค์ในประเทศยังฟื้นตัวช้า คาดกนง.คงดอกเบี้ยอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2565 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนต.ค.อยู่ที่ 2.38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) จาก 1.68% เดือนก.ย. 


สาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศตามสถานการณ์ราคาพลังงานโลก (+37.1%) และการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสดในกลุ่มพืชผัก (+7.1) ผลกระทบจากน้ำท่วมทำให้ผลผลิตเข้าสู่ตลาดลดลง 


ขณะที่ราคาสินค้าในหมวดยาสูบเพิ่มสูงขึ้นจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) อยู่ที่ 0.21% จาก 0.19% เดือนก.ย. สำหรับในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2564 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 0.99% และ 0.23% ตามลำดับ

 


สำหรับการเปิดประเทศสัปดาห์แรกมีนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วกว่าสองหมื่นราย กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวหลังสถานการณ์การระบาดบรรเทาลง และมาตรการควบคุมการระบาดที่ผ่อนคลายเพิ่มเติม หนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 สู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือนที่ 43.9 จาก 41.4 ในเดือนก.ย. โดยเป็นการปรับขึ้นในทุกองค์ประกอบ


อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีอัตราเงินเฟ้อยังคงเผชิญแรงกดดันจาก 1.ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทรงตัวในระดับสูงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และปัญหาด้านอุปทาน 2.กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับภายหลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัวจากประเทศที่กำหนด


3.การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรบางชนิดที่ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่เพาะปลูก


ทั้งนี้แม้ทิศทางของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเร่งสูงขึ้นจากปัจจัยทางด้านอุปทานเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศมีทิศทางฟื้นตัวค่อนข้างช้าสะท้อน จากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนล่าสุดที่ทรงตัวในระดับต่ำ ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง หลังหลายประเทศกำลังประสบกับการกลับมาระบาดใหม่หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุม

          



ข่าวแนะนำ