TNN online กทพ.ปรับขึ้นค่าทางด่วน "ศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ" 15 ธ.ค.นี้ จ่าย 65-150 บาท

TNN ONLINE

Wealth

กทพ.ปรับขึ้นค่าทางด่วน "ศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ" 15 ธ.ค.นี้ จ่าย 65-150 บาท

กทพ.ปรับขึ้นค่าทางด่วน ศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ 15 ธ.ค.นี้ จ่าย 65-150 บาท

กทพ.ปรับขึ้นค่าทางด่วน "ศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ" 15 บาท 65-150 บาท 15 ธ.ค.นี้ ชี้ทำตามสัญญาขึ้นทุก 5 ปี ขณะที่ บอร์ด กทพ.สั่งเจรจา BEM หามาตรการเยียวยาประชาชน ให้ชงบอร์ดเคาะอีกรอบกลาง พ.ย.นี้

วันนี้ (20 ต.ค.64) นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) กทพ. ซึ่งมีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานบอร์ด กทพ. เป็นประธาน ผ่านระบบ Zoom ว่า

ที่ประชุมรับทราบเรื่องการเตรียมปรับค่าผ่านทางพิเศษ(ด่วน) สายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (จตุจักร-ตลิ่งชัน) ระยะทาง 16.7 กิโลเมตร (กม.) เพิ่มขึ้นอีก 15 บาท โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.64 เป็นต้นไป

ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าผ่านทางดังกล่าว เป็นไปตามสัญญาสัมปทานกับเอกชนคู่สัญญา ที่ต้องมีการปรับขึ้นทุก 5 ปี

สำหรับอัตราค่าผ่านทางด่วน สายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ มีดังนี้

- รถยนต์ 4 ล้อ เดิม 50 บาท เป็น 65 บาท

- รถ 6-10 ล้อ เดิม 80 บาท เป็น 105 บาท

- รถมากกว่า 10 ล้อ เดิม 115 บาท เป็น 150 บาท

ทั้งนี้ ทางด่วนสายนี้เปิดให้บริการครั้งแรกวันที่ 15 ธ.ค. 59 ปัจจุบันเปิดให้บริการครบแล้ว 5 ปี ดังนั้นจึงต้องปรับเพิ่มตามสัญญา แต่เนื่องจากขณะนี้ประชาชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทางบอร์ด กทพ. และกระทรวงคมนาคม จึงมีความห่วงใยประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าทางด่วน จึงมอบให้ กทพ. เจรจากับคู่สัญญา บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BEM เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนต่อไป

ขณะที่ สัปดาห์หน้าจะเชิญ BEM มาหารือว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนอย่างไรได้บ้าง อาจจะชะลอปรับเพิ่มไปก่อน หรือมีโปรโมชั่นอะไรได้หรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้มีตัวอย่าง อาทิ โครงการทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ที่ปรับเพิ่มค่าผ่านทาง 10 บาท แต่ได้จัดแคมเปญลดราคาจำหน่ายคูปองให้ผู้ใช้บริการ

ทั้งนี้ต้องให้ได้ข้อสรุปมาตรการอย่างช้าต้นเดือน พ.ย.นี้ ก่อนเสนอขอความเห็นชอบปรับขึ้นค่าผ่านทางฯ จากบอร์ด กทพ. อีกครั้งในการประชุมกลางเดือน พ.ย.64

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของ กทพ. ที่ต้องเจรจามาตรการช่วยเหลือประชาชนกับ BEM ให้ได้ ยอมรับว่าค่อนข้างหนักใจ เพราะการปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามสัญญา ขณะเดียวกันเอกชนคู่สัญญาก็ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 เช่นกัน

โดยในช่วงเกิดโควิด-19 มีผู้ใช้ทางด่วนเส้นทางนี้ประมาณ 5 หมื่นคันต่อวัน ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมีผู้ใช้ทางประมาณ 8 หมื่นคันต่อวัน และมีรายได้หายไปเกือบ 50% โดย BEM ได้เสนอขอชดเชยรายได้ที่ลดลงในส่วนนี้มาด้วย ซึ่ง กทพ. ต้องพิจารณาต่อไป

ขณะที่การปรับเพิ่มขึ้นประชาชนก็จะได้รับผลกระทบ ดังนั้น กทพ. จึงต้องดูแลช่วยเหลือทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน และจะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด.


ภาพจาก การทางพิเศษแห่งประเทศไทย

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง