TNN online ส่องหุ้นไทยยุคดอกเบี้ยต่ำ! ยังไปต่อหรือเสี่ยงเกินลงทุน

TNN ONLINE

Wealth

ส่องหุ้นไทยยุคดอกเบี้ยต่ำ! ยังไปต่อหรือเสี่ยงเกินลงทุน

ส่องหุ้นไทยยุคดอกเบี้ยต่ำ!  ยังไปต่อหรือเสี่ยงเกินลงทุน

เงินฝากระบบธนาคารพาณิชย์ล้น หลังโควิดซัดกระหน่ำเศรษฐกิจไทย แต่การลงทุนในตลาดหุ้น ที่นักลงทุนให้ความสนใจในยุคดอกเบี้ยต่ำ จะให้ผลตอบแทนสูงเหมือนเคยหรือไม่ ตามไปดูกันเลย

สถานการณ์โควิดที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ส่งผลให้คนจำนวนมากหลีกหนีความเสี่ยง และเน้นเก็บออมรองรับความผันผวนที่ไม่คาดฝันในอนาคต ส่งผลให้ปริมาณเงินฝากในหลายประเทศรวมถึงไทยดีดตัวสูงขึ้น จากข้อมูลสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)พบว่า ณ เดือนก.ค.64 เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ 15.01 ล้านล้านบาท โดยในช่วงที่เกิดปัญหาโควิดเงินธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้น 1.6 ล้านล้านบาท


แม้เงินฝากจะมีความปลอดภัยสูง แต่ในแง่ของผลตอบแทนนั้นต่ำติดดิน จนแทบไม่สามารถพึ่งพาเป็นแหล่งรายได้หรือสร้างดอกผลให้งอกเงย


ขณะที่ในต่างประเทศ อย่างธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด เตรียมส่งสัญญาณลดคิวอีปลายปีนี้ และขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า แต่ถ้ามาดูฝั่งไทยคงไม่ได้เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้ากว่าหลายๆ ประเทศอย่างมาก

   

ดังนั้นเมื่อสถานการณ์ในประเทศยังลุ่ม ๆ ดอน ๆไ ม่มีความแน่นอนแบบนี้ ทำให้นักลงทุนที่แม้จะยังห่วงความเสี่ยงจากโควิด แต่ก็ต้องปรับพอรต์การลงทุนให้สอดรับภาวะดอกเบี้ยต่ำ โดยเสาะแสวงหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเพิ่มในรูปแบบต่างๆ ซึ่งหนึ่งในตัวเลือกที่ได้รับความสนใจอย่างมาก นั่นก็คือการลงทุนในตลาดหุ้น

   

ส่วนทิศทางของตลาดหุ้นไทยที่ในปีนี้ถือว่าฟอร์มดีเกินคาด  จะยังสามารถเป็นความหวังในการสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนได้ต่อไปมากแค่ ไหนนั้น TNNONLINE  ได้สัมภาษณ์กูรูตลาดทุนเกี่ยวกับมุมมองการลงทุน และหุ้นกลุ่มไหนที่น่าลงทุนในยุคดอกเบี้ยต่ำตามไปดูกันเลย


ส่องหุ้นไทยยุคดอกเบี้ยต่ำ!  ยังไปต่อหรือเสี่ยงเกินลงทุน


เริ่มจาก "นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล" ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ มองว่าการลงทุนในหุ้นแม้ว่ามีเสี่ยงสูง แต่ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝาก โดยเงินฝากปัจจุบัน ดอกเบี้ยไม่ถึง 1% แต่ถ้าให้ดอกเบี้ยสูง 2% ก็อาจจำกัดวงเงินฝากไม่เกิน 50,000 บาทซึ่งไม่พอกับเงินเฟ้อ  ส่วนทิศทางดอกเบี้ยนโยบายไทยมองว่าจะอยู่ระดับ 0.5%ไปจนสิ้นปีนี้ ดังนั้นการลงทุนในหุ้น เช่น กองทุนรวมอสังหาฯ REITs และหุ้นปันผล จะให้ผลตอบแทนสูงกว่าเฉลี่ย 4-6%


ส่วนหุ้นตัวไหนที่จะต้องลงทุนนั้นคงต้องดูรูปแบบการทำธุรกิจรายได้มั่งคงหรือไม่รวมถึงการจ่ายปันผลในอดีตมากน้อยแค่ไหน  เพราะบางบริษัทหากมีการขยายการลงทุนในอนาคตอาจยังไม่จ่ายปันผลในช่วงที่ธุรกิจกำลังเติบโต และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่


หากมองภาพการลงทุนใน 3-4 เดือนข้างหน้าเน้นธีมเปิดเมือง เนื่องจากรัฐมีแผนทยอยเปิดประเทศ และออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี  ทำให้หุ้นกลุ่มค้าปลีกน่าสนใจลงทุน เช่น CPALL ราคาเป้าหมาย70 บาท CPN ราคาเป้าหมาย 61 บาท   CRC ราคาเป้าหมาย 40บาท กลุ่มขนส่ง เช่น BEMราคาเป้าหมาย 9.80 บาท กลุ่มบริการ เช่น    SPAราคาเป้าหมาย 61 บาท   


ส่องหุ้นไทยยุคดอกเบี้ยต่ำ!  ยังไปต่อหรือเสี่ยงเกินลงทุน


สอดรับกับ "นายฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์"  ผู้จัดการฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัสที่มองว่า ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ระดับต่ำที่ 0.5%  ไปจนถึงกลางปีหน้า แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดเตรียมจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า แต่นโยบายการเงินของไทยไม่จำเป็นต้องตามเฟด


นอกจากนี้หากดูสถิติย้อนหลังจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ เช่น ต้มยำกุ้ง หรือซับไพร์ม การใช้นโยบายดอกเบี้ยใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปีกว่า

จะปรับขึ้นมาปกติ และวิกฤติโควิดรุนแรงกว่าทุกวิกฤติที่เคยมีมาในอดีต ดังนั้นอาจเห็นดอกเบี้ยไทยต่ำไปจนถึงสิ้นปีหน้า


ทั้งนี้ถ้าดูผลตอบแทนการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ตราสารหนี้ เงินฝาก การออกหุ้นกู้เอกชน ผลตอบแทนก็ลดลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนได้จากข้อมูลสถิติตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันพบว่า ผลตอบแทนการลงทุนเงินฝากประจำ ได้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.5-1.0% ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 ปี ดอกเบี้ย 0.5% และอายุ 10 ปี 2-3%


ผิดกับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง อย่างตลาด MAI หุ้นขนาดกลางและเล็กดัชนีปรับขึ้น 65% หรือถ้าลงทุนใน Exchange Traded Fund หรือ ETF อิงกับดัชนี SET ก็ยังได้ผลตอบแทนถึง 12% และหากลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ได้ผลตอบแทน 12% เช่นกัน


ดังนั้นช่วงที่ผ่านมาจึงเห็นการโยกเม็ดเงินจากสินทรัพย์ปลอดภัยมายังหุ้นที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น ดูได้จากยอดการเปิดบัญชีหุ้นรายย่อย ณ สิ้นเดือนส.ค.อยู่ที่ 4.84 ล้านบัญชี เทียบกับสิ้นปี 63 อยู่ที่ 3.51 ล้านบัญชี หรือเพิ่มขึ้นมา 1.31 ล้านบัญชี


นอกจากนี้ หากส่องดูมูลค่าการซื้อขายจากต้นปีถึงปัจจุบัน ก็จะพบว่านักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิถึง 9.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศขายสุทธิ 3.08 หมื่นล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 7.6 หมื่นล้านบาท

   

อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดถึงหุ้นที่น่าลงทุนในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า แนะนำหุ้นที่ได้รับประโยชน์ดอกเบี้ยต่ำ   สำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เช่น KBANK ราคาเป้าหมาย 154  บาท ขณะที่หุ้นปันผล เช่น MCS ราคาเป้าหมาย 21 บาท dividend yield 8% มี Backlog รองรับ 2-3 ปีข้างหน้า ถัดมาคือ CPALL หากเปิดเมืองและยกเลิกเคอร์ฟิวด์ จะได้ประโยชน์ โดยมีราคาเป้าหมาย  79 บาท


หุ้นเด่นอีกตัวคือ SCGP ซึมซับข่าวลบมากมาแล้วราคาหุ้นปรับตัวลง 15% ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาแนวโน้มในช่วง 3 ปีจากนี้จะเห็นผลการขยายการลงทุนผ่านการลงทุนแบบBrown field  และดีล M&A  ราคาเป้าหมาย 70 บาท  และหุ้น ADVANC เนื่องจากปันผลสูงราคาเป้าหมาย 220 บาท

    

ส่องหุ้นไทยยุคดอกเบี้ยต่ำ!  ยังไปต่อหรือเสี่ยงเกินลงทุน


 ฝั่ง "นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ" ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) มองว่า ตลาดหุ้นไทยยังน่าสนใจลงทุน โดยในไตรมาส 4/64 คาดว่าดัชนีจะผันผวนแต่แกว่งขึ้น  ปัจจัยหนุนหลักมาจากสัญญาณการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับภาครัฐเร่งการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนมากขึ้นประมาณ 80 ล้านโดส เพื่อเตรียมตัวเปิดประเทศเป็น sentiment เชิงบวก


"ไตรมาส 3/64 ถือว่าเป็นจุดต่ำสุดแล้ว จากที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดระลอก 4 พุ่งไปแตะ 2 หมื่นราย แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 1 หมื่นกว่าราย ขณะที่การส่งออกปีนี้คาดว่าจะเติบโต 15% จากปีหน้าขยายตัว 7-8% "


สำหรับกำไรต่อหุ้นหรือ EPS ปีนี้อยู่ที่ 83.20 บาทต่อหุ้น เติบโต 109% และปีหน้าอยู่ที่ 94.20 บาทต่อหุ้นเติบโต 13% คาดว่ายังเห็นอัพไซด์ 1,660 จุด และปลายปีมีโอกาสแตะ 1,700 จุด ส่วนปีหน้าคาดว่าดัชนีจะแตะ 1,750 จุด


ด้านมุมมองการลงทุนในช่วงที่เหลือของปียังลงทุนได้ แต่ระหว่างทางอาจมีผลกระทบกระแทกเข้ามาบ้างเช่น ปลายปีเฟด และธนาคารกลางยุโรปมีแผนลดคิวอี ซึ่งเชื่อว่าในภาพใหญ่หุ้นไทยยังซิกแซกแกว่งขึ้นได้


นอกจากนี้หากย้อนดูข้อมูลในอดีตปี 2009-2013 ช่วงนั้นเฟดลดคิวอีเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทย 1.96 ล้านล้านบาท แต่ในเดือนมี.ค. 2020 หลังจากโควิดซัดกระหน่ำในไทย นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยไปแล้วกว่า 2.6 แสนล้านบาท ซึ่งภาพปัจจุบันแตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง


ส่วนดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯคาดว่าจะขยับขึ้นไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีหน้า หลังจากที่ทยอยปรับลดคิวอีในเดือนพ.ย.นี้ลง 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปจนถึงกลางปีหน้า ขณะที่ดอกเบี้ยของไทยนั้นอาจปรับขึ้นในปี 66 ตามเทรนด์ดอกเบี้ยโลก


หากมองถึงหุ้นที่น่าลงทุนยังเป็น TU แข็งแกร่งจากอาหารแช่เย็น แช่แข็งยังเติบโตต่อเนื่องและต่างประเทศส่วนใหญ่เปิดเมืองกันแล้ว และร้านอาหาร  RED Lobster ที่สหรัฐฯ กลับมาเปิดให้บริการทำให้ลดภาระการขาดทุน  นอกจากนี้ TU ยังมีแผนนำกลุ่มธุรกิจ Global Petcare เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในปี 65 ราคาเป้าหมาย 24.60 บาท


สำหรับหุ้นเด่นตัวถัดมาเป็น TOA กำไรจะดีขึ้นในไตรมาส 4 หลังจากน้ำท่วมคาดว่าจะมีการซ่อมแซมบ้านเพิ่มราคาเป้าหมาย 40 บาท  


ส่วน JMT คาดกำไร3Q64 -4Q64 แข็งแกร่งกว่าตลาด และจะขยายตัวเด่นกว่าในช่วงครึ่งปีแรก โดยเราประเมินการเติบโตขอมกำไรสุทธิในปี 65 ที่ +67%YoYจะสามารถชดเชย Dilution Effect18% จากการเพิ่มทุนได้ และคาดจะรักษาการเติบโตของ EPS เฉลี่ย(CAGR) 43% ในอีกสามปีข้างหน้าราคาเป้าหมาย 58 บาท 


หุ้นเด่นอีกตัวคือ GULF มีแผนต่อยอดสู่การลงทุนใหม่ ๆ ในอีอีซี หลังจากที่ลงทุนใน INTUCH มาก่อนหน้านี้มีสตอรี่ราคาเป้าหมาย 44 บาท 


ขณะที่ KBANK คาดรับอานิสงส์จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจ 4Q64 รวมถึงมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งผสาน valuation Gap ต่างจากSCB มากเกินไปโดยปัจจุบัน KBANK เทรดที่ 0.67x 2021 P/Bv และ7.3% ROE ในขณะที่ SCB เทรดที่1.0x 2021 P/BV และ 8.0% ROE ราคาเป้าหมาย 160 บาท

ส่องหุ้นไทยยุคดอกเบี้ยต่ำ!  ยังไปต่อหรือเสี่ยงเกินลงทุน


ปิดท้ายที่ "นายณัฐชาต เมฆมาสิน" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ทรีนีตี้ มองว่า ในภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำธนาคารพาเหรดปรับลดดอกเบี้ยทำให้หุ้นปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในปัจจุบัน เฟดเริ่มส่งที่จะขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า ดังนั้นแนวโน้มการลงทุนรูปแบบอื่นจะให้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เช่น เงินฝากและตราสารหนี้


แต่สำหรับนักลงทุนที่ยังลงทุนในหุ้นก็สามารถที่จะลงทุนต่อได้จากช่วงที่เหลือปีนี้ไปจนถึงกลางปีหน้า แต่หลังจากครึ่งปีหลังปี 65 จะต้องมาพิจารณาสถานการณ์อีกครั้งหากเฟดมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย


ทั้งนี้หากมองหุ้นที่น่าลงทุนในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้ายังเป็นกลุ่ม domestic demand ทั้งในเรื่อง consumption และ investment  เนื่องจากภาครัฐเตรียมที่จะเปิดประเทศซึ่งเริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับฟื้นมา นอกจากนี้การที่รัฐเพิ่มเพดานหนี้สาธาร ณะเป็น 70% คาดว่าจะส่งผลให้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จึงแนะนำให้เน้นลงทุนหุ้นอิงเศรษฐกิจในประเทศ เช่น กลุ่มธนาคารพาณิช ย์ อสังหาริมทรัพย์  ก่อสร้าง มีเดีย โรงพยาบาล และสื่อสาร

         

ส่วนหุ้นแบงก์ที่ชื่นชอบคือ  KBANK ราคาเป้าหมาย 158 บาท กลุ่มค้าปลีก เช่น CPALL  ราคาเป้าหมาย 79 บาท กลุ่มสื่อสาร เช่น ADVANC ราคาเป้าหมาย 217 บาท กลุ่มโรงไฟฟ้า เช่น GPSC  ราคาเป้าหมาย 91 บาท อสังหาริมทรัพย์ เช่น CPN ราคาเป้าหมาย 58 บาท


แม้เหล่าบรรดากูรูออกมาประสานเสียงกันว่า การลงทุนในหุ้นจะให้ผลตอบแทนสูงมากกว่าการลงทุนประเภทอื่น ๆ ในช่วงยุคดอกเบี้ยต่ำ แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเป็นเงาตามตัวเช่นกัน ซึ่งจะต้องระมัดระวัง เพราะหุ้นมีทั้งขึ้นและลง ที่สำคัญยังขึ้นกับปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยการเลือกหุ้นที่จะลงทุนนอกจากศึกษาข้อมูลจากบรรดาโบรกต่าง ๆ แล้วต้องดูพื้นฐานหุ้นตัวนั้นอย่างรอบคอบ ทั้งธุรกิจในช่วง 3-5 ปีข้างหน้าเติบโตมากแค่ไหน ดูจุดอ่อน-จุดแข็งผลประกอบการธุรกิจ กำไรสะสม ภาะระเงินกู้ ผู้ถือหุ้นมีใครบ้าง จ่ายปันผลสม่ำเสมอหรือไม่

   

ที่สำคัญ ไม่ควรแห่ลงทุนตามกระแสเทรนด์หรือหุ้นปั่นโดยไม่ศึกษาข้อมูล เพราะหุ้นเหล่านี้จะปรับขึ้นลงโดยไม่เป็นไปตามปัจจัยพื้นฐาน ในเมืองการลงทุนเปรียบเสมือนเหรียญ 2 ด้าน เมื่อสามารถมีกำไรมหาศาลจากตลาดหุ้นไทย ในอีกด้านหนึ่ง ก็อาจจะขาดทุนยับเยินจากการลงทุนได้เช่นกัน หากขาดความรู้ ข้อมูล และการประเมินความเสี่ยงที่เหมาะสม...



ส่องหุ้นไทยยุคดอกเบี้ยต่ำ!  ยังไปต่อหรือเสี่ยงเกินลงทุน


ที่มา :นายฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์, นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล, นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ, นายณัฐชาต เมฆมาสิน 


ภาพประกอบ  :พิกซาเบย์,TNNONLINE ,บล.เอเซียพลัส,บล.ทิสโก้,บล. เมย์แบงก์กิมเอ็ง,บล.ทรีนีตี้ 

ข่าวแนะนำ